xs
xsm
sm
md
lg

‘สีจิ้นผิง’ปฏิรูปกองทัพจีนให้คล่องตัวและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Xi’s reforms to make military slimmer and stronger
BY Francesco Sisci
08/12/2015

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนประกาศในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงแผนการปฏิรูปกองทัพอย่างใหญ่โตมโหฬาร ชนิดที่ไม่ได้เคยเกิดขึ้นมาอย่างน้อย 30 ปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในคราวนี้ได้แก่ โครงสร้างระบบการนำซึ่งจะหลุดออกมาจากโมเดลกองทัพสหภาพโซเวียต มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนกลางที่ทรงอำนาจ มีการลดอำนาจกองบัญชาการระดับภูมิภาค ขณะที่จำนวนภูมิภาคทหารก็ลดน้อยลง อีกทั้งมีการจัดตั้งองค์การควบคุมด้วยระเบียบวินัยซึ่งมุ่งต่อสู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การที่ สี สามารถดำเนินการปฏิรูปกองทัพได้ สะท้อนให้เห็นว่าเขายึดกุมอำนาจเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง ขณะเดียวกันก็มองเห็นกันว่า เมื่อเขาสามารถปฏิรูปกองทัพได้ ก็จะสามารถก้าวไปดำเนินการปฏิรูปส่วนอื่นๆ ที่เหลือของรัฐต่อไปอีก

ในการส่งสัญญาณอย่างสำคัญประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถยึดกุมอำนาจเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้นแล้ว เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้ประกาศดำเนินการปฏิรูปกองทัพอย่างใหญ่โตมโหฬาร ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างไกลลึกซึ้งในด้านการทหารของแดนมังกรเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เคยเกิดขึ้นเลยอย่างน้อยที่สุดก็ 30 ปีมาแล้ว โดยในครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้นั้น ต้องสาวย้อนหลังไปถึงตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดของจีน ผงาดขึ้นสู่อำนาจในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ทีเดียว

หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงคราวนี้เอาไว้ในลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน โดยระบุว่า “นี่คือการปฏิรูประบบการนำของฝ่ายทหารครั้งใหญ่โตที่สุดนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย ไม่ว่าจะพิจารณาในเชิงโครงสร้าง, ในการเปลี่ยนแปลงโมเดลของระบบการนำนี้อย่างใหญ่โตลึกซึ้งชนิดปฏิวัติ, ในเรื่องขอบเขตของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปเหล่านี้, ในการสร้างความกระทบกระเทือนอย่างลึกซึ้งต่อผลประโยชน์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในระบบเดิม, และในเรื่องขนาดอันใหญ่โตมโหฬารของมัน”

บทบาทของ “ผู้ชี้นำทางการเมือง” (political commissar) กระดูกสันหลังของโครงสร้างกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ซึ่งจำลองเลียนแบบจากโครงสร้างของกองทัพโซเวียต จะได้รับการกำหนดบทบาทหน้าที่ใหม่ และจำนวนของผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก็จะถูกตัดลดลงไป ทั้งนี้โครงสร้างแบบเดิมซึ่งดูจะสอดคล้องกับช่วงระยะเวลาแห่งการปฏิวัติลุกฮือนั้น มุ่งหมายที่จะปลุกเร้าความจงรักภักดีทางการเมืองขึ้นในกองทัพ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ถูกระดมถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารวัยหนุ่มสาว ทว่าในระยะหลังๆ โครงสร้างเช่นนี้ได้กลับกลายไปเป็นช่องทางหลักของการทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนั้นแล้ว ทหารทุกคนล้วนแต่จะต้องได้รับการศึกษาทางการเมือง ไม่เพียงเฉพาะจากพวกผู้ชี้นำทางการเมืองเท่านั้น ขณะเดียวกัน ก็จะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับตรวจสอบระเบียบวินัยขึ้นมา กล่าวอย่างคร่าวๆ แล้วองค์กรเช่นนี้ในกองทัพจะอยู่ในลักษณะเดียวกันกับคณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมุ่งต่อสู้ปราบปรามการคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวาง

สำหรับบทบาทและฐานะการนำของคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Military Central Commission) จะมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ขณะที่กองบัญชาการระดับภูมิภาคต่างๆ จะมีการจัดกลุ่มกันใหม่ อีกทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ในส่วนกลางขึ้นมาด้วย ทั้งนี้กองบัญชาการระดับภูมิภาคที่ปัจจุบันมีอยู่ 7 ภาค จะปรับเปลี่ยนใหม่ให้เหลือเพียง 4 ภาค ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ อำนาจจำนวนมากที่ก่อนหน้านี้เคยมอบหมายให้แก่ระดับภาค จะถูกดึงออกมารวมศูนย์อยู่ที่ปักกิ่ง

กองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้น ได้แปลงโฉมแปรรูปจากกองทัพของชาวนา กลายมาเป็นกองกำลังสู้รบที่ค่อนข้างทันสมัยในช่วงทศวรรษ 1950 ด้วยความสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต โดยเมื่อถึงปี 1955 ทั่วทั้งประเทศจีนถูกแบ่งออกเป็นภูมิภาคทหารรวมทั้งสิ้น 13 ภาค ในตอนนั้นพวกผู้บังคับบัญชาทหารในท้องถิ่นมีอำนาจมากมายล้นเหลือทีเดียว และแทบไม่ได้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายกันเลยด้วย จวบจนกระทั่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เริ่มต้นขึ้นในตอนปลายทศวรรษ 1960 ในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมคราวนั้นเอง กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้แสดงบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการสำแดงอำนาจบารมีของ เหมา เจ๋อตง ต่อจากนั้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา กองทัพของสาธารณรัฐประชาชนจีนนี้จึงเริ่มต้นกระบวนการปรับปรุงเข้าสู่ความทันสมัยด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ โดยในช่วงนั้นภูมิภาคทางทหารได้ถูกปรับลดลงมาเหลือ 11 ภาค

หลังจากความเพลี่ยงพล้ำในสงครามชายแดนที่ทำกับเวียดนามเมื่อปี 1979 ในทศวรรษ 1980 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ได้ดำเนินการสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มีการลดกำลังพลลงมากว่า 1 ล้านคน และลดภูมิภาคทางทหารลงไปอีกจนเหลือ 7 ภาค ตลอดจนส่งเสริมให้กองทัพเข้าไปทำธุรกิจ

นี่ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญทีเดียว โดยที่กองทัพปลดแอกประชาชนต้องยุติการเข้าพัวพันยุ่งเกี่ยวทางการเมืองชนิดที่เคยประพฤติปฏิบัติมา แลกเปลี่ยนกับการมีอำนาจอิสระเต็มที่ในการทำมาหารายได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ทศวรรษ สิ่งต่างๆ ก็ดูจะบานปลายจนควบคุมอะไรแทบไม่ได้ โดยที่กองทัพกลายเป็นผู้บริหารระบบเศรษฐกิจอีกระบบหนึ่งคู่ขนานไปกับระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล มีการละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ ซึ่งปักกิ่งกำหนดขึ้นมา ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 การศึกษาที่กระทำเป็นการภายในหลายๆ ชิ้นแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการค้าที่ดำเนินการโดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีนซึ่งไม่มีการเสียภาษีอากรให้แก่รัฐนั้น ทำให้ประเทศจีนสูญเสียเงินมากเสียยิ่งกว่าอัตราภาษีศุลกากรที่แดนมังกรถูกเรียกร้องจากประเทศต่างๆ ให้ลดลง หากจะเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) เสียอีก

สภาวการณ์เช่นนี้นำไปสู่การทำข้อตกลงทางการเมืองกันใหม่กับกองทัพในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะต้องถอนตัวออกจากกิจกรรมทางธุรกิจทั้งหลาย แลกเปลี่ยนกับการได้รับการจัดสรรงบประมาณใหม่ๆ อย่างใจกว้างสำหรับใช้ในการปรับปรุงยกระดับอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย แต่เนื่องจากแทบไม่มีหรือกระทั่งไม่มีระบบการกำกับตรวจสอบเอาเลย เงินทองเหล่านี้มากมายทีเดียวจึงหลั่งไหลเข้าสู่กระเป๋าของพวกนายทหารอาวุโสทรงอิทธิพล

