xs
xsm
sm
md
lg

“บัวบานในแผ่นดินแดง” ศิลปินไทยแหวกม่านไม้ไผ่ สร้างข่าวเขย่าโลก!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้มีคณะศิลปินไทยกลุ่มหนึ่งสร้างข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และสั่นสะเทือนวงการเมืองระดับโลกจนวิ่งกันพล่าน อเมริกามหามิตรของไทยถึงกับเต้นผางด้วยความรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า ขอคำตอบด่วนจากรัฐบาลไทยที่ปล่อยให้คณะศิลปินไทยชื่อดังในขณะนั้นกว่า ๔๐ คน ยกขบวนไปเปิดการแสดงในจีนแดง ซึ่งมีฉายาว่าเป็นประเทศ “หลังม่านไม้ไผ่”

ในยุคนั้นโลกแบ่งค่ายทำสงครามเย็นกัน โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำฝ่ายโลกเสรี และสหภาพโซเวียตซึ่งมีฉายาว่าประเทศ “หลังม่านเหล็ก” เป็นผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศต่างๆได้แบ่งฝ่ายกันไปตามลัทธิการปกครอง จีนนั้นเป็นพี่เบิ้มอยู่ในฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วย ส่วนไทยในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายที่ถูกค่อนขอดว่า “ตามก้นอเมริกา” ความสัมพันธ์ของจีน-ไทยที่แนบแน่นมายาวนานจึงถูกขวางกั้นด้วยกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ใครที่ติดต่อมีความสัมพันธ์กับจีน ไม่ว่าจะไปมาหาสู่หรือค้าขาย ก็จะถูกกฎหมายฉบับนี้ยัดเยียดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ให้

กระนั้นก็ยังมีคนหลายกลุ่มหลายอาชีพ ที่คิดว่าลัทธิการปกครองไม่น่าจะกีดกั้นความสัมพันธ์ของประชาชนต่อประชาชน ถึงจะต่างลัทธิก็น่าจะคบหากันได้ เหมือนคนต่างศาสนาก็ยังเป็นเพื่อนหรือแต่งงานกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนหลายคณะเดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญ โดยอ้างว่าเพื่อเยี่ยมเยียนกระชับมิตร ไม่ได้ไปเพราะเลื่อมใสการปกครอง แต่คนเหล่านั้นจะมีตำรวจสันติบาลไปรอต้อนรับที่ดอนเมืองถ้ากลับมาทางเครื่องบิน หรือผ่านมาทางเวียดนามเข้าลาว ก็จะไปต้อนรับที่ริมโขง พร้อมกับยื่นข้อหาให้ว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และแจ้งความเท็จ

ที่มีข้อหาแจ้งความเท็จแถมให้ ก็เพราะตอนขอพาสปอร์ตเดินทางออกนอกประเทศต้องแจ้งประเทศที่จะไป ถ้าใครแจ้งว่าจะไปประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็จะไม่ได้รับพาสปอร์ต จึงต้องแจ้งว่าไปแค่ฮ่องกง ฉะนั้นเมื่อแอบเข้าจีนแดงจึงโดนข้อหาแจ้งความเท็จด้วย

ระหว่างนั้นมีคณะบุคคลต่างๆเดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญเป็นระยะ โดยไม่หวั่นว่ากลับมาจะมีความผิด เช่นคณะผู้แทนราษฎร คณะกรรมกร คณะนักหนังสือพิมพ์ ทีมนักกีฬา ฯลฯ แต่ข่าวใหญ่ที่สุดได้แก่ “คณะศิลปินไทย” ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังจากเวทีละครและนักร้องกว่า ๔๐ คน ในการนำของ สุวัฒน์
วรดิลก นักประพันธ์และนักเขียนบทละครชื่อดัง โดยแอบทยอยออกไปอย่างเงียบๆ กำหนดนัดพร้อมกันที่ฮ่องกงในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๐ จนเมื่อเข้าไปในจีนแล้ว ข่าวของศิลปินไทยคณะนี้จึงถูกเปิดเผยจนดังกระฉ่อนไปทั่วโลกในวันที่ ๒๘ เมษายน

