xs
xsm
sm
md
lg

UN โหวตเกือบเป็นเอกฉันท์จี้สหรัฐฯ เลิกคว่ำบาตรเศรษฐกิจ “คิวบา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ใช้กับคิวมามานานกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยคะแนนโหวตเกือบเป็นเอกฉันท์เมื่อวานนี้ (27 ต.ค) หลังจากที่วอชิงตันและฮาวานาได้เริ่มต้นสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันใหม่มาได้ 3 เดือน

สหรัฐฯ และอิสราเอลเป็นเพียง 2 ชาติที่คัดค้านมติดังกล่าว ซึ่งไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ในขณะที่สมาชิกยูเอ็นอีก 191 ประเทศสนับสนุนมตินี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับคิวบาที่ต้องการบีบให้วอชิงตันยุติบทลงโทษซึ่งใช้มาตั้งแต่ช่วงที่สงครามเย็นกำลังระอุในปี 1960

“การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา” บรูโน โรดริเกวซ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศคิวบา แถลงต่อเวทีประชุมยูเอ็น

ด้านทูตสหรัฐฯ รอน โกดาร์ด กล่าวเตือนว่า คิวบากำลัง “เข้าใจผิด” หากคิดว่ามติของยูเอ็นจะสามารถบีบให้สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงจุดยืน

“ถ้าคิวบาคิดว่าทำเช่นนี้แล้วจะช่วยผลักดันให้ทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางที่ทั้ง 2 รัฐบาลหวังว่าจะให้เป็นล่ะก็ คิดผิดแล้ว”

คิวบานำเสนอมตินี้ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเป็นครั้งที่ 24 และครั้งนี้ถือว่าคิวบาได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์

ปีที่แล้วสหรัฐฯ และอิสราเอลก็เป็น 2 ชาติที่โหวตคัดค้าน และยังมีอีก 3 ชาติที่งดออกเสียง ได้แก่ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลส์, ไมโครนีเซีย และสาธารณรัฐปาเลา

มติยูเอ็นปีนี้มีเนื้อหาชื่นชมการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และคิวบา และยอมรับในท่าทีของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่ง “แสดงเจตนารมณ์” ว่าต้องการเลิกมาตรการคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายขึ้นอยู่กับสภาคองเกรส ซึ่งเวลานี้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

โรดริเกวซ เรียกร้องให้คองเกรสสหรัฐฯ “ปรับเปลี่ยนนโยบายอันไร้ประสิทธิภาพ โหดร้าย และไม่ยุติธรรม ซึ่งบังคับใช้กับคิวบามาตั้งแต่อดีต” พร้อมย้ำว่า โอบามา มีสิทธิ์ใช้ “อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหารเปลี่ยนแปลงนโยบายคว่ำบาตรได้มากพอสมควร”

ทางการคิวบาอ้างว่า นโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐฯ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 830,000 ล้านดอลลาร์ และยังก่อความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนในรัฐคอมมิวนิสต์แห่งนี้

เอกอัครราชทูต โกดาร์ด วิจารณ์มติยูเอ็นว่า “น่าเสียดาย” และยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่อาจให้การสนับสนุนได้ เพราะเนื้อหาของมติดังกล่าว “ไม่สะท้อนถึงมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐฯ ได้กระทำไปแล้ว รวมถึงความพยายามของประธานาธิบดี โอบามา ที่ได้ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์กับคิวบา”

โกดาร์ด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ชี้ว่า การฟื้นสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้คืนสู่ระดับปกติ “ใช้เวลาหลายปี และจะต้องอาศัยความทุ่มเทจากทั้ง 2 ฝ่าย”

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างวอชิงตันและฮาวานาถูกสถาปนาขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม หลังตัดขาดกันไปนานถึง 5 ทศวรรษ ทว่าความร่วมมือในด้านการค้าและการเงินยังคงอยู่ในสภาวะปิดตาย


กำลังโหลดความคิดเห็น