xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งเมียนมา และว่าที่ประธานาธิบดี มิน อ่อง ลาย

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


1. เมียนมาจะมีการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 หลังจากที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปมานาน 25 ปี

2. ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครลงเลือกตั้งทั้งสิ้น 6,065 คนจาก 93 พรรคการเมืองและเป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค (จำนวน 309 คน) โดยมีพรรคใหญ่ 2 พรรคที่เป็นตัวเก็งผู้เสนอชื่อประธานาธิบดีคนต่อไปของเมียนมาคือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ซึ่งมีตัวเก็งคือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ฯพณฯ เต็ง เส่ง (U Thein Sein) และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ซึ่งนำโดยผู้นำฝ่ายค้านปัจจุบัน นางอองซาน ซูจี (Daw Aung San Suu Kyi)

3. คนจากการสำมะโนประชากรในปี 2014 เมียนมามีประชากร 51,486,253 มีประชากรที่มีอายุเกิน 18 ปี และมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 33 ล้านคน

4. ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการเลือกตั้งใน 3 ระดับ โดยจำนวนผู้แทน 3 ใน 4 จะมาจากการเลือกตั้งในขณะที่อีก 1 ใน 4 ของทุกสภาจะมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพได้แก่

• เลือกผู้แทนราษฎรจำนวน 325 คนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) ซึ่งมีจำนวนที่นั่งทั้งหมด 440 ที่นั่ง แต่อีก 115 คนยังมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ โดยในตอนแรกมีการกำหนดว่าจะมีการเลือกตั้งทั้งหมด 330 ที่แต่เนื่องจาก 5 เขตเลือกตั้งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จึงทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง ทำให้มีการเลือกเพียง 325 ที่นั่ง
• เลือกสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 168 คนเข้าสู่วุฒิสภา (Amyotha Hluttaw) ซึ่งมีจำนวนที่นั่งทั้งสิ้น 224 ที่นั่ง โดยจะเลือกวุฒิสภาจำนวน 12 คนจากแต่ละเขต/รัฐ (เมียนมาแบ่งการปกครองออกเป็น 14 เขต/รัฐ) แต่อีก 56 ที่นั่งยังมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ
• เลือกผู้แทน 673 คน ไปยังสภาภูมิภาคและสภารัฐ (State and Region Hluttaws)

5. สมาชิกในทุกสภาของเมียนมาในปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 30 มกราคม 2016 และจะส่งมอบอำนาจแก่ผู้แทนชุดใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 โดยสมาชิกสภาจำนวน 664 คน (จากทั้งสภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) และวุฒิสภา (Amyotha Hluttaw)) จะลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 29 มีนาคม 2016 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะหมดวาระหน้าที่ และรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหารแทน
ภาพเอพี
6. ในการเลือกประธานาธิบดี จะมีตัวเลือก 3 คนซึ่งเป็นตัวแทนจาก 3 ฝ่ายนั่นคือ 1 ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากวุฒิสภา 1 ตัวแทนจากรัฐสภา และ 1 ตัวแทนจากกองทัพ โดยพรรคการเมืองที่มีสิทธิที่จะได้เสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 50% ของทั้ง 2 สภา (นั่นคือต้องมีผู้แทนจำนวนมากกว่า 332 คน) โดยผู้ที่ได้ผลการเลือกตั้งสูงสุดจากสมาชิกสภาทั้ง 664 คนจะได้เป็นประธานาธิบดี ในขณะที่อีก 2 คนจะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งน่าจะได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนเมษายน 2016

7. นั่นหมายความว่าหลังจากเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน เมียนมาจะมีสูญญากาศทางการเมืองอยู่ประมาณ 5 เดือน (พ.ย. 2015 – เม.ย. 2016) และนั่นหมายถึงการที่แต่ละพรรคและกองทัพจะต้องเจรจา ล๊อบบี้ หาเสียง ทำคะแนน และงัดเทคนิคสารพัดในการที่จะได้เสนอชื่อประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศเมียนมา

8. ซึ่งช่วงเวลานี้ ไม่น่าจะมีข้อวิตกกังวลสำหรับพรรค USDP เพราะค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าตัวแทนที่พรรคจะส่งลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคือ คุณเต็งเส่ง ซึ่งยอมรับว่าจะเข้าลงชิงตำแหน่งเพื่อเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปลดฟ้าผ่า อดีตประธานรัฐสภา Thura Shwe Mann (ตูระ ฉ่วย มาน) ตัวเก็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค USDP ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2015 เนื่องจากชิงหาเสียงก่อนเวลาอันควรและยังมีทีท่าจะประนีประนอมกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค NLD ซึ่งนำโดยคุณอองซานซูจีมากเกินไป