ทั้งสำนักข่าวของค่ายตะวันตกและค่ายคอมมิวนิสต์ ต่างก็เสนอข่าวคณะศิลปินไทยแหวกม่านไม้ไผ่เข้าไปเปิดแสดงในจีนแดงเป็นข่าวใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของไทยเต้นผาง ส่วนมหามิตรอเมริกาวิ่งพล่าน นายเจมส์ โรเบิร์ตสัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้เรียกนายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันเข้าพบ ถามว่าทำไมจึงปล่อยให้คณะศิลปินไทยเข้าไป ทำให้นายพจน์ต้องรีบบินด่วนกลับมาเพื่อหาคำตอบจากรัฐบาล ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวตะวันตกเช่น “นิวยอร์คไทม์” กระบอกเสียงของรัฐบาลอเมริกัน ก็คาดคั้นถามจอมพล ป.ในเรื่องนี้ เพราะการแหวกม่านไม้ไผ่ของคณะศิลปินไทยทำให้ฝ่ายโลกเสรีเสียหน้าอย่างแรง ขณะเดียวกันฝ่ายคอมมิวนิสต์กลับได้หน้า

คณะศิลปินไทยที่ไปครั้งนี้มี สุพรรณ บูรณะพิมพ์ นางเอกยอดนิยมจากเวทีละคร เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, เพ็ญแข กัญจารึก, ชาญ เย็นแข, สุเทพ วงศ์กำแหง, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, แน่งน้อย แสงสุวิมล, ประสิทธิ์ ยุวพุกกะ, จุมพล กาญจนินทุ, ถวัลย์ วรวิบูลย์, มงคล จันทนบุปผา, สมาน กาญจนผลิน, ประสิทธิ์ พยอมยงค์, หม่อมสุลาลีวัลย์ สุริยง, จำนรรค์ กุลฑลจินดา พร้อมด้วยนักดนตรีวงประสานมิตร นักดาบลูกบ้านช่างหล่อ โขนบ้านบรรทมสินธุ์ และนาฏศิลป์ที่เคยแสดงในละครชุด “อานุภาพ” ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่หอประชุมวัฒนธรรม

คณะศิลปินไทยที่แหวกม่านไม้ไผ่ในครั้งนี้ ไม่มีใครไปเพราะเลื่อมใสศรัทธาหรือชื่นชมจีนแดง หลายคนยังหวาดกลัวคอมมิวนิสต์จากภาพโฆษณาชวนเชื่อที่เกลื่อนเมืองในยุคนั้น ทำให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์เป็นยักษ์เป็นมาร สุพรรณ บูรณพิมพ์ได้เล่าความรู้สึกเรื่องนี้เมื่อตอนกลับมาว่า

“เมื่อเข้าไปในเขตของจีนแล้ว ดิฉันกลัวไม่น้อย จะมองอะไรก็ไม่กล้ามองเต็มตา ต้องระวังตัวแจตลอดเวลา ยิ่งคิดว่าเป็นเขตคอมมิวนิสต์ยิ่งใจไม่ดี เพราะเคยได้ยินได้ฟังมาว่า คอมมิวนิสต์ดุร้าย หยาบคาย ป่าเถื่อน ดิฉันคิดว่าพวกคอมมิวนิสต์คงมีท่าทางเหมือนโจร หรือไม่ก็มีหนวดเครารุงรัง”

เมื่อเดินทางจากฮ่องกงผ่านสะพานโลวูเข้าไปในเขตจีนแล้ว เจ้าหน้าที่ของจีนใส่ชุดซุนยัดเซนสีน้ำเงินทั้งหมด สุพรรณบอกว่าพอเหลือบเห็นก็ใจหายวาบ นึกว่าเป็นเครื่องแบบทหาร ยิ่งสะพายสายหนังบนบ่าก็นึกว่าเป็นปืน ภายหลังเห็นถนัดจึงรู้ว่าเป็นกล้องถ่ายรูป

