“ฮิวแมนไรต์วอตช์” จ่อจัดหนัก! รัฐบาล คสช. ยื่นรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย กดดันนายกฯ ประยุทธ์ ระหว่างเดินทางร่วมประชุมเวทียูเอ็น จี้ยกเลิกใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ด้านแพทย์เข้าตรวจอาการไข้นายกฯ ย้ำไม่มีผลเดินทางคืนนี้
วันนี้ (23 ก.ย.) มีรายงานว่า นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุด และขอให้ผู้นำประเทศต่างๆ พูดอย่างตรงไปตรงมา ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมที่มหานครนิวยอร์ก ในวันที่ 29 ก.ย.นี้
เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) เว็บไซต์ฮิวแมนไรต์วอตช์ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย เพื่อนำเสนอเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council - HRC) ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)
รายงานฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ 1. อำนาจที่กว้างขวางและไร้การตรวจสอบของรัฐบาล คสช. 2. การเซ็นเซอร์และห้ามใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมตัวและชุมนุมอย่างสันติ 3. การกักกันในที่ลับและโดยพลการ และการใช้ศาลทหาร 3. การปราศจากความรับผิดต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง 4. ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5. บังคับให้บุคคลสูญหาย(อุ้มหาย) 6. ผู้ลี้ภัยและแรงงานอพยพ 7.นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม และ 8. การละเมิดสิทธิในสงครามปราบปรามยาเสพติด
รายงานดังกล่าวไม่เพียงรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังเสนอแนวทางให้กับประเทศไทย เช่น ยกเลิกใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว, รัฐบาลต้องกำหนดเวลาที่ชัดเจนเพื่อคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม, ยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติด้วยการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และมาตรา 112 และ 116 ในประมวลกฎหมายอาญา, การสร้างความมั่นใจว่ายุทธวิธีที่จัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นไปตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรม, ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยทันที โดยทีต้องปรับกฎหมายที่จำเป็นและมาตรการอื่นเพื่อสอดคล้องกับเงื่อนไขทั้งหมดก่อนให้สัตยาบัน เป็นต้น
การยื่นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review จะจัดทำทุก 5 ปี โดยล่าสุดคือเมื่อปี 2554 และจะครบกำหนดในปี 2559 โดยรัฐบาลไทยจะต้องจัดทำรายงานเพื่อเสนอไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯภายในปีนี้เช่นเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำรายงานสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อขึ้นเป็นแนวทางให้สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯตั้งคำถามต่อคณะผู้แทนประเทศไทยและพร้อมกันนั้นก็เป็นแนวทางให้ประเทศไทยปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับพันธะด้านสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศด้วย
ประเทศไทยได้เข้าสู่การทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมาแล้วหนึ่งครั้งในปี พ.ศ. 2553 (2010) และมีประเทศต่างๆ ทั่วโลก 193 ประเทศก็เข้าสู่กระบวนการ UPR แล้ว ทาง HRC จะจัดประชุม 3 ครั้งต่อปี ดังนั้นประเทศต่างๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการ UPR โดยเฉลี่ยทุก 4 ปี ในครั้งหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการ UPR อีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 25 เดือนเมษายน- พฤษภาคม 2559 (2016)
ด้าน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ตั้งใจที่จะไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ไทยยังคงเป็นเพื่อนสมาชิกที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทุกประเทศจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน
วันเดียวกัน มีรายงานว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอาการป่วยด้วยไข้หวัด เจ็บคอ จนแพทย์ต้องมาฉีดยาและให้ยาเพื่อบรรเทาอาการไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 13.10 น.วันนี้ แพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้เดินทางเข้าตรวจอาการของนายกฯ อีกครั้ง โดยเปิดเผยเพียงสั้นๆ ว่าอาการของนายกฯ ดีขึ้น วันนี้แค่มาตรวจอาการเฉยๆ เมื่อถามว่า ไม่มีผลต่อการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ใช่หรือไม่ แพทย์ตอบเพียงว่าไม่มีอะไร