9. ข้อกังวลน่าจะเกิดขึ้นอย่างหนักจากทางพรรค NLD ทั้งนี้เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญเมียนมา นางอองซานซูจีซึ่งมีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ และทาง NLD เองก็ยังไม่มีตัวเลือกที่มีบารมีที่สูงเพียงพอที่จะเทียบเคียงกับทั้งคุณอองซานและคุณเต็งเส่งได้
ภาพเอพี
10. ในขณะที่เดียวกันเพื่อให้ NLD มีสิทธิในการเสนอตัวเลือกประธานาธิบดี NLD ตั้งการผู้แทนที่ชนะการเลือกตั้งถึง 332 คน ในขณะที่ USDP ต้องการเพียง 161 คนเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากโควตาสมาชิกสภาของกองทัพอีกจำนวน 171 คนย่อมสนับสนุน USDP อยู่แล้ว

11. และถ้าไปถามคนเมียนมาวันนี้ว่า NLD ของคุณอองซานซูจีจะได้คะแนนเสียงถึงขนาดได้เสียงข้างมากหรือไม่ คำตอบก็คงจะ “ยาก” อีกครับเพราะเหตุผลดังนี้

• ถ้าถามประชาชนทั่วไป แน่นอนในพื้นที่ 7 เขตที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายพม่า และอยู่ในเขตเมือง พวกเขาน่าจะเลือก NLD ของคุณอองซานครับ แต่ในอีก 7 รัฐที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย คำตอบคือ ไม่แน่ ทั้งนี้เพราะ คุณอองซานไม่เคยแสดงท่าทีเข้าอกเข้าใจและแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่าจะทำในสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยเรียกร้อง นั่นคือการยอมรับและมีสิทธิมีเสียง มีสวัสดิการอย่างที่พวกเขาสมควรได้รับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮิงญา คุณอองซานกลับเงียบและเก็บตัวผิดวิสัยของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ควรจะออกมาเรียกร้องในเรื่องสิทธิมนุษยชน หากแต่กระแสชาตินิยมที่รุนแรงในสังคมเมียนมา กลับทำให้นางเก็บตัวเงียบ และตั้งแต่ได้รับตำแหน่งผู้แทนในรัฐสภา คุณอองซานเองก็แทบจะไม่เคยเรียกร้องหรือแสดงผลงานในประเด็นที่เธอเคยต่อสู้ในสมัยที่เธอโดนควบคุมตัวภายในบ้านเลย แต่สิ่งที่เธอทำโดดเด่นอย่างมากในรัฐสภาคือ พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เธอสามารถเป็นประธานาธิบดีของประเทศได้เท่านั้น
• ถ้าไปถามนักธุรกิจเมียนมา พวกเขาก็อาจจะไม่เลือก NLD อีกนั่นแหล่ะ เพราะพวกเขามองว่า NLD ของนางอองซานไม่มีทีมงาน ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีใครเลยที่สามารถเคลมได้ว่าฉันมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการประเทศ หรือแม้แต่บริหารธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากพรรค USDP ที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ ที่พวกเขามีทีมงาน มีประสบการณ์ แน่นอนอาจจะผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ แต่อย่างน้อย ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเมียนมาก็พัฒนาขึ้นอย่างมาก การลงทุนจากต่างประเทศเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ประชาชนมีงานทำ และคนส่วนใหญ่ก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง และกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้ไม่ต้องการเปลี่ยนคนขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจกลางทาง อยากได้โมเมนตัมของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
• ถ้าไปถามทหาร แน่นอนครับ USDP อยู่แล้วเพราะคือสมัครพรรคพวก เจ้านาย ลูกน้อง อดีตผู้บังคับบัญชาของตน

ดังนั้นการที่ NLD จะชนะเลือกตั้งและได้เสียงข้างมากในสภาจึงเป็นเรื่องยากครับ
ภาพเอเอฟพี
12. คำถามต่อไปก็คือ แล้วประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาน่าจะเป็นใคร จากข้อมูลที่ผมให้มาทั้งหมดอนาคตของเมียนมาน่าจะเป็นไปได้ใน 2 ทางครับนั่นคือ

