xs
xsm
sm
md
lg

ฮิวแมนไรท์จัดหนักรับ"บิ๊กตู่"ขึ้นเวทีUN จี้เลิกใช้ม.44 "วิษณุ"ทาบ"มีชัย"ประธานกรธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"วิษณุ"เผยคณะทำงานวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญปี 58 กำลังหาเหตุผลทำไมถึงถูก สปช. คว่ำ ก่อนนำเสนอ ครม. และ กรธ. ประกอบการพิจารณา แย้มยังเดินหน้าทาบทาม "มีชัย" นั่งประธาน กรธ. พูดติดตลก "ท่านต้องรับ ถ้าไม่รับเดี๋ยวโดนผม" ด้าน "มาร์ค"เตือน "บิ๊กตู่" ระวังคำพูด อย่าตกหลุมสื่อต่างชาติ แนะใช้เวทียูเอ็นเสนอแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" เผยแพร่ให้โลกรู้ "ฮิวแมนไรท์วอทช์" จัดหนัก คสช. ยื่นรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย กดดันนายกฯ ช่วงร่วมประชุม พร้อมจี้เลิกใช้ ม.44 และให้คืนอำนาจประชาชน แพทย์ตรวจอาการไข้ ยันไม่มีผลต่อการเดินทาง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการตั้งคณะทำงานติดตามวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 ว่า คณะทำงานที่ตั้งขึ้น มี 3-4 คน ซึ่งมีการส่งรายงานส่วนหนึ่งมาบ้างแล้ว และไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งรายงานทั้งหมดมาให้เมื่อไร เพราะยังมีเวลาถึง 6-4 , 6-4 โดยเมื่อได้รับรายงานแล้ว ก็จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อไป

ทั้งนี้ คนที่มาประเมิน ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญ รอบรู้อะไรมาก เพราะเขาคงไม่ได้ประเมินจากความรู้สึกของเขา แต่เป็นการไปสัมภาษณ์ ไปสอบถามจากคนอื่น หรือถ้าจะให้แม่น ต้องไปสอบถามจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 247 คน

ส่วนรายงานที่ได้รับมา คนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 3 ฝ่าย

***เผยเหตุไม่รับรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดจึงต้องมีการตั้งคณะทำงานมาวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ของกมธ.ยกร่างฯ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการวิเคราะห์ว่าการที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีเหตุผลอะไร เหตุผลแรก อาจเป็นเพราะอะไรๆ ก็ไม่ชอบ อีกพวกหนึ่งอาจจะมีเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนหลักการเรื่องนั้น เรื่องนี้ อย่างไม่ชอบนายกฯ คนนอก ไม่ชอบเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อีกประเภทเป็นพวกที่ชอบทั้งหมด แต่ไม่อยากให้เลือกตั้งเร็ว แต่อยากให้เลือกตั้งช้าหน่อย เพื่อจะได้มีเวลาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ตรงส่วนนี้เป็นรายงานที่ได้รับมาแล้ว คนอื่นอาจจะไปเจออย่างอื่นมาอีก

***มั่นใจ "มีชัย" ยังไม่ปฏิเสธ

เมื่อถามว่า มีข่าวว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาปฏิเสธรับตำแหน่งประธาน กรธ. นายวิษณุ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าปฏิเสธ และไม่แน่ใจว่ารับ ตนไม่ทราบเรื่องนี้จริงๆ ไม่กล้าพูดออกไป

สำหรับการสรรหาสมาชิก กรธ. มีการสอบถามไปหลายท่าน ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่า ขอคิดก่อน ซึ่งยังมีเวลา จะได้ไม่ต้องไปคาดคั้น ถ้าหากว่า นายกฯ ไม่ได้ไปต่างประเทศ ก็ต้องให้คำตอบแล้ว แต่บังเอิญนายกฯ ไม่อยู่ ไปต่างประเทศ เลยไม่รู้จะรีบตอบไปทำไม

