เอเอฟพี - ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดหลักของพลูโตเนียมเกรดอาวุธของเกาหลีเหนือ อาจเริ่มการเดินเครื่องแบบพลังงานต่ำหรือเว้นระยะใหม่อีกครั้งแล้ว สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ระบุในวันนี้ (30 เม.ย.)
เมื่อปีที่แล้ว สถาบันเพื่อวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISIS) ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า เตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ดังกล่าวที่โรงงานนิวเคลียร์ยองบยองของเกาหลีเหนือดูเหมือนว่าจะถูกปิดใช้งานแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการปิดเพื่อการปรับปรุงซ่อมแซม
อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกถ่ายเก็บตลอดช่วงฤดูหนาวเผยให้เห็นหลาย “สัญญาณ” ของกิจกรรมระดับต่ำ ซึ่งรวมถึงรูปแบบการละลายของหิมะที่ผิดปกติบนเตาปฏิกรณ์ดังกล่าวและอาคารกังหัน ISIS ระบุในการวิเคราะห์ล่าสุด
สถาบันแห่งนี้ยังชี้ให้เห็นภาพถ่ายของธารน้ำอุ่นอ่อนๆ ที่ไหลออกมาจากท่อระบายของเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว ตลอดจนสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นไอน้ำที่ลอยขึ้นมาจากอาคารกังหัน
แม้ว่าภาพถ่ายเหล่านี้จะ “ไม่ได้แสดงให้เห็นหลักฐานชัดเจนว่า เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวได้เริ่มการเดินเครื่องแบบเต็มกำลังใหม่อีกครั้งแล้ว” แต่ ISIS ระบุว่า ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่า เตาปฏิกรณ์ดังกล่าว “อาจกำลังเดินเครื่องแบบพลังงานต่ำหรือเว้นระยะ”
เกาหลีเหนือสั่งปิดเตาปฏิกรณ์บองบยอนในปี 2007 ภายใต้ข้อตกลงความช่วยเหลือแลกการปลดอาวุธ แต่ได้เริ่มต้นการปรับปรุงมันภายหลังการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดของตนในปี 2013
เมื่อเดินเครื่องเต็มกำลัง เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวนี้สามารถผลิตพลูโตเนียมได้ราวๆ 6 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งมากพอสำหรับระเบิดนิวเคลียร์หนึ่งลูก ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ
โสมแดงทำการทดสอบนิวเคลียร์ในปี 2006, 2009 และ 2013 และมีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า เปียงยางกำลังมุ่งสู่จุดป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตเร็วกว่าที่คิดไว้
รายงานเมื่อเร็วๆ นี้โดยทีมนักวิจัยของสหรัฐฯ เตือนว่า เกาหลีเหนือดูเหมือนว่าจะเตรียมขยายโครงการนิวเคลียร์ของตนตลอด 5 ปีข้างหน้า และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด พวกเขาอาจครอบรองระเบิดนิวเคลียร์ 100 ลูก ภายในปี 2020
นอกจากนั้น เมื่อต้นเดือนนี้หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของจีนเชื่อว่าโสมแดงอาจมีหัวรบนิวเคลียร์แล้ว 20 ลูก และมีศักยภาพในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่จะเพิ่มจำนวนหัวรบดังกล่าวอีกเท่าตัวภายในปีหน้า