“พอรู้ว่าเป็นกล้องถ่ายรูปใจมาเป็นกอง ดิฉันรู้สึกแปลกใจเหมือนกันเมื่อพวกเขาเข้ามาทักทายและจับมือพวกเราอย่างยิ้มแย้ม ไม่เห็นท่าว่าเขาจะเป็นศัตรูกับเราที่ตรงไหน ดูเหมือนจะเป็นมิตรมากกว่า เลยนึกในใจว่า อ้อ!คอมมิวนิสต์เป็นอย่างนี้นี่เอง ไม่เห็นผิดกับพวกเราตรงไหน สุภาพเรียบร้อยเสียด้วยซี”

ความรู้สึกของ “ราชินีเวทีละคร” ในตอนนั้น ถ้าคิดอย่างคนในสมัยนี้ก็ดูจะกลัวเกินเหตุไป แต่ในยุคนั้นการโฆษณาที่เกลื่อนเมืองทำให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์เป็นยักษ์เป็นมารที่มาเผาบ้านเมือง

คณะศิลปินไทยได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดินทางด้วยรถไฟจากเกาลูนไปถึงสถานีกวางตุ้งเมื่อเวลา ๑๕ น.เศษของวันที่ ๒๗ เมษายน สุพรรณ บูรณพิมพ์ซึ่งเป็นดาราเด่นในคณะ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถือธงไตรรงค์นำขบวนศิลปินลงจากรถไฟ ท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างกึกก้องของประชาชนที่มาคอยต้อนรับอย่างแน่นขนัด เสียงปรบมือนั้นยาวนานตลอดระยะเวลาที่ศิลปินไทยก้าวลงจากรถไฟจนหมดทุกคน และมีเด็กนักเรียนเป็นตัวแทนมามอบช่อดอกไม้ให้

ที่เมืองกวางตุ้ง ปรีดี พนมยงค์ “รัฐบุรุษอาวุโส” ที่ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่นั่นได้ขอเป็นเจ้าภาพจัดการต้อนรับ เมื่อได้พบคณะศิลปิน อดีตนายกรัฐมนตรีไทยก็ปลื้มปีติจนเก็บอาการไม่อยู่ และได้กล่าวต้อนรับคณะศิลปินไทยที่บ้านพักตอนหนึ่งว่า

“ในขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้เปิดสัมพันธไมตรีต่อรัฐบาลจีน คณะศิลปินไทยจึงเป็นผู้ผูกไมตรีต่อราษฎรจีนในฐานะราษฎรต่อราษฎร และเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของราษฎรไทยต่อราษฎรจีน”

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสยังได้กล่าวแสดงความหวังว่า มิตรภาพไทย-จีน คงจะเริ่มอย่างเป็นทางการในไม่ช้า

จากกวางตุ้ง คณะศิลปินไทยต้องเดินทางด้วยรถไฟถึง ๓ วัน ๓ คืนสู่นครปักกิ่ง และเผชิญกับความหนาวเย็นจนจับกระดูก แม้ในรถไฟจะมีเครื่องทำความอุ่น แต่ทุกคนก็ไม่คุ้นอากาศหนาวจึงต้องคุดคู้ห่มผ้ากันตลอดทาง ทั้งยังต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำแยงซีกลางดึก เพราะสะพานใหม่ ๒ ชั้นที่มีรถยนต์วิ่งข้างบน รถไฟวิ่งข้างล่าง อันเป็นสถาปัตยกรรมเด่นชิ้นหนึ่งของจีนในขณะนี้ ขณะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ในวันที่ ๑ มีนาคม ซึ่งเป็นวันเมย์เดย์ หรือวันกรรมกรสากล ผู้แทนของคณะศิลปินไทย ๓ คน คือ สุวัฒน์ วรดิลก, สุพรรณ บูรณพิมพ์ และนายเล็ก เล็กสกุลไชย นักธุรกิจซึ่งมีข่าวว่าเป็นนายทุนในการไปครั้งนี้ ได้เข้าพบสัมผัสมือกับ เมาเซตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนนายกรัฐมนตรีโจวเอนไหล ได้ให้การต้อนรับคณะศิลปินไทยอย่างสนิทสนมเป็นพิเศษ จนประทับใจเหล่าศิลปินไทยไปตามกัน

