รอยเตอร์/ เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสประจำไตรมาสที่ 3 ปีนี้ของจีนที่มีการเผยแพร่ล่าสุดในวันจันทร์ (19 ต.ค.) ระบุว่า เศรษฐกิจแดนมังกรที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียมีการเติบโต 6.9 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากการเติบโตที่ระดับ 7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจรอบไตรมาสที่ย่ำแย่เลวร้ายที่สุดของจีน นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา
ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนปีนี้ ถึงแม้ดีกว่าระดับ 6.8 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 50 คนของรอยเตอร์ แต่ยังคงถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อบรรดาผู้มีอำนาจในกรุงปักกิ่งที่อาจจำเป็นต้องคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแดนมังกรเพิ่มเติม ผ่านช่องทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้รอดพ้นจากช่วงเวลาแห่งการชะลอตัวที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บรรดาผู้มีอำนาจในกรุงปักกิ่งต่างพยายามให้คำมั่นกับตลาดโลกว่า จีนยัง “เอาอยู่” กับการประคับประคองเศรษฐกิจขนาดมหึมาของตน หลังต้องประกาศลดค่าเงินหยวนแบบช็อกโลกหลายระลอกติดต่อกัน รวมถึงประสบภาวะดิ่งเหวของตลาดหุ้นภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาของจีนซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2009 ที่มีการเติบโตเพียง 6.2 เปอร์เซ็นต์ น่าจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกไม่น้อยตลอดทั้งสัปดาห์นี้
ด้านนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก รวมถึง หวัง จุน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบัน China Center for International Economic Exchanges (CCIEE) ในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า การเติบโตในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ น่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่เลวร้ายย่ำแย่ที่สุดแล้วสำหรับปี 2015 และเชื่อว่า รัฐบาลจีนจะต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบขนานใหญ่ในเร็วๆ นี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ไม่น่าจะตกต่ำดำดิ่งดังเช่นไตรมาสที่ 3 อีก และน่าจะได้เห็น “การฟื้นตัวอย่างสำคัญ” แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องแม้กระทั่งช่วงไตรมาสสุดท้าย
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังคงเชื่อมั่นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกรโดยภาพรวมตลอดทั้งปีนี้ น่าจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 7 เปอร์เซ็นต์ แม้ตลอดทั้งปีนี้เศรษฐกิจแดนมังกรจะประสบปัญหานานัปการซึ่งรวมถึงการดิ่งลงของยอดการส่งออก-นำเข้า, การชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์, ระดับหนี้ที่พุ่งพรวด, ปัญหาความผันผวนของตลาดหุ้น ตลอดจน การลดค่าเงินหยวนที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกซึ่งทำให้บรรดานักวิเคราะห์ในโลกตะวันตกประเมินว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงสองไตรมาสจากนี้อาจมีการเติบโตไม่ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ คือ อาจโตได้ที่ระดับ 6.8 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ก่อนจะลดลงเหลือ 6.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2016