ปฏิเสธไม่ได้ว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ “แบล็กมันเดย์” ที่ตลาดหุ้นของจีนประสบภาวะดิ่งเหวจนพาให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเทกระจาดกราวรูดต้อนรับการเปิดตลาดซื้อขายในสัปดาห์ใหม่เมื่อวันจันทร์ (24 ส.ค.) ที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในข่าวเด่นประเด็นร้อนจากต่างแดนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากที่สุดในแทบทุกวงสนทนาในประเทศไทย
ปรากฏการณ์ “วันจันทร์ทมิฬ” ที่ว่านี้ได้ตอกย้ำให้เห็นความกังวลใจเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของจีนว่าที่แท้จริงแล้วยังเต็มไปด้วย “ความเปราะบาง” รวมถึง ความหวาดหวั่นถึงวิกฤตทางการเงินรอบใหม่ ท่ามกลางสภาวะที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าบรรดาธนาคารกลางทั้งของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และชาติในยุโรปจะอัดฉีดแคมเปญกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบขนานใหญ่กันอีกระลอก ตลอดจนกระแสข่าวที่ว่าผลของปรากฏการณ์ตลาดหุ้นดิ่งเหวทั่วโลกนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “เฟด” ต้องยอมชะลอแผนประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป
เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ช็อกโลกก็คงไม่ผิดนัก หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน ปรับรูดลงไปถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันจันทร์ (24) จนส่งผลกระทบทางจิตวิทยาที่พาให้บรรดานักลงทุนทั่วโลก ตัดสินใจกระหน่ำเทขายหุ้นในเกือบทุกตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และซ้ำเติมการซื้อขายหุ้นทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่ดัชนีมีการดิ่งลงแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 3.6-5.4 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหน้า โดยว่ากันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ทมิฬนี้ ไม่ต่างจากการดูดกำไรสะสมจากตลาดหุ้นที่สั่งสมมาไว้ตลอดช่วงขาขึ้นในปีที่ผ่านมาให้อันตรธานหายวับไปในชั่วพริบตา
แต่ที่สำคัญ คือการที่ตลาดหุ้นของบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ หรือบรรดากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ที่ต่างเผชิญกับภาวะ “กระดานแดง” โดยพร้อมหน้า จนมีคนนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศไทย ก่อนจะลุกลามขยายวงไปสู่เขตเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามามี “บทบาทที่ไม่น่าจดจำ” ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในเวลาต่อมา
ปรากฏการณ์ “แบล็กมันเดย์” หรือ “วันจันทร์ทมิฬ” ที่เกิดขึ้นล่าสุดในวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจของจีนที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียและใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกานั้น มิได้มีความแข็งแกร่งอย่างที่เราคิด เพราะถึงแม้เศรษฐกิจแดนมังกรจะรอดพ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้งในเอเชียเมื่อปี 1997 มาได้แบบไม่บอบช้ำ แต่ทว่าเศรษฐกิจของจีนกลับกลายเป็นต้นตอของความวุ่นวาย และความตื่นตระหนกในระลอกนี้ ซึ่งทำให้ทั่วโลกพากันตกตะลึงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลปักกิ่งในการฟื้นคืนความเชื่อมั่น และเสถียรภาพให้กับตลาดเงิน-ตลาดทุน ตลอดจนความล้มเหลวในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจภายในแดนมังกร ที่ชะลอตัวลงอย่างสำคัญ ซึ่งตามมาด้วยการประกาศ “ลดค่าเงินหยวน” แบบช็อกโลกไปเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้
“มรสุมแห่งข่าวร้าย” ที่ถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะผลักให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศพากันไหลบ่าออกจากแผ่นดินจีน แต่ยังนำมาซึ่งภาวะเชิงลบที่หลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่พากันลดค่าเงินของตัวเองแข่งกันแบบวันต่อวัน
สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะของความไม่เชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ เกี่ยวกับความสามารถของทางการจีนในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจภายในของตนที่กำลังเริ่มส่งผลกระทบสั่นสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะตัดสินได้ว่า โลกกำลังจะต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเงินและมรสุมลูกใหม่ทางเศรษฐกิจอีกหรือไม่ หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตในเอเชียเมื่อปี 1997 และยังไม่ทันได้ฟื้นตัวเต็มที่จากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008ที่มีต้นตอมาจากตลาดหุ้นใน “วอลล์สตรีท” ของสหรัฐอเมริกา
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักยังคงมองโลกในเชิงบวกและระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าวิกฤตรอบใหม่ และว่า เขตเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงมี “ภูมิคุ้มกัน” ซึ่งนั่นก็เป็นผลพวงโดยตรงจากบรรดามาตรการปฏิรูปและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ นำมาใช้ หลังเผชิญกับวิกฤตใหญ่ทั้ง 2 ครั้งในปี 1997 และปี 2008
ยิ่งไปกว่านั้น การที่เขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปต่างนำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ “คิวอี” มาใช้หลายระลอก รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ต่ำเตี้ยจนเฉียด 0 เปอร์เซ็นต์ ยังถือเป็น “ยาแรง” ที่ถูกนำมาใช้ในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงเวลาที่ผ่านมาซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิคุ้มกันที่ทำให้หลายฝ่ายยังเชื่อมั่นได้ว่ายังไม่ถึงเวลาที่เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับวิกฤตเป็นคำรบที่ 3 ภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 20 ปี นับตั้งแต่ปี 1997
แม้หลายฝ่ายจะยังคงมอง “โลกสวย” และเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ต้องเผชิญกับมรสุมใหญ่ลูกใหม่ แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับจากนี้ทั่วโลก คงยิ่งต้องจับจ้องทุกก้าวย่างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในจีนแบบจดจ่อโดยเฉพาะการติดตามดูผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหาของรัฐบาลปักกิ่งว่า จะได้ผลมากน้อยเพียงใดในการหยุดยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจแดนมังกรที่ส่อเค้าจะหลุดร่วงลงมา “ต่ำกว่าระดับ 6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี” ในไม่ช้านี้ จากที่เคยเติบโตแบบก้าวกระโดดในอัตรา “เฉียดเลขสองหลัก” เมื่อทศวรรษก่อนหน้า
และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในก้าวย่างของรัฐบาลปักกิ่งที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาอยู่มากที่สุดในยามนี้ คงหนีไม่พ้นความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการลดค่าเงินหยวนแบบช็อกโลกเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ และตามติดมาด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์จีน ของทางแบงก์ชาติแดนมังกร (People's Bank of China: PBOC) ที่ออกมาเมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า จะเพียงพอหรือไม่ในการหยุดยั้งภาวะพังครืนของตลาดหลักทรัพย์ และเรียกคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกให้กลับคืนมาใหม่อีกครั้ง ถึงแม้จีนกำลังเผชิญกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำเตี้ยย่ำแย่ที่สุดในรอบ 25 ปี