xs
xsm
sm
md
lg

แม้ประกาศผล ‘ซูจี’ ชนะเลือกตั้งแล้ว แต่ ‘พม่า’ ก็ยังต้องเผชิญปัญหาเพียบ

เผยแพร่:   โดย: แกรี่ เคลแมน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Myanmar’s pesky post-election pause
By Gary Kleiman
10/11/2015

พรรค NLD ของ อองซานซูจี เป็นผู้ชนะเลือกตั้งรัฐสภาพม่าด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายก็จริง แต่คาดหมายได้ว่าการเดินเกมเพื่อเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ยังอยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจนั้น หลักนโยบายของพรรค NLD ยังคลุมเครือกำกวมไร้ความชัดเจนว่าจะทำอะไรต่อไปในอนาคต แถมพวกผู้นำของพรรคนี้ก็ขาดไร้ประสบการณ์ในภาคธุรกิจ

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy ใช้อักษรย่อว่า NLD) ของ อองซานซูจี ชนะถล่มทลายสามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาพม่า ขณะที่พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party ใช้อักษรย่อว่า USDP) ของฝ่ายทหารออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ เป็นอันว่าเธอสามารถช่วงชิงชัยชนะในการเลือกตั้งเหมือนอย่างเมื่อ 25 ปีที่แล้วได้อีกครั้งหนึ่ง ในการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่ยอมรับนับถือ และไม่ค่อยมีปัญหาไม่ชอบมาพากลใดๆ

อย่างไรก็ตาม การเดินกลเม็ดพลิกแพลงเพื่อเสนอชื่อประธานาธิบดีซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ยังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นมาเท่านั้น และอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงต้นปี 2016 โดยที่กองทัพซึ่งได้รับที่นั่งจำนวน 1 ใน 4 ของรัฐสภาแบบอัตโนมัติจะต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกนี้ด้วย ขณะที่การหยุดยิงกับกลุ่มกบฏ 15 กลุ่ม ยกเว้นแต่กองทัพอิสระของชาวคะฉิ่นและชาวชานเท่านั้น ก็มีกำหนดที่จะสรุปยุติลงในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย วาระทางการเมืองซึ่งอัดเต็มแน่นแล้วนี้ ในความเป็นจริงยังคงละเลยประเด็นปัญหาหลายๆ ประเด็น เป็นต้นว่า สิทธิของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการออกเสียงเลือกตั้ง และพวกนักรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่น้อยๆ เสนอความเห็นว่าฝ่ายตะวันตกยังไม่ควรยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางการค้าต่อพม่า ในส่วนที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่

ทางด้านข้อจำกัดต่างๆ ในทางเศรษฐกิจซึ่งยังหลงเหลืออยู่ ก็ยังทำท่าว่ายากที่จะได้รับการผ่อนคลาย ในเมื่อพวกนายพลทั้งหลายยังคงเป็นผู้ครอบงำรัฐวิสาหกิจทางด้านน้ำมันและก๊าซ ตลอดจนกิจการสำคัญๆ แขนงอื่นๆ ขณะที่หลักนโยบายที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงของพรรค NLD นอกเหนือจาก “การปฏิรูปทางด้านธรรมาภิบาล” แล้ว เรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะนำมาใช้ในอนาคตถือว่ามีความคลุมเครือกำกวม ไม่เพียงเท่านั้น คณะผู้นำของพรรคนี้ยังเป็นพวกที่ขาดไร้ประสบการณ์ทางธุรกิจ เหล่านี้เองจึงทำให้นักลงทุนต่างประเทศพากันชะลอการปฏิบัติการใดๆ ออกไปก่อน ถึงแม้มีความคืบหน้าในเรื่องกฎหมายใหม่ๆ ทั้งทางด้านการธนาคารและการพาณิชย์แล้วก็ตามที

ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งประกาศการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและทางการเมือง มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของต่างประเทศไหลเข้าสู่พม่าเป็นจำนวนประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคพลังงานและภาคโทรคมนาคม โดยที่จีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, และสิงคโปร์ เป็นแหล่งที่มาซึ่งใหญ่ที่สุด ส่วนพวกบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯและยุโรปนั้น แสดงความสนใจในภาคสินค้าผู้บริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ มีบริษัทจำกัดภาคเอกชนจำนวนหยิบมือหนึ่งเข้ามาเปิดกิจการโดยระดมเงินทุนทั้งจากท้องถิ่นและต่างประเทศ และก็มีธนาคารระหว่างประเทศ 9 แห่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa special economic zone) ที่ตั้งอยู่นอกนครย่างกุ้ง พวกเขาเฝ้ารอคอยให้มีการปรับปรุงยกระดับตลาดหลักทรัพย์ให้ทันสมัย เพื่อจะได้เห็นบริษัทสักสองสามแห่งเข้าจดทะเบียนในระยะเริ่มต้น ตามแบบอย่างที่ปรากฏให้เห็นมาก่อนแล้วในชาติเพื่อนบ้านติดกันอย่างกัมพูชาและลาว อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ถูกจับตามองว่ามีศักยภาพที่จะว่าจ้างแรงงานได้มากที่สุด โดยดึงดูดแรงงานค่าจ้างต่ำและทักษะความชำนาญต่ำมาจากภาคเกษตรกรรม อีกทั้งได้ทำสัญญารับจ้างผลิตกลายเป็นซัปพลายเออร์ให้แก่กิจการค้าปลีกชื่อดังๆ อย่าง แก๊ป (Gap) และ เอชแอนด์เอ็ม (H&M) อย่างไรก็ตาม พม่าเป็นประเทศที่มีประชากรถึง 50 ล้านคน ขณะที่พวกอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างเก่งก็สามารถดูดซับคนงานไปได้เพียงแค่ 250,000 คน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัญหาอันยืดเยื้อในเรื่องการขาดแคลนที่ดิน ชาดแคลนกระแสไฟฟ้า และไม่มีความสะดวกในด้านการขนส่ง การที่ประเทศนี้ยังคงอยู่อันดับท้ายๆ ของ 177 ประเทศและดินแดนที่มีการจัดอันดับเอาไว้ในรายงานความสะดวกคล่องตัวในการทำธุรกิจของธนาคารโลกประจำปี 2015 (World Bank’s 2015 Doing Business report) บ่อยครั้งทีเดียวทำให้พม่าถูกนักลงทุนตัดออกไปชนิดไม่ได้รับการพิจารณาเอาเลย

รายงานตามมาตรา 4 (Article IV report) เมื่อเดือนกันยายนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้พูดถึง “ความท้าทายต่างๆ อันก่อให้เกิดความกังวลใจ” ของพม่า ซึ่งยังคงเป็นเศรษฐกิจที่ยากจนที่สุดของภูมิภาค โดยรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น รายงานนี้ระบุว่า การค้าและกระบวนการเปิดเสรีทางการเงิน รวมทั้งการปรับปรุงยกระดับทางด้านแรงงานและโครงสร้างพื้นฐาน ต่างเริ่มต้นขึ้นมาแล้ว ทว่าภาระหน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลใหม่จะเป็นเรื่องการค้ำจุนสนับสนุนเสถียรภาพขั้นพื้นฐาน ถึงแม้มีอัตราเติบโตขยายตัวของจีดีพีอันน่าตื่นใจระดับ 8% แต่รายงานของไอเอ็มเอฟกล่าวเตือนว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้ๆ เลขสองหลักทีเดียว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ค่าเงินตราอ่อนตัวลงไปถึง 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงก่อนฤดูการเลือกตั้ง ด้านการขาดดุลทางการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับเท่ากับ 3% แ 6% ของจีดีพีตามลำดับ ธนาคารกลางยังคงต้องให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่งบประมาณแผ่นดิน และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกำลังลดลงมาเหลือเท่ากับยอดนำเข้า 3 เดือน ซึ่งถือเป็นหลักหมายของการเข้าสู่วิกฤต การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนซึ่งเริ่มต้นจากฐานที่ต่ำมาก กำลังอยู่ในภาวะเกินตัวไปแล้วด้วยอัตราขยายตัวสูงลิ่ว 35 – 50% ต่อปี ขณะที่รายรับจากก๊าซธรรมชาติได้ลดฮวบลงเนื่องจากราคาตลาดโลกต่ำลงมาก ไอเอ็มเอฟระบุว่ามีการเตรียมจัดทำกฎหมายใหม่ๆ ทั้งในด้านการธนาคาร, การพาณิชย์, และการลงทุน แต่ยังต้องรอผ่านกระบวนการพิจารณาประกาศใช้ ตลอดจนการนำเอามาบังคับใช้ในทางปฏิบัติ กระนั้น สิ่งที่น่าหนักใจคือศักยภาพในการกำกับตรวจสอบภาคการเงิน กลับอยู่ในภาวะตึงตัวมากอยู่แล้ว

