xs
xsm
sm
md
lg

จีนปฏิรูปฝ่ายทหาร จัดตั้ง 3 หน่วยงานใหม่ระดับ “กองทัพ”

เผยแพร่:   โดย: เอเชียไทมส์และเอเจนซีส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com และรวบรวมเพิ่มเติมจาก รอยเตอร์, เดอะ เนชั่นแนล อินเทอเรสต์, นิกเกอิเอเชียรีวิว, วิกิพีเดีย)

China creates three new military units in push to modernize army
13/01/2016

ในช่วงเดียวกับที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านจากปี 2015 มาเป็นปี 2016 จีนก็ออกมาประกาศถึงระลอกแรกของการปฏิรูปด้านการทหารของตน ซึ่งเป็นที่เฝ้าจับตาติดตามกันมานาน โดยมีการประกาศจัดตั้งหน่วยงานใหม่ 3 หน่วย ซึ่งทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีน มี “กองทัพ” เพิ่มขึ้นมาเป็น 5 กองทัพ ได้แก่ กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กองกำลังจรวด, และกองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศท่ามกลางพิธีเฉลิมฉลองในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ถึงการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ 3 หน่วยขึ้นในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army ใช้อักษรย่อว่า PLA) ซึ่งได้แก่ กองบัญชาการ(general command) ของกองทัพบกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Ground Forces ใช้อักษรย่อว่า PLAGF), กองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Rocket Force ใช้อักษรย่อว่า PLARF), และ กองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Strategic Support Force) โดยหน่วยงานใหม่เหล่านี้จะเข้าสมทบกับ กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Navy ใช้อักษรย่อว่า PLAN), และ กองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army Air Forces ใช้อักษรย่อว่า PLAAF) ดังนั้นจึงหมายความว่า ตั้งแต่นี้ไป กองทัพปลดแอกประชาชนจีน จะประกอบไปด้วย 5 กองทัพ หรือ 5 เหล่าทัพ นับเป็นการปรับเปลี่ยนอย่างมโหฬารในการจัดองค์กรของฝ่ายทหารของจีน

กองทัพบกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

ในแบบแผนของกองทัพจีนก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีหน่วยงานอย่างกองบัญชาการของกองทัพบกแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเลย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา กำลังภาคพื้นดินถือเป็นกำลังแกนกลางของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมาตั้งแต่เริ่มแรก และเมื่อมีการจัดตั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

ด้วยเหตุนี้ การก่อตั้งกองบัญชาการเฉพาะของกองทัพบกขึ้นมา ในแง่หนึ่งจึงมีความหมายเสมือนเป็นการลดเกรดอำนาจบารมีของกองทัพภาคพื้นดิน โดยบัดนี้ถูกถือว่ามีฐานะเท่าเทียมกับกองทัพเรือและกองทัพอากาศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกำลังทหารในยุคต่อไปของจีน เน้นหนักในเรื่องการบูรณาการการปฏิบัติการของเหล่าทัพต่างๆ โดยที่บุคลากรระดับผู้บังคับบัญชาของกองทัพบกย่อมมีมากกว่าเหล่าทัพอื่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้ว อำนาจอิทธิพลของกองทัพบกก็น่าจะยังคงสูงล้ำต่อไป

กองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

กองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน รับผิดชอบคลังแสงขีปนาวุธนำวิถีของแดนมังกร ทั้งที่เป็นอาวุธนิวเคลียร์และที่เป็นอาวุธแบบแผนธรรมดาไม่ใช่นิวเคลียร์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในพิธีประกาศการก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ว่า กองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน คือ “กองกำลังแกนกลางในด้านการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ … และเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญหน่วยหนึ่งในการยึดโยงค้ำจุนความมั่นคงของประเทศชาติ”

ขณะที่ หยาง อี่ว์จิว์น โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนพูดกับผู้สื่อข่าวในวันที่ 1 มกราคม โดยย้ำจุดยืนของแดนมังกรที่จะไม่เป็นผู้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นคนแรก ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวา เขาบอกว่า จีนจะคงสมรรถนะด้านนิวเคลียร์ของตนเอาไว้ในระดับต่ำสุดเท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันความมั่นคงแห่งชาติของตนเอง และนโยบายตลอดจนยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของจีน มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยไม่ได้เคยเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย (ดูรายละเอียดได้ที่ http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Policy-Politics/Three-new-PLA-units-created-in-armed-forces-reform)