นอกจากนั้น ในการต่อสู้ช่วงชิงกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรงบประมาณ ผู้บังคับบัญชาทหารแต่ละคนจึงมักมีแรงจูงใจที่มุ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า บทบาทและภารกิจของตนเองนั้นมีความสำคัญมากยิ่งกว่าของผู้บังคับบัญชาทหารคนอื่นๆ การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในลักษณะที่ว่าพื้นที่ใดน่าเป็นห่วงมากกว่ากัน ตลอดจนพื้นที่ใดสามารถสร้างความวิตกกังวลขึ้นได้มากกว่ากัน ทั้งนี้ ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นกับญี่ปุ่น หมายถึงเงินทองงบประมาณจำนวนมากขึ้นที่จะหลั่งไหลเข้าไปในช่องนี้ ครั้นเมื่อเกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นกับอินเดีย ก็หมายถึงเงินทองงบประมาณจำนวนมากขึ้นที่จะหลั่งไหลเข้าไปในอีกช่องหนึ่ง การแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรงบประมาณในลักษณะเช่นนี้ นอกจากมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการจัดสรรอย่างผิดพลาด, การจับจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย, และกระทั่งเลวร้ายยิ่งกว่านั้นแล้ว มันยังเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งซึ่งส่งผลให้นโยบายการต่างประเทศของจีนในช่วงเวลาราวๆ ปี 2010 – 2011 ทั้งมีความสับสนและทั้งมีท่าทีอันแข็งกร้าวยืนกราน (ดูรายละเอียดได้เรื่องนี้ได้ที่ http://www.atimes.com/atimes/China/MA07Ad01.html)

ในอีกด้านหนึ่ง การที่พวกผู้บังคับบัญชาทหารค่อนข้างมีเสรีภาพในการแข่งขันช่วงชิงทรัพยากรงบประมาณเช่นนี้ ยังมีสาเหตุเนื่องมาจากโครงสร้างในเรื่องสายการบังคับบัญชาที่พร่าเลือนไม่ชัดเจน กล่าวคือ ตั้งแต่ที่ หู จิ่นเทา ขึ้นเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2002 เขาไม่เคยมีอิทธิพลบารมีอย่างเต็มที่เหนือกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเลย และนายพลจำนวนมากจึงยังคงสืบต่อสิ่งที่ได้ประพฤติปฏิบัติมากว่า 10 ปีก่อนหน้านั้น นั่นคือคอยวิ่งหาความสนับสนุนและความเป็นคนโปรด จาก เจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการใหญ่พรรคและประธานาธิบดีของประเทศคนก่อน ซึ่งเกษียณอายุไปแล้ว ตลอดจนพวกผู้นำในรุ่นเดียวกันกับเจียง

สภาวการณ์แห่งมีสายการบังคับบัญชาทับซ้อนกันเช่นนี้ ได้ถูกขจัดไปได้ในช่วงหลังๆ มานี้ ด้วยการเคลื่อนไหวรวมอำนาจเอาไว้ที่ศูนย์กลางและการรณรงค์ต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง การที่เขาเปิดการปฏิรูปกองทัพคราวนี้ มีความหมายเท่ากับว่าเขาสั่งสมรวบรวมอำนาจเข้ามา จนเพียงพอที่จะควบคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเอาไว้ได้อย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ในแวดวงการเมืองจีนนั้น กองทัพยังคงมีบทบาทฐานะในการเป็นผู้กำหนดว่า ใครจะขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศได้

ถึงแม้ในการจัดองค์กรแบบคอมมิวนิสต์นั้น ถือหลักการว่ากองทัพต้องเดินตามพรรค แต่ทุกๆ คนก็ตระหนักเป็นอันดีถึงหลักการอีกอย่างหนึ่งซึ่ง เหมา เคยประกาศไว้ ที่ว่า อำนาจมาจากปากกระบอกปืน ด้วยเหตุนี้ การควบคุมกองทัพได้อย่างสมบูรณ์และการดำเนินการปฏิรูปกองทัพ จึงเป็นช่องทางสำคัญยิ่งสำหรับการดำเนินการปฏิรูปส่วนอื่นๆ ที่เหลือของรัฐจีน โดยที่การปฏิรูปกองทัพระลอกนี้กำหนดกันไว้ว่าควรที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในปี 2020

ในอดีตที่ผ่านมา ภูมิภาคทหารต่างๆ ของจีนมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจนจริงจัง เรื่องนี้มีต้นตอมาจากความห่วงกังวลรวม 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ การสู้รบในอนาคตของปักกิ่งคงจะต้องเกิดขึ้นในดินแดนของตนเอง ถ้าไม่ใช่เพื่อต่อต้านการรุกรานจากภายนอกก็ต้องเป็นการปราบปรามการลุกฮือภายใน ตามประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งสองสิ่งนี้เองเป็นตัวดึงลากราชวงศ์ต่างๆ ในแดนมังกรให้พังภินท์ลงมา สำหรับประการที่สองคือ เมื่ออำนาจทางทหารระหว่างภูมิภาคต่างๆ เกิดความสมดุลขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมสามารถป้องกันการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐโดยฝ่ายทหาร หรือทำให้มันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด

