เอเจนซีส์ - คิม จองอึน ประกาศเกาหลีเหนือมีระเบิดไฮโดรเจนพร้อมทดสอบ ซึ่งหากเป็นจริงจะถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐดาวแดงแห่งนี้ ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยในอเมริกาอ้างอิงภาพถ่ายดาวเทียมที่บ่งชี้ว่า โสมแดงใกล้ลุล่วงโครงการอัพเกรดฐานปล่อยจรวดที่โซแฮ และอาจพร้อมปล่อยจรวดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต้นปีหน้า
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันพฤหัสฯ (10) ว่า คิม ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจค่ายทหารประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เปียงยางพร้อมทดสอบระเบิดเอ-บอมบ์ และเอช-บอมบ์แล้ว
ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดปรมาณูที่อิงกับปฏิกิริยาฟิชชันไปแล้ว 3 ลูก
ส่วนเอช-บอมบ์ หรือระเบิดไฮโดรเจน (อาวุธนิวเคลียร์แบบความร้อน) นั้นก่อให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันต่อเนื่องจึงมีอานุภาพการระเบิดรุนแรงกว่า
โสมแดงส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มีอาวุธ “ทรงพลัง” แต่การประกาศของคิมครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่พาดพิงถึงระเบิดไฮโดรเจนโดยตรง
อย่างไรก็ดี เกาหลีเหนือนั้นขึ้นชื่อเรื่องการแอบอ้างที่ไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์มานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งรวมถึงการอ้างว่าสามารถโจมตีแผ่นดินใหญ่ของอเมริกา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือเลย อย่างน้อยในขณะนี้
สำหรับกรณีล่าสุด เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวยอนฮัปว่า ไม่มีหลักฐานว่า เปียงยางมีระเบิดไฮโดรเจน และคิดว่าคิมน่าจะอวดอ้างไปเอง
การประเมินความคืบหน้าของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือถือเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีบุคคลใดนอกวงผู้นำและผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็กๆ ในเปียงยางที่ล่วงรู้เรื่องนี้ กระนั้น หากเรื่องระเบิดไฮโดรเจนเป็นจริง จะบ่งชี้ความคืบหน้าของเปียงยางในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สถาบันเพื่อวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISIS) ในวอชิงตัน ได้ออกมาเตือนโดยอ้างอิงภาพถ่ายดาวเทียมว่า เกาหลีเหนืออาจกำลังสร้างหน่วยปฏิบัติการ “ฮอตเซลล์” แห่งใหม่ในนิคมนิวเคลียร์ยองบอน เพื่อแยกไอโซโทปและผลิตทรีเทียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการออกแบบอาวุธนิวเคลียร์แบบความร้อนที่มีอำนาจทำลายล้างสูงกว่าอาวุธที่พัฒนาจากพลูโตเนียมและยูเรเนียม
การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์สองครั้งแรกของเปียงยางคือในปี 2006 และ 2009 นั้นใช้อาวุธพลูโตเนียม ส่วนครั้งที่สามเชื่อกันว่า ใช้ยูเรเนียมเป็นวัสดุฟิซไซล์
ISIS ระบุว่า แม้ยังไม่รู้ว่า เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จากทริเทียมได้หรือไม่ แต่เชื่อว่า ยังมีปัญหาทางเทคนิคที่เกาหลีเหนือจำเป็นต้องแก้ไขก่อน ซึ่งจะหาคำตอบได้จากการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินอีกหลายครั้ง
นอกจากนั้น เมื่อวันพฤหัสฯ สถาบันสหรัฐฯ-เกาหลี มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ในวอชิงตัน ได้รายงานผ่านเว็บไซต์ 38 นอร์ธว่า ภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนแสดงให้เห็นว่า
เปียงยางกำลังพยายามสร้างบังเกอร์เชื้อเพลิงที่ฐานปล่อยจรวดและแท่นทดสอบเครื่องยนต์ที่สถานีปล่อยดาวเทียมโซแฮ
รายงานสำทับว่า การดำเนินการดังกล่าว “ใกล้เสร็จสมบูรณ์” ซึ่งหมายถึงแนวโน้มการสิ้นสุดโครงการอัพเกรดระยะ 3 ปี ที่มีจุดประสงค์ในการสนับสนุนกิจกรรมในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและการปล่อยจรวดขนาดใหญ่ขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เกาหลีเหนือพร้อมทำการทดสอบในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า หากผู้นำอนุมัติ
เกาหลีเหนือนั้นยืนยันว่า การปล่อยจรวดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เดือนกันยายน สำนักงานอวกาศโสมแดงระบุว่า ได้สร้างดาวเทียมใหม่และพร้อมปล่อยขึ้นสู่วงโคจร
ด้านนักวิเคราะห์มองว่า การปล่อยจรวดอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ความก้าวหน้าในการเพิ่มพิสัยจรวดร่อนหรือเพิ่มน้ำหนักการติดอาวุธ
เกาหลีเหนือยังเปิดเผยเมื่อเดือนกันยายนว่า นิคมนิวเคลียร์หลักกำลังเดินเครื่องเพื่อปรับปรุงคุณภาพและปริมาณอาวุธที่อาจใช้เพื่อต่อสู้กับอเมริกา
อนึ่ง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (8) อเมริกาประกาศเพิ่มกองกำลังจรวดทางยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือในบัญชีแซงก์ชัน โดยระบุว่าหน่วยงานดังกล่าวมีบทบาทในการยิงจรวดร่อนหลายครั้งเมื่อปีที่แล้ว