• คุณเต็งเส่งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 แต่คงเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะถ่ายโอนไปให้ตัวเก็งตัวจริงของการดำรงตำแหน่งนี้ ที่คาดว่าจะเป็นในช่วงสั้นๆ ทั้งนี้เพราะ ก่อนหน้าที่เต็งเส่งเคยปฏิเสธที่จะลงชิงตำแหน่งในสมัยที่ 2 นี้นะครับ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ โดยมีตัวตายตัวแทนอยู่คือคุณตูระ ฉ่วย มาน แต่ด้วยเหตุผลที่ผมแจ้งไปแล้วในข้อที่ 8 ทำให้แผนการนี้ไม่เกิดขึ้นครับ ดังนั้นเต็งเส่งจึงต้องกลับมา ทั้งนี้เพราะเต็งเส่งเป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนเมียนมาและประชาคมโลกครับ โดยเฉพาะบุคลิกที่นุ่มนวล ถ่อมตน และโปร่งใส ทำให้เขาต้องกลับมา เพราะตัวเก็งตัวจริงอาจจะยังมีบารมีไม่พอครับ
• ทางเลือกที่สองคือ ตัวเก็งตัวจริง ที่ถูกวางหมากโดยนายพลอาวุโสตานฉ่วยให้เป็นผู้คานอำนาจเต็งเส่งมาตั้งแต่ปี 2010 น่าจะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาในทันทีตั้งแต่ปี 2016 นี้ โดยเขาผู้นั้นคือ พลเอก มิน อ่อง ลาย (Min Aung Hlaing)

13. พลเอก มิน อ่อง ลาย คือตัวจริงครับ เขาคนนี้ถ้าไม่รับตำแหน่งประธานาธิบดีเลยทันทีในปี 2016 ก็คงไม่เกิน 2018 ครับที่เต็งเส่งจะก้าวลงจากตำแหน่งอย่างสง่างามและ มิน อ่อง ลายผู้นี้ก็จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีต่อ คำถามคือ มิน อ่อง ลาย คือใครครับ

14. มิน อ่อง ลาย เกิดเมื่อปี 1956 ในเมืองทวายครับ เข้ารับราชการทหารในปี 1974 โดยเป็นผู้บังคับบัญชาทหารในรัฐมอญ ผลงานที่โดดเด่นของ มิน อ่อง ลาย คือ การเป็นแกนหลักในการเจรจาเพื่อสงบข้อพิพาทกับกองกำลังว้า United Wa State Army (UWSA) และกองกำลังของพวกฉานตะวันออก National Democratic Alliance Army – Eastern Shan State (NDAA-ESS) ในปี 2002 เป็นผู้นำในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธของพวกฉานในเขต KoKang ติดกับชายแดนจีนในปี 2009 พอปี 2010 นายพลอาวุโสตานฉ่วยก็แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด Joint Chief of Staff of Army, Navy and Air-Force แทน นายพลตูระ ฉ่วย มาน ที่ไปดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้คุณ เต็ง เส่ง จากนั้นในปี 2011 พลเอก มิน อ่อง ลายก็เป็นผู้สร้างความตกลงระดับทวิภาคีกับกองทัพจีนในการป้องกันประเทศร่วมกัน และยังเป็นผู้เจรจากับ คุณสี จิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานาธิบดีของจีนในการสร้างความร่วมมือเพื่อปราบกองกำลังติดอาวุธในเขตคะฉิ่น ปี 2012 เขาได้รับโปรโมทให้เป็น Vice Senior General และขึ้นเป็นตำแหน่งสูงสุดในกองทัพเมียนมาในปี 2013 ด้วยตำแหน่ง Senier General และ Commander in Chief of Myanmar Defence Services

15. จริงๆ แล้วตำแหน่งของคุณมิน อ่อง ลาย ซึ่งได้รับการวางหมากไว้โดยนายพลอาวุโสตานฉ่วยคือการคานอำนาจประธานาธิบดีของประเทศเมียนมาโดยตรงครับ เพราะตำแหน่ง ผบ.สส. ของแกคือผู้แต่งตั้ง 3 ตำแหน่งรัฐมนตรีของครม.เมียนมา ได้แก่ รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย และรมว.กิจการชายแดน รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งสูงสุดในสภากลาโหมซึ่งมีอำนาจในการประกาศสภาวะฉุกเฉินและหยุดกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภทของเมียนมาได้