ในทางเป็นจริงแล้ว การจับกุม “แก๊ง 4 คน” เมื่อปี 1976 และการส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปรามพวกนักศึกษาในจัตุรัสเทียนอินเหมินเมื่อปี 1989 ต่างก็ติดตามมาด้วยกระบวนการเอาอกเอาใจอันสลับซับซ้อน และในที่สุดก็จะมีการปลดพวกหัวดื้อภายในกองทัพซึ่งภาคส่วนที่พวกเขาดูแลอยู่ มีความจงรักภักดีต่อแก๊ง 4 คนหรือมีความฝักใฝ่กับพวกนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากฝ่ายทหารมีการกระจายอำนาจกันมากเกินไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะดำเนินไปได้อย่างยากลำบาก โดยจำเป็นที่จะต้องได้รับฉันทามติจากฝ่ายทหารทั้งหมด ถึงแม้ก่อนที่ เหมา จะถึงแก่อสัญกรรมในปี 1976 การต่อรองทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นมาอย่างจำกัดเท่านั้น สืบเนื่องจากพวกผู้บังคับบัญชาทหารทั้งหลายต่างมีความจงรักภักดีเป็นส่วนตัวต่อประธานพรรคที่ทรงอำนาจบารมีที่สุดผู้นี้

การรวมศูนย์อำนาจครั้งใหม่โดยคราวนี้อยู่ที่ตัว สี จึงสามารถเป็นเงื่อนไขสำหรับสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในโครงการทางการเมืองโดยองค์รวมของจีน อาจจะเริ่มต้นจากบทบาทของพวกรัฐวิสาหกิจ ซึ่งได้กลายเป็นตัวถ่วงรั้งมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ ระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจแดนมังกร ขณะนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาหรือไม่ ตลอดจนถ้าหากจะเกิดขึ้นแล้ว จะเกิดเมื่อใดและอย่างไร

แน่นอนทีเดียว การจัดระบบกันใหม่ในฝ่ายทหารคราวนี้ ยังมีสาเหตุเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในเรื่องสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติอีกด้วย ความเป็นไปได้ที่จีนจะถูกรุกรานนั้นกำลังกลายเป็นเรื่องที่ดูห่างไกล ส่วนการปราบปรามการลุกฮือที่อาจเกิดขึ้นในท้ายที่สุดนั้น มีโอกาสที่จะสร้างความด่างพร้อยให้แก่ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของจีน และดังนั้นแทนที่จะพึ่งพาอาศัยทักษะความรู้ความชำนาญในท้องถิ่นของพวกผู้บัญชาการทหารกึ่งอิสระทั้งหลาย กลับมีความจำเป็นต้องดำเนินการตอบโต้จากส่วนกลางแบบที่ต้องมีการร่วมมือประสานงานกันของหลายๆ ฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำให้การลุกฮือแผ่ขยายออกไป

ยิ่งกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังบังเกิดขึ้นในภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาท้าทายความมั่นคงแบบใหม่ๆ ในเวลานี้ มาจากภัยคุกคามที่ไม่ใช่ด้านการทหารโดยตรง อย่างเช่น “สงครามค่าเงินตรา” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://temi.repubblica.it/limes-heartland/one-belt-one-road/2070 ) หรือภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ ทั้งนี้ไม่ว่าในโลกการเงินหรือโลกไซเบอร์ ตัวบุคคลต่างๆ อาจจะพยายามใช้ข้อแก้ตัวว่าสิ่งที่ตนกระทำลงไปนั้น ก็ด้วยมุ่งหมายที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ของประเทศชาติ หาใช่เป็นการปั่นค่าเงินหรือการโจรกรรมสืบความลับทางไซเบอร์เพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ ถึงแม้การกระทำต่างๆ ของพวกเขาเมื่อถึงที่สุดแล้วก็กลับกลายเป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติและฐานะระหว่างประเทศของจีน

ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตข้างหน้า การกระทำต่างๆ ที่ดูเป็นการประพฤติปฏิบัติของปัจเจกบุคคลคนเดียว อาจกลับทำให้รัฐบาลส่วนกลางต้องแบกรับความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างมากมายใหญ่โต แต่เมื่อมีโครงสร้างการบังคับบัญชาแบบใหม่ที่เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นกว่าเดิม หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นในท้องทะเลหรือตามชายแดนภาคพื้นดิน ย่อมยากที่จะเชื่อได้ว่านั่นเป็นความริเริ่มกระทำการอย่างเพี้ยนๆ ของปัจเจกบุคคลหรือของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มภายในกองทัพเท่านั้น ไม่ใช่พฤติการณ์ยั่วยุแบบจงใจมีการเตรียมการเอาไว้ก่อน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา การแผ่ลามไต่ระดับความดุเดือดรุนแรงจึงอาจจะเกิดได้ง่ายขึ้น และส่งผลกระทบในทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างใหญ่โตมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ โครงสร้างการบังคับบัญชาอย่างใหม่จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงยกเครื่องกันอย่างมโหฬารและลงลึกเกี่ยวกับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และกระบวนวิธีที่จีนจะกำหนดให้แก่กองทัพของตน

การปฏิรูปในช่วงทศวรรษ 1980 ของเติ้งนั้น สืบเนื่องมาจากการประเมินผลในทางลบต่อผลงานของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในเวียดนามเมื่อปี 1979 การปฏิรูประลอกล่าสุดนี้ก็เช่นเดียวกัน อาจมีชนวนเหตุจากการประเมินผลในทางลบต่อความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยกับเหล่าเพื่อนบ้านในระยะหลายปีหลังๆ มานี้ ณ ตรงนี้มีความเป็นไปได้ว่า ความริเริ่มของปัจเจกบุคคลบางครั้งบางคราวอาจจะล้ำเกินเลยไปกว่าขอบเขตที่ปักกิ่งขีดเอาไว้ และทำให้ผู้มีอำนาจในส่วนกลางบางครั้งบางคราวก็ตกอยู่ในฐานะที่ยากลำบากเป็นอันมาก

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง

หมายเหตุผู้แปล

การดำเนินการปฏิรูปกองทัพของจีนคราวนี้ คาดหมายได้ว่าต้องดำเนินไปท่ามกลางแรงต้านจากบรรดากลุ่มที่มีผลประโยชน์ผูกพันกับระบบเดิมในกองทัพ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (http://www.reuters.com/article/us-china-defence-idUSKBN0TU0A120151211) หนังสือพิมพ์ “เจ่ฟ่างจวิ้นเป้า” ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนฉบับวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2015 ต้องออกมากล่าวเตือนว่า ฝ่ายทหารของจีนอาจจะถึงกับพ่ายแพ้สงครามและต้องอับอายขายหน้าไปเป็นพันๆ ปี ถ้ายังเตะถ่วงไม่ลงมือปฏิรูป จึงขอเก็บความรายงานข่าวชิ้นนี้มาเสนอในที่นี้:

นสพ.กองทัพจีนเตือนถ้าไม่ปฏิรูปอาจแพ้สงคราม-อับอายขายหน้า

รอยเตอร์ - กองทัพจีนมีความเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้สงคราม และทำให้ตนเองต้องอับอายขายหน้าไปเป็นพันๆ ปี ถ้ายังขืนลากเท้าเตะถ่วงไม่ยอมดำเนินการปฏิรูป หนังสือพิมพ์ของทางการกองทัพระบุในวันศุกร์ (11 ธ.ค.) พร้อมกับเตือนว่ากระบวนการปรับปรุงกองทัพแดนมังกรให้ทันสมัย ยังคงล้าหลังเหล่ากองทัพของประเทศก้าวหน้า

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เปิดเผยเค้าโครงของการปฏิรูปต่างๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งมุ่งที่จะเพิ่มความกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วให้แก่โครงสร้างการบังคับบัญชาขกองกองทัพจีน ซึ่งมีฐานะเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ใหญ่โตที่สุดของโลก โดยที่จะต้องมีการลดตำแหน่งปลดบุคลากรด้วย เพื่อให้กองทัพนี้สามารถเอาชนะข้าศึกได้ดีขึ้นในสงครามสมัยใหม่

