xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive:คิม จองอึนใช้เพื่อนบ้านไทยลอบค้าอาวุธ!! พบ “มาเลเซีย-สิงคโปร์” ถูกยูเอ็นระบุ ถูกใช้เป็นบริษัทค้าอาวุธสงครามให้เกาหลีเหนือ เปิดสนง.ในกัวลาลัมเปอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(ล่างซ้าย)ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต เครื่องบินสายการบินแอร์ คอร์โย โคเรียน แอร์เวย์ส์ ซึ่งมีเที่ยวบินตรงจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงเปียงยางทุกสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ placesandfoods.com รายงานในปี 2013 ว่า ผู้โดยสารมาเลย์ที่ต้องการเดินทางไปเกาหลีเหนือจำเป็นต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวล่วงหน้า
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - รายงานคณะกรรมการพิเศษองค์การสหประชาชาติออกมาเปิดเผยว่า “มาเลเซีย” ถูกใช้เป็นที่ตั้งบริษัทขายอาวุธสงคราม “โกลคอม” (Glocom) ให้กับสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลีเหนือ RGB ที่มี “แพน ซิสเต็มส์” (Pan Systems ) บริษัทสาขาเปียงยางตั้งในสิงคโปร์คอยบริหาร พบลงโฆษณาขายระบบวิทยุทหารบนเว็บไซต์แดนเสือเหลืองโจ่งครึ่มกว่า 30 รายการ รอยเตอร์ชี้ สัมพันธ์แดนเสือเหลืองกับเกาหลีเหนือแน่นปึก เป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติในโลกที่พลเมืองทั้ง 2 ฝ่ายเดินทางเข้าออกสะดวกแบบไร้วีซ่า ด้านกัวลาลัมเปอร์ถูกตั้งคำถามจากยูเอ็น จะเนรเทศ คิม ชาง โฮค(Kim Chang Hyok) และยึดทรัพย์บริษัททื่เกี่ยวข้องเมื่อไหร่

รอยเตอร์และดิเอ็กซเพรส สื่ออังกฤษรายงานวันนี้(27 ก.พ) ถึงร่างรายงานคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่มีความหนา100 หน้า เสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยถึง วิธีการที่เกาหลีเหนือแอบแหกกติกาคว่ำบาตรค้าอาวุธ จากมติยูเอ็นที่1874 ซึ่งถูกประกาศใช้ในปี 2009 ในการขยายการปิดล้อมการค้าอาวุธเกาหลีเหนือแบบเบ็ดเสร็จ ที่นอกจากอาวุธสงครามแล้ว ***ยังรวมไปถึงอุปกรณ์และทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง***

โดยสื่ออังกฤษชี้ว่า ในตัวรายงานระบุว่า ทางคณะผู้จัดทำพบว่า สำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลีเหนือ RGB ได้แอบลงโฆษณาขายอุปกรณ์วิทยุทางทหารจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 รายการบนเว็บไซต์ของบริษัทที่จดทะเบียนในมาเลเซียภายใต้ glocom.com.my.

ทั้งนี้จากรายงาน ทางยูเอ็นพบว่า บริษัทโกลคอมนี้ถูกควบคุมโดยสำนักงานข่าวกรองเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบปฎิบัติการนอกประเทศ และรวมไปถึงการค้าอาวุธสงคราม โดยในรายงานได้ระบุว่า “เกาหลีเหนือได้เลี่ยงมาตรการลงโทษการคว่ำบาตรผ่านธุรกิจการค้าสินค้าต้องห้าม พร้อมกับใช้เทคนิก และยุทธวิธีที่เชี่ยวชาญทั้งในแง่ขอบเขต การคลอบคลุมและวิธีก่ารที่ใช้” ดิเอ็กซเพรสชี้

ทั้งนี้รอยเตอร์ได้สอบถามถึงเรื่องนี้ไปยังสำนักงานการทูตเกาหลีเหนือประจำองค์การสหประชาชาติ แต่ทางโฆษกของสำนักงานไม่ตอบในเรื่องนี้

