xs
xsm
sm
md
lg

UN รับรอง “เป้าหมายพัฒนายั่งยืน 17 ประการ” มุ่งขจัดความยากจนข้นแค้นภายใน 15 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสประทานพระโอวาทแก่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 25 ก.ย.
เอเอฟพี - ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ (17 Sustainable Development Goals - SDGs) ซึ่งมุ่งขจัดความยากจนถึงขีดสุด (extreme poverty) ให้หมดไปภายใน 15 ปีนับจากนี้ โดยจะมีการระดมทุนสนับสนุนหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายด้านการพัฒนาที่วางไว้

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสซึ่งประทานพระโอวาทต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ทรงยกย่องเป้าหมายดังกล่าวว่าเป็น “สัญญาณความหวังที่สำคัญ” และทรงวิงวอนให้ผู้นำทั่วโลกร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะขจัดความยากจนข้นแค้นให้หมดไปจากโลกภายในปี 2030

“แค่คำมั่นสัญญาที่จริงจังนั้นยังไม่พอ แม้จะเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาก็ตาม... แต่จะต้องมีแผนดำเนินงานที่แน่วแน่และมาตรการที่ลงมือปฏิบัติได้ทันที”

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประกาศและวัตถุประสงค์อีก 169 ข้อซึ่งได้มติรับรองจากที่ประชุมยูเอ็นหลังผ่านการเจรจามานานถึง 3 ปี ถูกยกให้เป็นแผนขจัดความยากจนที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยจะมาแทนที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ที่จะหมดอายุลงในปีนี้ และสามารถปรับใช้ได้ทั้งกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา

ชุดเป้าหมายใหม่ของยูเอ็นมุ่งขจัดความยากจน ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี สนับสนุนการศึกษา และต่อสู้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องใช้งบประมาณอุดหนุนราว 3.5 - 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จนกระทั่งถึงปี 2030

บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เอ่ยถึงชุดเป้าหมายนี้ว่าเป็น “รายการสิ่งที่ต้องทำ (to-do list) สำหรับประชาชนและโลก” ซึ่งให้ทัศนะที่เป็นสากล ผสมผสาน และสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า”

มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานผู้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลต่างๆ ช่วยส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน ซึ่งเธอบอกว่า “เป็นการลงทุนอย่างแท้จริงที่โลกต้องการ และเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกต้องทำ”

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ซึ่งมีเวลาผ่อนคลายจากวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปชั่วคราว กล่าวชื่นชมชุดเป้าหมายใหม่ของยูเอ็น แต่ก็เตือนให้ทุกฝ่ายอย่าลืมว่าสันติภาพคือ “เงื่อนไขเบื้องต้น” ที่จะนำไปสู่การพัฒนา

ผู้นำหญิงเมืองเบียร์ระบุว่า ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพหลายล้านคนกำลังหนี “การข่มขู่และความรุนแรง” ในประเทศของพวกเขา ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องจัดการต้นตอของการอพยพ

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ซึ่งยังไม่ได้ประกาศแผนต่อสู้ปัญหาโลกร้อน ระบุว่า การช่วยเหลือพลเมืองที่ยากจนในอินเดีย “จะมีผลอย่างมหาศาลต่อการพัฒนาโลกที่สวยงามของเราอย่างยั่งยืน”

ชุดเป้าหมายใหม่ของยูเอ็นยังเรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเร่งขจัดการคอร์รัปชัน ส่งเสริมความโปร่งใส เพื่อให้รายได้ที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ถูกนำไปยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมืองอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น