16. แต่อำนาจของ ผบ.สส. มิน อ่อง ลาย ที่จะกระทบต่อการเลือกตั้งเมียนมา และการเลือกประธานาธิบดีมากที่สุดก็คือ อย่างที่ผมกล่าวไว้ในข้อที่ 4 ครับ ว่าสมาชิกสภาของเมียนมาทั้งรัฐสภาและวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 4 ยังมาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพและคนที่ทำหน้าที่แต่งตั้งก็คือ เขาผู้นี้นั่นเองครับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา พลเอก มิน อ่อง ลาย

17. และในการส่งตัวแทนเข้าท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 1 ใน 3 ตัวเลือกต้องมาจากกองทัพ ก็แน่นอนครับว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา พลเอก มิน อ่อง ลาย นี่เองที่เป็นผู้ตัดสินใจ
ภาพเอพี
18. พวกเราอาจจะเคยได้ยินชื่อ มิน อ่อง ลาย มาก่อนหน้านี้ครับ เพราะในเดือน กรกฎาคม 2557 มีเทปลับหลุดออกมา 1 บทสนทนา ซึ่งเสียงของคู่สนทนาในเทปลับฟังคล้ายๆ กับเสียงนักโทษชายหนีคดีความ สนทนากับบิ๊กทหารอดีตรัฐมนตรีช่วยซักกระทรวงของประเทศไทย คุยกัน และต่างอวดกันครับว่าตนเองรู้จักและสนิทสนมกับ มิน อ่อง ลาย ซึ่งแน่นอนว่าสายทหารของ 2 ประเทศไทย-เมียนมาเขารู้จักสนิทสนมกันดีอยู่แล้วครับ แต่สำหรับคู่สนทนาที่เสียงคล้ายนักโทษชายหนีคดีกลับเคลมว่าสนิทกับมินอ่องลายมากๆ และจะให้มินอ่องลายช่วยเปิดทางและเคลียร์กับทางการเมียนมาให้เรื่องโครงการทวาย ซึ่งจนถึงวันนี้เราก็รู้กันแล้วว่าไม่จริง ไม่มีการการเคลียร์เรื่องโครงการทวายแต่อย่างใด เทปลับก็เป็นเพียงเสียงของโมฆะบุรุษที่เห่าหอนกันไปเท่านั้นเอง

19. แต่ความจริงก็คือ ประเทศไทยเรารู้จักและสนิทสนมกับ พลเอก มิน อ่อง ลาย ดีครับ เพราะผู้นำกองทัพไทยทุกเหล่ากับพลเอกมิน อ่อง ลายสนิทสนมกันในระดับยกหูโทรคุยกันได้ทุกเวลา มิน อ่อง ลายคนนี้เคยเดินทางมาประเทศไทยในเดือนมกราคม 2555 และเข้าคารวะพลเอก เปรม ประธานองคมนตรีของไทยครับ และสนทนากับพลเอกเปรมว่า พลเอกเปรมกับพ่อของเขาเกิดปีเดียวกัน เป็นทหารเหมือนกัน ตัวเขาเองคือ มิน อ่อง ลายก็ให้ความเคารพนับถือ ป๋าเปรมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เขาขอปาวารณาเป็นลูกบุญธรรมของป๋าเปรมคนหนึ่งได้หรือไม่ ซึ่งป๋าเปรมเองก็ยินดีอย่างยิ่งครับ และมิน อ่อง ลายเองก็ยังเดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยและป๋าเปรมอีกในหลายวาระครับ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หลังจาก คณะ คสช. เข้าบริหารประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 เพียง 2 เดือนหลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2557 พลเอกมิน อ่อง ลายและคณะผู้บริหารระดับสูงของกองทัพเมียนมา คือตัวแทนประเทศเพื่อนบ้านคณะแรกที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและแสดงความเชื่อมั่นในการก้าวเดินต่อไปของการปฏิรูปประเทศไทย

20. เห็นแล้วนะครับ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเมียนมาในวันที่ 8 พฤศจิกายนจะเป็นอย่างไร ชื่อของ พลเอก มิน อ่อง ลาย ก็น่าจะเป็นชื่อที่พวกเราต้องคอยติดตามจับตา และผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าความใกล้ชิดของพลเอก มิน อ่อง ลาย และประเทศไทยจะส่งผลดีกับทั้ง 2 ประเทศและประชาคมอาเซียนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น