ซึ่งจากการค้นพบขององค์การสหประชาชาติ พบว่า การขนส่งอุปกรณ์การสื่อสารทางการทหารเกาหลีเหนือที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศเอริเทรียในทวีปแอฟริกา นั้นถูกยึดโดยประเทศที่ไม่มีการเอ่ยถึง พบว่ามีอุปกรณ์วิทยุสื่อสารในสนามรบพร้อมอุปกรณ์บรรจุอยู่ด้านในถึง 45 ลังที่มีการติดป้าย “โกลคอม” ที่ย่อมาจาก “โกลบอล คอมมูนิเคชันส์ โค” (Global Communications Co.) อยู่ด้านข้าง

รอยเตอร์ชี้ว่า เป็นการขนส่งทางอากาศที่ถูกจับในเดือนกรกฎาคม 2016 และต้นทางของการจัดส่งนั้นมาจากจีน อ้างอิงจากรายงานของคณะกรรมการชุดพิเศษที่อ้างจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผย

ดิเอ็กซเพรสรายงานว่า นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการพบการลอบขนส่งและสามารถเปิดเผยธุรกิจการค้าอาวุธเถื่อนที่มีเกาหลีเหนือเกี่ยวข้อง โดยในรายงาน 100 หน้าขององค์การสหประชาชาติได้ระบุว่า “ผู้เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินยังคงดำเนินการไปตามปกติภายใต้กรอบเสถานการณ์การคว่ำบาตร โดยพบมีการใช้ตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญในการเคลื่อนย้ายเงิน คน และสินค้า รวมไปถึงอาวุธสงคราม และสิ่งเกี่ยวข้อง ข้ามพรมแดน”

ทั้งนี้รอยเตอร์ได้ส่งนักข่าวไปตรวจค้นบริษัทโกลคอมตามที่อยู่ที่ถูกระบุไว้บนเว็บไซต์ ซึ่งถูกปิดไปเมื่อปีที่ผ่านมา และพบว่า บริษัทแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่าน “พาหุรัดแห่งกัวลาลัมเปอร์” แต่เมื่อนักข่าวไปตรวจสอบ กลับไม่พบชื่อทำการบริษัทถูกติดไว้ตามที่อยู่ และเมื่อกดกริ่งเพื่อขอสัมภาษณ์กลับไม่มีผู้ใดมาเปิดประตูรับ และบริเวณกล่องรับจดหมายพบจดหมายและซองที่ไม่ได้ถูกเปิดเป็นจำนวนมากอยู่ในนั้น

รอยเตอร์ชี้ต่อว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีชื่อบริษัท “โกลคอม” หรือ “ โกลบอล คอมมูนิเคชันส์ โค” ถูกจดทะเบียนในมาเลเซีย แต่ทว่ากลับพบว่า มีบริษัทสัญชาติมาเลย์ 2 แห่งที่ถูกควบคุมโดยและผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเกาหลีเหนือ ได้ทำการจดทะเบียนเว็บไซต์โกลคอมในมาเลเซียเมื่อปี 2009 อ้างอิงจากเอกสารการจดทะเบียนบริษัทและเว็บไซต์มาเลเซีย

โดยรอยเตอร์ได้ออกมาระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและเกาหลีเหนือเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นแบบผิดปกติ พลเมืองมาเลย์ถือเป็นพลเมืองในไม่กี่ชาติทั่วโลกที่สามารถเดินทางเข้าออกเกาหลีเหนือโดยไม่ต้องใช้วีซ่า เหมือนเช่นเดียวกันกับพลเมืองเกาหลีเหนือที่สามารถเดินทางเข้ากรุงกัวลาลัมเปอร์โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้าเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ท่องเที่ยวและอาหารสัญชาติมาเลย์ placesandfoods.com รายงานในปี 2013 ว่านักท่องเที่ยวมาเลย์ที่ต้องการเดินทางไปเกาหลีเหนือจำเป็นต้องขอวีซ่าท่องเที่ยวล่วงหน้า โดยรอยเตอร์ชี้ต่อว่า ความสัมพันธ์พิเศษนี้เริ่มร้าวหลังการเสียชีวิตของคิม จอง-นัม พี่ชายประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ที่ถูกพบว่า ท่าอากาศยานนาน่าชาติกัวลาลัมเปอร์ 2 ถูกใช้เป็นสถานที่ลอบสังหารในวันที่ 13 ก.พที่ผ่านมา