ในการเปิดแสดงครั้งแรกที่นครปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีโจวเอนไหลได้มานั่งชมเป็นประธานในการเปิดแสดง และเมื่อจบรายการแทนที่จะกลับ โจวเอนไหลได้เดินอ้อมไปขึ้นหลังเวทีทักทายกับคณะศิลปินไทย และเมื่อคณะศิลปินไทยจะกลับที่พัก นายกรัฐมนตรีจีนยังเดินคุยไปตามถนนจนส่งถึงโรงแรมซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงละครนัก ทำให้เหล่าศิลปินไทยประทับใจไปตามกัน คาดไม่ถึงว่าจะได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีของประชาชน ๖๐๐ ล้านคนถึงเพียงนั้น

นอกจากนี้ในงานเลี้ยงส่ง เมื่อคณะศิลปินไทยจะอำลาจากกรุงปักกิ่ง ศิลปินไทยได้นำการละเล่นรำวงของไทยออกโชว์ นายกรัฐมนตรีโจวเอนไหลก็ลุกออกไปรำวงกับศิลปินไทยด้วย ทำให้ผู้ร่วมงานพากันปรบมือกึกก้อง

เหล่าศิลปินไทยโดยเฉพาะศิลปินฝ่ายหญิง ต่างพากันประทับใจในบุคลิกหน้าตาของนายกฯโจวเอนไหลไปตามกัน สุพรรณ บูรณพิมพ์ เคยบรรยายให้ผู้เขียนฟังว่า

“รูปร่างท่านสูงใหญ่เป็นสง่า ใบหน้าขาว คิ้วดกดำ เคราเขียวครึ้ม ริมฝีปากแดง เป็นผู้ชายที่หล่อมาก”

ในรายการแสดง นอกจากคณะศิลปินไทยจะนำศิลปวัฒนธรรมไทยไปโชว์แล้ว ยังได้นำเพลงจีนที่ได้รับความนิยมสูงมาฝึกร้องออกโชว์ด้วย อย่างเช่นเพลง “ดวงตะวันไม่มีวันตกในทุ่งหญ้า” หรือที่เรียกกันว่า “เพลงระบำในทุ่งหญ้า” พร้อมทั้งแต่งเพลงใหม่โชว์ในรายการนี้โดยเฉพาะ ในชื่อเพลง “ภราดรภาพจีน-ไทย” วิทยุปักกิ่งซึ่งอุทิศเวลาให้กับคณะศิลปินไทยอย่างมาก ได้บันทึกเสียงเพลงจากรายการไปออกอากาศเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๔ เพลงคือ “กระแต” บรรเลงโดยเครื่องดนตรีผสม ไม่มีคำร้อง “นางอาย” ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข “ระบำในทุ่งหญ้า” ขับร้องเป็นภาษาจีนโดย สุเทพ วงศ์คำแหง และเพลง “ภราดรภาพ จีน-ไทย” ทำนองเพลงมาร์ช ขับร้องหมู่ ซึ่ง ๒ เพลงหลังนี้วิทยุปักกิ่งได้บันทึกเสียงปรบมืออย่างกึกก้องยาวนานของผู้ชมไปออกอากาศด้วย และบรรยายว่า “โรงละครเทียนเฉียว (สะพานสวรรค์) ถึงกับสะท้านสะเทือนด้วยเสียงปรบมือโห่ร้องของผู้ชม”

สำหรับเพลง “ระบำในทุ่งหญ้า” หรือ “ดวงตะวันไม่มีวันตกในทุ่งหญ้า” เป็นเพลงสดุดีประธานเมาเซตุงและพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเคยปรากฏในภาพยนตร์จีนแดงที่มาเข้าฉายในเมืองไทยแล้ว เนื้อร้องมีความว่า