สี แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจดำเนินการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยคราวนี้ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศจีนก็กำลังแสดงท่าทีมุ่งมั่นแข็งกร้าวยิ่งขึ้นในกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ กองทัพเรือจีนนั้นกำลังลงทุนในด้านเรือดำน้ำและเรือบรรทุกเครื่องบิน ขณะที่กองทัพอากาศก็กำลังพัฒนาเครื่องบินขับไล่เทคโนโลยีหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์

การปฏิรูปต่างๆ ทางการทหารเหล่านี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายนด้วยการที่ สี ออกมาประกาศว่าเขาจะตัดลดกำลังพลในกองทัพลงเป็นจำนวน 300,000 คน และเรื่องนี้ก็ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันเป็นอย่างมาก

เจ่ฟ่างจวิ้นเป้า หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้ตีพิมพ์บทความต่อเนื่องกันเป็นชุดใหญ่ ตักเตือนพวกที่คัดค้านการปฏิรูปและผู้ที่วิตกหวั่นเกรงว่าจะตกงานสูญเสียตำแหน่ง

ในบทวิจารณ์ชิ้นยาวชิ้นหนึ่งที่เขียนโดยกองบัญชาการทหารภาคฉงชิ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในเจ่ฟ่างจวิ้นเป้าเมื่อวันศุกร์ (11 ธ.ค.) ระบุว่า จีนจำเป็นจะต้องพยายามลดช่วงห่างที่ยังล้าหลังกองทัพของเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยดำเนินโครงการปฏิรูปต่างๆ ที่ประกาศกันอยู่ในเวลานี้

“พูดกันโดยภาพรวมแล้ว ระดับความทันสมัยของกองทัพเรายังคงไม่เพียงพอกับความจำเป็นทางด้านความมั่นคงของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ และยังคงมีช่วงห่างจากพวกกองทัพระดับก้าวหน้าของโลก” บทวิจารณ์นี้บอก

บทวิจารณ์ในเจ่ฟ่างจวิ้นเป้าแจกแจงว่า กองทัพจีนนั้นมีระดับชั้นในการบังคับบัญชามากเกินไป, ประสิทธิภาพในการสู้รบยัง “ล้าหลัง” และมีชั้นของระบบราชการหลายชั้นเกินไป

“เรื่องนี้มีผลกระทบโดยตรงและก่อให้เกิดข้อจำกัดต่อกองทัพของเรา ในความพยายามที่จะยกระดับความสามารถเพื่อเอาชนะสงคราม” บทวิจารณ์กล่าวต่อ

ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า มีแต่ผู้ที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นจึงสามารถเติบโตก้าวหน้า และ “การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลยหมายความว่าจะต้องถูกทิ้งให้ล้าหลัง และจะต้องประสบความปราชัย” บทวิจารณ์บอก

“เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในวงกว้างแล้ว การที่กองทัพจะพบกับความรุ่งเรืองหรือต้องประสบความอับอายนั้น พูดกันถึงที่สุดแล้วย่อมมีพื้นฐานอยู่ที่อำนาจของประเทศและความแข้มแข็งของกองทัพ” บทวิจารณ์กล่าวต่อ

“ถ้าไม่มีการปฏิรูปใดๆ เลย ทันทีที่บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นมา และกองทัพไม่สามารถเอาชัยชนะได้ พวกเขาก็จะต้องถูกประณามไปทุกยุคทุกสมัย”

บทวิจารณ์บอกว่า ไม่มีที่ทางสำหรับการยืนเฉยเฝ้าดูอยู่ข้างๆ หรือการหลบหลีกกลับกลอก และพวกที่คอยแพร่กระจาย “คำโกหกและการกล่าวร้าย” เกี่ยวกับกระบวนการปฏิรูป จักต้องถูกปฏิเสธอย่างหนักแน่น

ทั้งนี้ การปฏิรูปต่างๆ ที่ สี มุ่งดำเนินการ มีทั้งการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่บัญชาการการปฏิบัติการร่วมขึ้นมาให้สำเร็จภายในปี 2020 และการยุบรวมภูมิภาคทหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนการลดกำลังพล และทำให้กองทัพมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันจันทร์ (7 ธ.ค.) หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ได้เรียกร้องให้พวกนายทหารระดับสูงปิดปากอย่าได้พูดแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพในวงกว้าง หากแต่จะต้องแสดงตนเป็นผู้นำในแนวหน้าของการปฏิรูป เพื่อให้มั่นใจว่าทหารระดับรองๆ ลงมาจะก้าวเดินตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น