และรอยเตอร์ยังสาวต่อไปถึงเบื้องหลังบริษัทโกลคอมที่ถูกใช้เป็นบริษัทบังหน้าหน่วยงานสายลับเปียงยางในการค้าอาวุธสงคราม โดยรอยเตอร์รายงานว่า ได้มีการค้นพบผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์ “Glocom.com.my “ จากการใช้ฐานข้อมูล WHOIS พบว่า เว็บไซต์นี้ถูกจดทะเบียนขึ้นในปี 2009 และมีเจ้าของที่ระบุคือ อินเตอร์เนชันแนล โกลบอม ซิสเต็ม ( International Global System ) พร้อมกับใช้ที่อยู่ที่ถูกระบุว่าอยู่ในย่านของชุมชนชาวมาเลย์เชื้อสายอินเดียอาศัย ซึ่งสื่อรอยเตอร์เรียกว่า “ลิเติล อินเดีย”

และนอกจากนี้ในการค้นพบของรอยเตอร์ ยังพบต่อว่ามีชื่อของบริษัทที่คล้ายกันปรากฎอยู่คือ อินเตอร์เนชันแนล โกลเดน เซอร์วิสเซส( International Golden Services) ที่มีชื่อถูกระบุในส่วนติดต่อบนเว็บไซต์โกลคอม

ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทโกลคอมนั้นมีบริษัทที่มีสาขาในกรุงเปียงยาง แต่ตัวบริษัทแม่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ทำหน้าที่คอยบริหาร รอยเตอร์เสริม

โดยในร่างรายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ชื่อของบริษัทแพน ซิสเต็มส์(Pan Systems) นั้นถูกระบุโดยอ้างอิงจากหลักฐานใบเสร็จ และข้อมูลอื่นๆที่ทางคณะกรรมการผู้จัดทำได้รับ

ด้านลูอิซ โลว์(Louis Low) ผู้อำนวยการบริหารแพน ซิสเต็มส์ในสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ โดยชี้ว่า บริษัทของเขาเคยเปิดสาขาในกรุงเปียงยางตั้งแต่ปี 1996 จริง แต่ทว่าได้ยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 2010 และในปัจจุบันนี้ไม่มีบริษัทเปิดทำการอยู่ในเกาหลีเหนือ

โลว์กล่าวว่า “พวกเขาใช้ชื่อบริษัท “แพน ซิสเต็มส์” และชี้ว่า “เป็นบริษัทต่างชาติ” แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับบริหารและจัดการทุกสิ่งด้วยตัวเอง” ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ โลว์ได้อ้างอิงไปถึงกลุ่มชาวเกาหลีเหนือที่อยู่ในสาขาเปียงยางของบริษัทแพน ซิสเต็มส์ของเขา

และพบว่า บริษัท แพน ซิสเต็มส์ เปียงยาง (Pan Systems Pyongyang) เป็นผู้จัดการควบคุมบัญชีธนาคาร บริหารบริษัทบังหน้า และตัวแทนที่ส่วนใหญ่มีฐานอยู่ในจีนและมาเลเซียในการจัดการซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ และขายระบบอุปกรณ์วิทยุสื่อสารทหาร อ้างอิงจากรายงานองค์การสหประชาชาติ ซึ่งรอยเตอร์ชี้ว่า ทางรอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อ บริษัท แพน ซิสเต็มส์ เปียงยางเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ได้

รอยเตอร์ชี้ว่า หนึ่งในคนที่มีชื่อเป็นผู้บริหารบริษัทเปียงยางแห่งนี้คือ> Ryang Su Nyo อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่มีความใกล้ชิดโดยตรงกับเบื้องหลังของผู้บริห่ารรายนี้ และชี้ว่า Ryang นั้นจะรายงานตรงขึ้นกับสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลีเหนือ RGB ที่แผนก Liaison Office 519 และยังพบต่อว่าบุคคลผู้นี้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอินเตอร์เนชันแนล โกลบอล ซิสเต็ม ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการจดทะเบียนเว็บไซต์บริษัทโกลคอมนั่นเอง

ทั้งนี้ในรายงานของรอยเตอร์ ยังได้ตามติดไปถึงความเคลื่อนไหวของผู้บริหารรายนี้ Ryang Su Nyo โดยในรายงานของคณะกรรมการชุดพิเศษขององค์การสหประชาชาติระบุว่า Ryang มีการเดินทางที่บ่อยครั้งไปยัง “สิงคโปร์” และ “มาเลเซีย” เพื่อพบกับตัวแทนของบริษัทแพน ซิสเต็มส์

