xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” กล่าวในเวทียูเอ็น เรียกร้องทั่วโลกพัฒนาอย่างสมดุล แนะใช้หลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” สร้าง ศก.โลกเข้มแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา   นายกรัฐมนตรีของไทยร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสหประชาชาติภายใต้หัวข้อ “Ending poverty and hunger”


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถ้อยแถลงต่อองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องทุกประเทศทั่วโลกดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาอย่างสมดุล พร้อมแนะให้ใช้หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” สร้างความเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก


รายงานข่าวล่าสุดซึ่งถูกเผยแพร่จากสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2015 หรือการประชุม “POST 2015 Summit” ที่เป็นหนึ่งในการประชุมย่อยของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น และจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ “Ending poverty and hunger”

นายกรัฐมนตรีของไทยได้เรียกร้องต่อที่ประชุม ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับ “ความสมดุลและความยั่งยืน” ทั้งนี้ ก็เพื่อขจัดปัญหาความยากจนและความอดอยากหิวโหยของประชากรโลก รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม

ในตอนหนึ่งของถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการเผยแพร่ในวันเสาร์ (26 ก.ย.) ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึงบนหลักของ “ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ และว่าการพัฒนาที่ประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนตามหลักดังกล่าวนี้ ยังมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ด้วยการสร้างงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นวัตถุนิยม - บริโภคนิยม ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย แม้ว่าสัดส่วนของคนยากจนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียงร้อยละ 10.53 ในปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างสำคัญของจำนวนคนยากจนในประเทศจากที่เคยมีสูงถึงร้อยละ 42 เมื่อปี ค.ศ. 2000 ขณะที่อัตราส่วนของการมีงานทำของคนไทย ยังสูงถึงร้อยละ 98.7 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินและทรัพยากรของประเทศ ที่อยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย

ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยที่ได้อำนาจจากการเข้าควบคุมอำนาจ โดยกองทัพ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว มีแผนจัดการชุมนุมเพื่อให้กำลังใจ แก่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลใกล้กับสำนักงานใหญ่สหประชาชาติตลอดระยะเวลา 3 วัน คือ ตั้งแต่วันเสาร์ (26) จนถึงวันจันทร์ (28) นี้

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารซึ่งนำโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อแดงยูเอสเอ” มีแผนจัดการประท้วงต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ในอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ยูเอ็นเช่นกัน

ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในนิวยอร์ก เผยว่า นายกรัฐมนตรีของไทยจะใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติคราวนี้ ในการรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนจากชาติสมาชิกให้โหวตหนุนไทยเข้าเป็น “สมาชิกแบบไม่ถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ระหว่างปี 2017 - 2018 ซึ่งรายงานข่าวล่าสุดระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา “G 77” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1964 และมีสมาชิกในปัจจุบัน 134 ประเทศ มีแนวโน้มอาจออกเสียงสนับสนุนไทยในเรื่องนี้ ระหว่างการลงมติที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2016 ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 71 ของสหประชาชาติในปีหน้า