“เมฆขาวลอยอยู่บนท้องฟ้าสีคราม นกน้อยเหินบินอยู่ใต้เมฆขาวนั้น ส่งเสียงแซ่ดังลั่นทั่วสี่ทิศ เหล่านกทั้งหลายพากันบินว่อน

ถ้าหากมีคนมาถามข้าว่า ณ ที่นี้คืออะไร ข้าจะบอกเขาด้วยความภูมิใจว่า นี่คือบ้านเกิดเมืองนอนของข้า

ผู้คนที่นี่รักและใฝ่สันติ และก็รักบ้านเกิดเมืองนอนพร้อมกับร้องเพลงชีวิตใหม่ของตัวเอง และร้องเพลงคอมมิวนิสต์ของพวกเรา

ประธานเหมา พรรคคอมมิวนิสต์ ชุบเลี้ยงพวกเราเติบโต ประดุจดวงตะวันขึ้น และไม่ตกในทุ่งหญ้า”

ด้วยคตินิยมของจีนที่ว่า “ปล่อยให้ดอกไม้บาน แม้จะต่างพันธุ์กัน” อันหมายถึงทุกคนย่อมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม้จะต่างความคิด ถ้ามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ สันติ การแสดงของคณะศิลปินไทยจึงเปรียบเหมือนดอกบัวไปบานอยู่ในแผ่นดินจีน ซึ่งถือกันว่าเป็นแผ่นดินแดง สุวัฒน์ วรดิลก จึงให้ชื่อรายการแสดงชุดนี้ว่า “บัวบานในแผ่นดินแดง”

หลังจากเปิดการแสดงมาแล้วหลายเมือง สุวัฒน์ วรดิลก หัวหน้าคณะก็มีโอกาสได้ปราศรัยทางวิทยุปักกิ่งถึงประชาชนคนไทย เล่าถึงความสำเร็จในการแสดง ๗ เมืองหลวงของจีน คือ ปักกิ่ง มุกเต็น (เสิ่นหยาง) อานซาน ฮาร์บิน ลางซุน นานกิง และกำลังเปิดแสดงอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ในขณะนั้น โดยมีการแสดงเป็น ๙ รายการคือ รำอวยพร โขนรามเกียรติ์ รำไทย รำพื้นเมือง ร้องรำ รำกระบอง (เรื่องศึกบางระจัน) ละคร (เรื่องรจนาเลือกคู่) เพลงไทยสากล ขับร้องหมู่ โดยได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ไปร้องด้วยทุกครั้ง และทุกครั้งก็จะได้รับเสียงปรบมือโห่ร้องจากผู้ชมเมื่อประกาศว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทย โดยใช้เวลาแสดงตลอดรายการเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง

นสพ.จีนได้รายงานข่าวของคณะศิลปินไทยทุกวัน และได้สดุดีความไพเราะของระนาดไทยว่า “เหมือนเสียงไข่มุกตกบนจานหยก”

พร้อมกับการเดินทางเยือนจีนของคณะศิลปินไทยครั้งนี้ ยังมีคณะกรรมกรไทยได้รับเชิญให้ไปร่วมวันกรรมกรสากล และทีมบาสเกตบอลเหลือง-แดงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตระเวนแข่งขันในประเทศจีนด้วย แต่เมื่อคณะกรรมกรและคณะบาสเกตบอลกลับมาก่อน ได้ถูกสันติบาลควบคุมตัวไปเข้าห้องขังในทันทีที่กลับมาถึง ทำเอาคณะศิลปินไทยขวัญเสีย ดึงเวลาคอยฟังข่าวอยู่ที่กวางตุ้ง อีกทั้งทางการฮ่องกงก็ถูกฝ่ายโลกเสรีบีบ ไม่ยอมให้คณะศิลปินไทยเดินทางผ่านอีก ในที่สุดจึงต้องเดินทางโดยเรือเฮนริช เจนเสน ของบริษัทโหงวฮก ออกจากกวางตุ้งวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๐๐ ด้วยคำกล่าวอำลาของนายกรัฐมนตรีโจวเอนไหลว่า