ก่อนการปรับองค์กรคราวนี้ กองกำลังนี้มีชื่อว่า “กองกำลังปืนใหญ่ที่ 2” (PLA Second Artillery Force) ถือว่าเป็นเหล่าทัพพิเศษ ทว่ายังไม่มีฐานะเป็นกองทัพแยกต่างหาก ขณะที่ “กองกำลังปืนใหญ่ที่ 1” เป็นกองกำลังภาคพื้นดินซึ่งรับผิดชอบอาวุธปืนใหญ่ตามแบบแผนธรรมดา ทั้งที่อยู่ในรูปลักษณ์ลำกล้องและในรูปลักษณ์จรวด

แต่จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กองกำลังปืนใหญ่ที่ 2 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองทัพอีกกองทัพหนึ่ง และมีการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ต่อจากนี้ไปกองกำลังจรวดจะได้รับการปฏิบัติว่าเป็นกองทัพอีกกองทัพหนึ่งเท่าเทียมกับ กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศแล้ว ก็ยังต้องติดตามกันต่อไปว่านโยบายในทางปฏิบัติจริงๆ จะออกมาเช่นไร สิ่งที่น่าสนใจเฝ้าติดตามเป็นพิเศษก็คือ กองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน จะได้รับมอบหมายภารกิจทางยุทธศาสตร์ประเภทไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นผู้ควบคุมขีปนาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดหรือไม่

กองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

ในการประกาศข่าวการจัดตั้งกองกำลังนี้ตอนช่วงแรกๆ นี้ ไม่ได้มีการให้รายละเอียดอะไรนัก หยาง อี่ว์จิว์น โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนอธิบายว่า กองกำลังนี้เป็นการนำเอากองกำลังสนับสนุนทุกๆ ประเภทมารวมกัน ขณะที่พวกนักวิจารณ์ของสื่อต่างๆ พากันคาดเก็งกันว่ากองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์นี้ น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติการไฮเทคทั้งหลาย เป็นต้นว่า อวกาศ, ไซเบอร์สเปซ, และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแยกเป็นอิสระไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพอื่นๆ ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

ทางด้านหนังสือพิมพ์เจ่ฟ่างจิ้ว์นเป้า ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้รายงานข่าว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://english.chinamil.com.cn/news-channels/pla-daily-commentary/2016-01/06/content_6846500.htm) โดยอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญชื่อ อิ๋น จั้ว (Yin Zhuo) ซึ่งกล่าวว่า “ภารกิจสำคัญของ กองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน คือการให้ความสนับสนุนแก่การปฏิบัติการสู้รบ เพื่อให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนสามารถกุมความได้เปรียบทั้งในสงครามอวกาศยาน (astronautic war), สงครามอวกาศ, สงครามเครือข่าย, และสงครามสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic space war) รวมทั้งรับประกันให้กองทัพปลดแอกประชาชนสามารถปฏิบัติการได้อย่างราบรื่น”

ดีน เชง (Dean Cheng) นักวิจัยด้านกิจการทางการเมืองและความมั่นคงของจีน แห่งมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) หน่วยงานคลังสมองสายอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ เขียนลงใน เดอะเนชั่นแนล อินเทอเรสต์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://nationalinterest.org/blog/the-buzz/look-out-america-chinas-new-military-forces-are-awakening-14872) ว่า การจัดตั้งกองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ขึ้นเป็นอีกกองทัพหนึ่งต่างหากเช่นนี้ ดูจะสะท้อนถึงความพ่ายแพ้ทางการเมืองของกองทัพอากาศจีน ซึ่งได้ล็อบบี้มานานแล้วให้ตนเองได้ควบคุมอวกาศด้วย เช่นเดียวกับที่กองทัพอากาศสหรัฐฯก็ได้รับมอบหมายภารกิจด้านนี้ ไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งภารกิจทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการของกองทัพอากาศจีนก็มีการระบุเอาไว้ว่า “ดำเนินการปฏิบัติการทางอากาศและอวกาศอย่างบูรณาการกัน, เตรียมการให้พร้อมทั้งสำหรับการรุกโจมตีและการป้องกัน” อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าการแบ่งงานความรับผิดชอบในรายละเอียดระหว่างกองกำลังสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ กับกองทัพอากาศ จะออกมาอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น