เมื่อถามว่า จากเฟซบุ๊ก นายมีชัย ออกมาตอบเรื่องนี้ในลักษณะไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ นายวิษณุ ตอบว่า ตนเห็นในหนังสือพิมพ์ มีคำถามไปว่า จะรับหรือไม่ ซึ่งท่านมีชัย ตอบว่า คิดดูก่อน อีกข้อหนึ่งขอทราบเหตุผล ถ้ารับเพราะอะไร และถ้าไม่รับ เพราะอะไร ก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นมีอะไร และจากคำตอบ ตนก็จะจำไว้ใช้บ้าง เวลามีคนถามจะได้ตอบว่า ต้องแสดงเหตุผลด้วยหรือ

***พูดติดตลกยังไงก็ต้องมาเป็น

นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าสื่อมีโอกาส ก็ไปจับตัวท่านมาถามเลย เพราะตนก็อยากรู้

เมื่อถามว่าจะมีการไปพูดคุยกับ นายมีชัยหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ยังไงก็ต้องเจอกันอยู่แล้ว ซึ่งความจริง บ่ายวันที่ 23 ก.ย. ตนต้องไปพบกับท่าน เพื่อประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย แต่เนื่องจากกรรมการไม่ครบองค์ประชุม เลยยกเลิก

เมื่อถามว่าจะหาโอกาสพบกับนายมีชัย หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จำเป็นต้องพบกันอยู่ดี ดูว่าจะว่าอย่างไร ซึ่งยังมีเวลา และก็กลัวเหมือนกันว่า ท่านจะถามตนอย่างที่ใครไปถามท่านว่า เพราะอะไรท่านถึงต้องรับ ที่จริงเหตุผลมีง่ายๆ ท่านต้องรับ เพราะถ้าท่านไม่รับ เดี๋ยวมาโดนที่ผม

***เผยกำลังทาบทามคนเป็น กรธ.

เมื่อถามว่า จะเริ่มเดินสายทาบทามคนที่จะมาเป็น กรธ. เมื่อไร นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อเฝ้าให้ดี บางทีตนไม่ต้องไปเดิน นั่งอยู่ตรงนี้ เรียกเข้ามาก็ได้ เห็นใครแปลกๆ เข้ามาก็นั้นแหละ วิธีนัดคนมันมีหลายวิธี ไม่ต้องลึกลับซับซ้อนอะไรมาก บางทีก็มีเรื่องที่ต้องเจอกันอยู่แล้ว ก็ถือโอกาสนั้นทาบทาบ

เมื่อถามว่าไปวันนี้เลยไหม นายวิษณุ กล่าวว่ากำลังจะไปแล้ว

เมื่อถามว่าเจอกันครั้งนี้ จะเป็นการทักทาย หรือทาบทาม นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าไม่เคยทักทาย ก็ทักทาย ถ้าทักทายแล้ว ก็ต้องทาบทาม แล้วถ้าทาบทามแล้วไม่เอาด้วย ก็ต้องทอดทิ้ง ตัวใครตัวมัน

เมื่อถามว่า เจอนายมีชัยครั้งต่อไป จะเป็นการทาบทาม ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ใช่สิ จะทักทายอะไรกันทุกวัน จะไปทาบทามแล้ว

เมื่อถามว่า สิ้นเดือนก.ย.นี้ จะได้ชื่อ กรธ.ครบทั้ง 21 คน เลยหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า แน่นอน ไม่อย่างนั้นจะเลยเวลา

*** กมธ.การเมืองถกเนื้อหารัฐธรรมนูญ

นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการ โดยขอให้แต่ละคณะอนุกรรมาธิการ ซึ่งประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการด้านระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง คณะอนุกรรมาธิการด้านการเมือง และคณะอนุกรรมาธิการด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เร่งดำเนินการหาข้อเสนอแนะต่อเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญทั้งในประเด็นที่มาของ ส.ว. ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี รวมถึงการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการความปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. เพื่อให้ทันต่อการจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นภายในวันที่ 5 ต.ค.นี้

ขณะเดียวกัน สนช. ก็ยังมีบทบาทต้องพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ สนช. 13 ฉบับ แต่มีความเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการการเมือง 8 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