“ผมอาจจะได้พบพวกคุณอีกในเมืองไทย”

ตลอดคืนของวันที่ ๑ สิงหาคม เมื่อกำหนดว่าคณะศิลปินไทยจะเดินทางกลับมาถึง ตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ไปลอยเรือรอรับอยู่ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา จนในเวลา ๖.๔๕ น. เรือเฮนริช เจนเสน จึงได้เข้าเทียบท่าเรือคลองเตยที่หน้าโกดังสินค้า ๖โดยมีญาติพี่น้องของศิลปินไทยไปรอรับกันคับคั่ง แต่เจ้าหน้าที่สันติบาลและศุลกากรซึ่งขึ้นเรือประกบตัวมาตั้งแต่ปากอ่าวยังไม่ยอมให้ลงจากเรือ ตรวจค้นอย่างละเอียด พร้อมทั้งยึดเอกสารและรูปถ่ายของศิลปินทั้งหมดไปตรวจสอบ

จนกระทั่งเวลา ๑๐ น.เศษ สันติบาลก็ปล่อยให้คณะศิลปินทั้งหมดกลับบ้าน ไม่ได้จับไปเข้าห้องขังเช่นเดียวกับคณะอื่นๆ โดยอ้างว่าคณะศิลปินเดินทางมาทางเรือประสบมรสุมกลางทาง ทำให้อ่อนเพลียกันทุกคน จึงให้กลับไปพักผ่อนที่บ้านและให้กลับมารายงานตัวภายใน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อทำการสอบสวนเป็นรายๆไป

คนที่เคราะห์ร้ายที่สุดในคณะ คือ พันจ่าอากาศเอกถวัลย์ วรวิบูลย์ ครูนาฏศิลป์ เมื่อตำรวจปล่อยตัวลงจากเรือแล้ว สารวัตรทหารอากาศซึ่งมารออยู่ที่สะพานเรือ ก็หิ้วตัวไปทันที เพราะเป็นทหารประจำการและขาดราชการมาหลายเดือน

พ.จ.อ.ถวัลย์ บอกว่า ทีแรกเข้าใจว่าจะไปแสดงที่อ่องกง จึงลาป่วยไว้แค่ ๑๕ วัน แต่เมื่อพรรคพวกเข้าจีนแดง ก็เลยตามเลยเข้าไปด้วยเกือบ ๔ เดือน พวกไม่กลับก็ไม่กลับ

ตำรวจได้ตั้งข้อหาศิลปินเช่นเดียวกับกรรมกรและนักกีฬาเมื่อทุกคนไปรายงานตัว แต่ยอมให้ประกันตัวไป โดยตีราคาสุวัฒน์ วรดิลก หัวหน้าคณะไว้ ๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนลูกทีมคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนายสุรัสน์ พุกกะเวส บรรณาธิการนิตยสาร “ดาราไทย” ได้ยื่นประกันทุกคนเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านหกหมื่นบาท ตำรวจได้กันจำนง บำเพ็ญทรัพย์ ครูดาบสำนักบ้านช่างหล่อ ซึ่งมียศสิบตำรวจเอกไว้เป็นพยาน ๑ คน

หลังจากได้ประกันตัวเมื่อค่ำวันที่ ๒ สิงหาคม สุวัฒน์ วรดิลกได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า ตำรวจได้สอบถามเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่ไป ก็ได้แจ้งว่ามีอยู่ ๓ ข้อด้วยกัน คือ

1. เพื่อเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ
2. เพื่อเสริมสร้างสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประชาชนจีนและประชาชนไทย
3. เป็นเรื่องของศิลปินเองที่จะต้องหารายได้เลี้ยงชีวิต

ตำรวจได้ซักถามเกี่ยวกับนายทุน ก็ได้ชี้แจงไปว่า แต่แรกเข้าใจว่านายเล็ก เล็กสกุลไชย ร่วมกับพรรคพวกเป็นนายทุน แต่เมื่อไปถึงจีนแล้วจึงรู้ว่านายเล็กเป็นเพียงผู้ติดต่อประสานงานเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดรัฐบาลจีนเป็นผู้ออก ตามธรรมเนียมของประเทศสังคมนิยมที่เชิญแขกไป