ซึ่งหนึ่งในการเดินทางของผู้บริหารหญิง พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 Ryang และผู้ติดตามชาวเกาหลีเหนืออีก 2 คนถูกจับกุมในมาเลเซียหลังพบว่า คนทั้ง 3 พยายามที่จะลักลอบขนเงินสด 450,000 ดอลลาร์ ผ่านศุลกากรประจำท่าอากาศยานานาชาติกัวลาลัมเปอร์ บริเวณเทอร์มินอลผู้โดยสารชั้นประหยัด แหล่งข่าวใกล้ชิด 2 คนที่รู้เรื่องในเรื่องนี้เปิดเผยกับรอยเตอร์

โดยในครั้งนั้นคนทั้งสามได้ให้การกับเจ้าหน้าที่กัวลาลัมเปอร์ว่า พวกเขาและเธอทำงานให้กับบริษัทแพน ซิสเต็มส์ และเงินสดที่ถูกค้นพบนั้นเป็นของสถานทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ แหล่งข่าวกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น สำนักงานอัยการกัวลาลัมเปอร์ตัดสินใจไม่ยื่นส่งฟ้อง เนื่องจากคิดว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอ และเป็นเหตุผลให้ในอีกสัปดาห์ถัดมา คนทั้งสาม ที่รวมไปถึง Ryang ผู้บริหารบริษัท แพน ซิสเต็มส์ เปียงยาง ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากมาเลเซีย ที่พบว่าคนทั้ง 3 ถือหนังสือเดินทางที่ถูกระบุว่า "เป็นเจ้าหน้าที่" ในขณะที่สถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงกัวลาลัมเปอร์ออกมาอ้างขอรับเงินสดที่ถูกยึดกลับคืน

และในรายงานขององค์การสหประชาชาติยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ตัวแทนของบริษัทแพน ซิสเต็มส์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์นั้นเป็นพลเมืองเกาหลีเหนือ ที่ใช้ชื่อ “คิม ชาง โฮค(Kim Chang Hyok) ซึ่งเป็นที่บังเอิญที่พบว่าชายผู้นี้ที่รู้จักในอีกชื่อคือ เจมส์ คิม (James Kim) นั้นเป็นผู้อำนวยการก่อตั้งบริษัทอินเตอร์เนชันแนล โกลเดน เซอร์วิสเซส ซึ่งมีชื่อถูกระบุในส่วนติดต่อบนเว็บไซต์ “โกลคอม”

นอกจากนี้เจมส์ คิมยังถูกพบมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอีก 4 แห่งในมาเลเซีย เกี่ยวข้องในด้านไอทีและเทรด อ้างอิงจากข้อมูลจดทะเบียนบริษัทมาเลเซีย

รอยเตอร์ชี้ว่า ในรายงานของคณะกรรมการจัดทำยังได้ตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ว่า ทางรัฐบาลมาเลเซียจะเนรเทศ คิม ชาง โฮค รวมไปถึงทำการยึดทรัพย์บริษัทอินเตอร์เชชันแนล โกลเดน เซอร์วิสเซสและบริษัทอินเตอร์เนชันแนล โกลบอล ซิสเต็ม เพื่อให้สอดคล้องไปตามมาตรการคว่ำบาตรตามมติขององค์การสหประชาชาติหรือไม่”

ซึ่งในรายงานฉบับที่ยื่นให้กับคณะมนตรีความมั่นคงองค์การสหประชาชาตินี้ได้ระบุว่า “ทางคณะกรรมการยังคงรอคอยคำตอบในเรื่องนี้” แต่อย้างไรก็ตาม รอยเตอร์กล่าวว่า ได้ติดต่อสอบถามไปยังคณะผู้จัดทำเพื่อถามถึงวันเวลาที่ทางผู้จัดได้ส่งเรื่องไปสอบถามกับรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์ แต่รอยเตอร์ไม่ได้คำตอบกลับมา
ตึกที่ถูกระบุตามที่อยู่ของบริษัทโกลคอมที่ถูกระบุบนเว็บไซต์ glocom.com.my. (ภาพรอยเตอร์)
สถานทูตเกาหลีเหนือประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์(ภาพเอพี)




กำลังโหลดความคิดเห็น