ทางด้านนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงินด้านต่างๆ มีการแก้ไขปรับปรุงไปอย่างล่าช้า ทั้งๆ ที่มีโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคอย่างใหญ่โตจากพวกผู้บริจาคทั้งหลาย โดยที่มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เป็นตัวตั้งตัวตีอยู่แถวหน้าสุด รายงานของไอเอ็มเอฟกล่าวพร้อมกับชี้ว่า ได้มีการนำร่องเปิดประมูลขายตั๋วเงินคลังไปแล้ว ทว่ายังคงมีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุด อีกทั้งพวกสาขาของธนาคารต่างชาติก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมประมูล สำหรับตลาดค้าเงินตราคู่ขนานและตลาดค้าเงินตราทางการ กำลังมีการรวมตัวกลายเป็นหนึ่งเดียวในบางส่วนแล้ว ทว่าการเข้าถึงการนำเข้ายังคงถูกจำกัด ในเรื่องธนาคารพาณิชย์ การปล่อยกู้ของธนาคารถึง 90% ทีเดียวเป็นเงินกู้ระยะสั้นระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี อีกทั้งมีปัญหาเงินทุนและสภาพคล่องที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพาณิชย์ของรัฐ และธนาคารเพื่อนโยบายของภาครัฐ ขึ้นมาอย่างมากมายโดยที่ไม่มีการควบรวมกระชับตัวและการปฏิรูป ไอเอ็มเอฟมองว่า ระบบการเงินของพม่าในปัจจุบันนั้น แม้กระทั่งเมื่อมีการทยอยยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรกันไปแล้ว ก็ยังคงถูกนานาชาติลงโทษอยู่ดีในความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์เรื่องต่อต้านการฟอกเงิน คาดหมายว่าในระยะไม่กี่เดือนจากนี้ไป ผู้ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีให้ดำรงตำแหน่งสูงในงานทางเศรษฐกิจ อาจจะส่งสัญญาณให้ดำเนินการชำระสะสางภาคการธนาคารและระเบียบกฎหมายต่างๆ ซึ่งอันที่จริงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำมาตั้งนานแล้ว

ถึงแม้ อองซานซูจี ไม่ได้มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ถ้าหากเธอแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่ายินดีต้อนรับนโยบายต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ นี่ก็ยังสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงในทางธุรกิจของพม่า ซึ่งช่วงหลังๆ นี้เต็มไปด้วยความงุ่มง่ามเฉื่อยชา ให้กลับกลายเป็นความคึกคักสดใสที่แวววับจับตา

แกรี่ เอ็น. เคลแมน เป็นผู้ชำนาญการตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ และเป็นผู้บริหารบริษัทเคลแมน อินเตอร์เนชั่นแนล (Kleiman International) ในกรุงวอชิงตัน


กำลังโหลดความคิดเห็น