หัวข้อที่ตำรวจสนใจอีกอย่างก็คือ ได้พบกับนักการเมืองไทยที่ลี้ภัยอยู่ที่นั่นหรือไม่ ตอบไปว่าได้พบเกือบทุกคน โดยในวันแรกที่ไปถึง เจ้าหน้าที่จีนมาถามว่าท่านปรีดี พนมยงค์เตรียมน้ำชาไว้ต้อนรับ ต้องการจะไปพบหรือไม่ ตนเห็นว่าท่านปรีดีเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติไว้มาก จึงไปพบ ซึ่งการสนทนาก็เป็นการแสดงความยินดีที่ได้พบกับศิลปินไทยที่มาในนามราษฎร ผูกมิตรกับราษฎร ในขณะที่รัฐบาลไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน และท่านได้อวยพรคณะศิลปิน

ส่วนนักการเมืองจีนนั้น ได้พบกับท่านประธานเมาเซตุงครั้งหนึ่ง ส่วนนายกรัฐมนตรีโจวเอนไหลนั้นได้พบกันหลายครั้ง

“แต่ผมก็ไม่ได้มีอะไรที่จะไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่าน เพราะเป็นเพียงศิลปินคนหนึ่งเท่านั้น” สุวัฒน์บอกกับนักข่าว

ในขณะที่เหล่าศิลปินยังตกเป็นผู้ต้องหาของตำรวจอยู่นั้น สุวัฒน์ วรดิลกก็เห็นว่าควรจะได้นำการแสดงทั้งหมดที่ได้ไปตระเวนโชว์ในจีนแดงมาแสดงให้คนไทยได้ดูบ้าง เพื่อจะได้ทราบกันว่าคณะศิลปินไทยได้นำศิลปวัฒนธรรมของไทยอะไรบ้างไปแสดงให้ประชาชนจีนชม จึงได้เปิดการแสดงขึ้นที่ศาลาเฉลิมนคร โดยเริ่มรอบปฐมฤกษ์ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๐ มอบรายได้ให้แก่สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสมทบทุนมูลนิธิการศึกษาเยาวชน

สำหรับคดีนั้น ในที่สุดสุวัฒน์ วรดิลกก็ยอมรับแต่ผู้เดียวว่าเป็นผู้นำศิลปินทั้งหมดเข้าไปในจีนแดงโดยศิลปินทุกคนไม่รู้มาก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงปล่อยศิลปินทั้งหมดพ้นข้อหา สั่งฟ้องสุวัฒน์ วรดิลกแต่ผู้เดียว ซึ่งศาลก็พิจารณาเห็นว่าเป็นการไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลัทธิการเมืองแต่อย่างใด จึงไม่มีการลงโทษในคดีนี้

หลังจากนั้นอีก ๑๘ ปี ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วย พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนอย่างเป็นทางการ ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งจีนก็ได้ให้การต้อนรับผู้นำของไทยอย่างยิ่งใหญ่ กล่าวกันว่างานต้อนรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชนั้น จีนจัดยิ่งใหญ่กว่าครั้งต้อนรับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเยือนจีนเป็นครั้งแรกก่อนหน้านั้นเสียอีก ในขณะที่กฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่เป็นเครื่องมือจับคนเยือนจีนแดงไปคุมขัง ก็ยังประกาศใช้อยู่เช่นเดิม

นายกรัฐมนตรีโจวเอนไหลกับกลุ่มศิลปินไทย
โจวเอนไหลชนแก้วกับสุวัฒน์ วรดิลก
กลุ่มศิลปินไทยในปักกิ่ง
สุวัฒน์ วรดิลกโบกมือให้ผู้มาต้อนรับที่ท่าเรือคลองเตย

กำลังโหลดความคิดเห็น