รอยเตอร์ - ผู้เจรจาระดับสูงในการเจรจาสันติภาพพม่า กับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ ได้กล่าวหาจีน จากการหยุดชะงักของข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์หก่อนที่จะนำญี่ปุ่น และชาติตะวันตกเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์เพื่อตรวจสอบการสิ้นสุดความขัดแย้งที่ยาวนานหลายทศวรรษ
ปักกิ่ง ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็นเช่นนี้เผยให้เห็นถึงความตึงเครียดที่ขยายตัวขึ้นระหว่างจีน และชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พยายามหาทางลดการพึ่งพาปักกิ่ง และสร้างความสัมพันธ์ทั่วโลกนับตั้งแต่รัฐบาลนักปฏิรูปขึ้นบริหารประเทศในปี 2554
มิน ซอ อู เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์สันติภาพพม่า กล่าวว่า ทูตพิเศษของจีนกดดันกลุ่มกบฏสำคัญ 2 กลุ่ม ไม่ให้ลงนามข้อตกลงสันติภาพ
หลังการเข้าแทรกแซงของ ซุน กัวเซียง มีกลุ่มกบฏเพียง 8 กลุ่มจากทั้งหมด 15 กลุ่ม ที่รัฐบาลเชิญเข้าร่วมลงนามข้อตกลง ส่วนกลุ่มที่เหลือบางกลุ่มนำโดยผู้บัญชาการเชื้อชาติจีน และเคยได้รับทุน และการสนับสนุนจากปักกิ่งในช่วงอดีตที่ผ่านมา
“จีนมักกล่าวว่า พวกเขาต้องการความมั่นคง แน่นอนว่าพวกเขาต้องการเสถียรภาพแต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการที่จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ตามแนวพรมแดนจีนด้วย” มิน ซอ อู กล่าวกับรอยเตอร์
มิน ซอ อู กล่าวว่า เขาพยายามนิ่งเฉยต่อการแทรกแซงของจีนจนกระทั่งถึงเวลานี้ที่จะต้องหยุดการแทรกแซงดังกล่าว
กลุ่มกบฏ 8 กลุ่ม มีกำหนดที่จะลงนามข้อตกลงหยุดยิงในช่วงกลางเดือน ต.ค. ส่วนกลุ่มอื่นๆ จะได้รับอนุญาตให้ลงนามในภายหลัง มิน ซอ อู ระบุ แต่ยังไม่มีคำยืนยันใดๆ ว่าจะมีการเจรจารอบใหม่เกิดขึ้นหรือไม่
จีนคัดค้านเนื้อความในข้อตกลงที่จะรวมชาติตะวันตก และญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ ของบทสรุปของกระบวนการสันติภาพ มิน ซอ อู กล่าว
“ตัวเลือกพยานเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของการแข่งขันระหว่างจีน และญี่ปุ่น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประเด็นเหล่านี้จะเกิดขึ้น” ริชาร์ด ฮอร์ซีส์ นักวิเคราะห์การเมืองอิสระในนครย่างกุ้ง และอดีตเจ้าหน้าที่สหประชาชาติในพม่า กล่าว
มิตรภาพระหว่างปักกิ่ง และเพื่อนบ้านทางใต้นั้นแน่นแฟ้น เมื่อพม่าเป็นรัฐที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมนานาชาติภายใต้การปกครองของทหาร และจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของพม่าด้วยผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ และทางพาณิชย์ที่สำคัญในประเทศที่อยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย และให้การสนับสนุนลับๆ ต่อกลุ่มกบฏบางกลุ่มเพื่อให้ตนเองมีอิทธิพลในพม่า
แต่จีนได้จับตามองด้วยความวิตกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในขณะที่อิทธิพลของตัวเองกำลังลดลงเรื่อยๆ เมื่อวอชิงตันยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางประการ และสนับสนุนรัฐบาลกึ่งพลเรือนของพม่า
ปักกิ่ง ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของมิน ซอ อู ว่า จีนก้าวก่ายในกระบวนการสันติภาพของพม่า
“จีนได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่ทุกฝ่ายในพม่าเพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างผ่านกระบวนการเจรจาสันติภาพที่นำไปสู่การลงนามข้อตกลงหยุดยิงระดับชาติในเร็วๆ นี้” หง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าว
ความล้มเหลวของข้อตกลงสันติภาพที่รวมทุกฝ่าย ส่งผลกระทบต่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่หวังให้เป็นผลงาน และโอกาสของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ในการเลือกตั้งเดือนหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างพม่า และจีนย่ำแย่ลงในปีนี้เป็นผลจากการต่อสู้ระหว่างกองทัพทหารพม่าและกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) ตามแนวชายแดนที่ติดกับมณฑลหยุนหนานของจีน มีชาวจีนเสียชิวิตจากระเบิด และกระสุนปืนใหญ่ที่พลัดตกเข้าไปในฝั่งพรมแดนจีน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง
มิน ซอ อู กล่าวว่า จีนกล่าวต่อกลุ่มกบฏบางกลุ่มไม่ให้ตกลงในข้อตกลงสันติภาพจนกว่าพม่าจะเชิญกลุ่ม MNDAA เข้าร่วมในกระบวนการ นอกจากนั้น ยังได้ระบุว่า ซุน สนับสนุนกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการสนับสนุน และอาวุธจากจีน รวมทั้งองค์กรกะฉิ่นอิสระ (KIO) ที่ปฏิบัติการอยู่ในรัฐกะฉิ่นที่มีพรมแดนติดกับจีน ก็ปฏิเสธที่จะลงนาม
USWA ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกเมื่อเดือนก่อนว่า รัฐบาลของมณฑลหยุนหนานของจีนได้ร้องขอให้กลุ่มไม่ข้องเกี่ยวกับชาติตะวันตก และญี่ปุ่นในกระบวนการ
“หาก USWA ลงนามข้อตกลงก็จะเท่ากับว่าเกี่ยวข้องกับชาติตะวันตกในข้อขัดแย้งทางภาคเหนือ ดังนั้น USWA ไม่อยู่ในฐานะที่จะลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศด้วยการขัดต่อสัญญาที่มีกับมณฑลหยุยหนาน” คำแถลงของ USWA ระบุ.