xs
xsm
sm
md
lg

นิวซีแลนด์เริ่มเปิดลงประชามติเลือก “ธงชาติใหม่” รอบแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธงชาติทั้ง 5 แบบที่เปิดให้ชาวนิวซีแลนด์ใช้สิทธิ์โหวต และ (กลางล่าง) ธงนิวซีแลนด์ปัจจุบันที่มีตราสัญลักษณ์ ยูเนียนแจ็ค
เอเอฟพี - ชาวนิวซีแลนด์เริ่มลงคะแนนโหวตทางไปรษณีย์เพื่อเลือกธงชาติแบบใหม่ในวันนี้ (20) พ.ย. หลังจากรัฐบาลเสนอให้มีการถอดตราสัญลักษณ์ “ยูเนียนแจ็ก” ของอังกฤษออกจากธงประจำชาติแดนกีวี

ประชาชนจะสามารถเลือกธงชาติที่ตนถูกใจได้ 1 แบบจากทั้งหมด 5 แบบ โดยสามารถส่งคะแนนโหวตทางไปรษณีย์ได้จนถึงวันที่ 11 ธันวาคมนี้

แบบธงที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดในรอบนี้จะต้องลงแข่งขันแบบ “ตัวต่อตัว” อีกครั้งกับธงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยประชามติรอบสองจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2016

นายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ แห่งนิวซีแลนด์ ยกให้การเปลี่ยนแปลงธงชาติเป็นวาระสำคัญ นับตั้งแต่รัฐบาลสายอนุรักษนิยมของเขาชนะเลือกตั้งสมัยที่ 3 เมื่อปลายปีที่แล้ว

คีย์ระบุว่า ตราสัญลักษณ์ยูเนียนแจ็คซึ่งอยู่ที่มุมบนซ้ายของผืนธงชาติเป็นสิ่งที่ “ผิดยุคสมัย” เสียแล้ว และเชื่อว่าประเทศของเขาต้องการมาตรฐานบางอย่างที่ “บ่งบอกความเป็นนิวซีแลนด์อย่างแท้จริง”

คีย์ยังชี้ว่า ธงชาติปัจจุบันซึ่งมีสัญลักษณ์ยูเนียนแจ็ก และ “กลุ่มดาวกางเขนใต้” สีแดงบนพื้นสีน้ำเงินเข้ม มักจะไปสับสนกับธงชาติออสเตรเลียที่คล้ายคลึงกันมาก

รัฐบาลกีวีได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกธงกว่า 10,000 แบบให้เหลือเพียง 4 แบบที่มีความเหมาะสม โดยธง 4 แบบที่ได้รับการคัดเลือกล้วนมีรูป “ใบเฟิร์น” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างไม่เป็นทางการของนิวซีแลนด์ ส่วนพื้นธงประกอบด้วยหลายสี ได้แก่ แดง น้ำเงิน ดำ และขาว

สำหรับธงแบบที่ 5 มีชื่อเรียกว่า “เรด พีก” ประกอบด้วยสามเหลี่ยมสีแดง, ดำ, น้ำเงิน และสัญลักษณ์รูปตัว “วี” สีขาว ซึ่งเป็นแบบล่าสุดที่ถูกเพิ่มเข้ามาเพราะมีกระแสเรียกร้องจากสื่อสังคมออนไลน์

ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนที่แล้วพบว่า ธงที่มีรูปใบเฟิร์นสีขาวบนพื้นสีแดงและน้ำเงินจะชนะการโหวตในรอบแรก ทว่าในการทำประชามติรอบสอง “ธงชาติปัจจุบัน” จะเป็นฝ่ายชนะขาดด้วยคะแนนโหวตประมาณร้อยละ 65

ธงชาตินิวซีแลนด์ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1901 โดยมีจุดเริ่มต้นจากกระแสชาตินิยมหลังมีการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามอังกฤษ-บัวร์ (Anglo-Boer War) ที่แอฟริกาใต้

นิวซีแลนด์เคยเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพอังกฤษ และแม้ปัจจุบันจะมีสถานะเป็นรัฐเอกราช แต่ยังถือว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นประมุขรัฐ

แม้สถาบันกษัตริย์จะมีอำนาจแต่เพียงในเชิงสัญลักษณ์ ทว่า ชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่มองว่าความสัมพันธ์เช่นนี้สะท้อนร่องรอยความเป็นอาณานิคม


กำลังโหลดความคิดเห็น