**ผบ.ตร.เข้าพบ"บิ๊กตู่"ที่ทำเนียบ

วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดินทางเข้าพบ และหารือประมาณ 30 นาที ก่อนเดินทางกลับออกไป ซึ่งคาดว่าเป็นการรายงานถึงความคืบหน้าคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร ที่มีรายงานข่าวว่า ทางการมาเลเซีย จับกุมผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีดังกล่าวได้ รวมทั้งอาจมีการกำชับให้ติดตามสถานการณ์ในระหว่างที่เดินทางไปต่างประเทศ โดยให้มีการรายงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เข้าพบ


**"มาร์ค"ห่วง"บิ๊กตู่"ตกหลุมสื่อต่างชาติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จะไปปฏิบัติภารกิจที่ สหประชาชาติ ว่า เป็นโอกาสดีที่จะชี้แจงเกี่ยวกับประเทศไทย ส่วนจะทำให้ภาพลักษณ์เรื่องเผด็จการลดลง ในสายตาของนานาชาติ หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละชาติ

ทั้งนี้ อยากให้นายกฯ ระมัดระวังคำพูด เพราะหลายครั้งเหมือนพูดทีเล่นทีจริงกับนักข่าว แต่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในต่างชาติว่าไม่ให้เสรีภาพกับสื่อมวลชน จนสื่อต่างประเทศหยิบไปเป็นประเด็น ซึ่งในการเดินทางในครั้งนี้ ก็มีสื่อมวลชนต่างประเทศจำนวนมากสนใจที่จะสัมภาษณ์นายกฯ ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะชี้แจง

ส่วนกรณีที่จะมีทั้งกลุ่มต้านและกลุ่มสนับสนุนไปแสดงออกบริเวณสถานที่ประชุมนั้น เจ้าของประเทศต้องเป็นคนจัดการ ส่วนนายกฯ ก็ปฏิบัติภาระกิจของตนเอง ไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่จะแสดงออกได้ แต่ขอว่า อย่าไปทะเลาะ หรือทำอะไรผิดกฎหมาย เพราะจะเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของประเทศ แต่หากทั้งสองกลุ่มแสดงออกในขอบเขตของกฎหมาย ไม่มีความหยาบคาย หรือรุนแรงในกิริยามารยาทที่เหมาะสม ก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย

***แนะเผยแพร่เศรษฐกิจพอเพียงให้โลกรู้

เมื่อถามว่า ด้วยอารมณ์ของนายกฯ คิดว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยปกติการจัดพื้นที่ชุมนุม จะไม่รบกวนการปฏิบัติภาระกิจของนายกฯ ส่วนจะใช้โอกาสนี้พูดถึงโรดแมปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ หากมีความมั่นใจในโรดแมป ก็สามารถที่จะประกาศได้ แต่ถ้าประกาศแล้วทำไม่ได้จะส่งผลเสียมากกว่า ดังนั้นคิดว่านายกฯคงพูดได้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า การเดินทางไปครั้งนี้ มีโอกาสให้นายกฯ ได้ทำเรื่องอื่นๆ เพราะวาระการประชุม กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เป็นโอกาสดี เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน ตรงกับแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หากนายกฯ สามารถเผยแพร่แนวพระราชดำริ และยืนยันว่าประเทศไทย จะเดินในแนวทางนี้ก็จะเป็นประโยชน์ และยังมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำ นักธุรกิจ ซึ่งจะเป็นโอกาส ในการทำความเข้าใจ

***ฮิวแมนไรท์วอทช์จัดหนัก คสช.

วันเดียวกันนี้ มีรายงานว่า นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุด และขอให้ผู้นำประเทศต่างๆ พูดอย่างตรงไปตรงมา ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นกล่าวต่อที่ประชุม ที่มหานครนิวยอร์ค ในวันที่ 29 ก.ย.นี้

เว็บไซต์ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย เพื่อนำเสนอเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนของประเทศต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council-HRC) ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

รายงานฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ 1.อำนาจที่กว้างขวางและไร้การตรวจสอบของรัฐบาล คสช. 2.การเซ็นเซอร์และห้ามใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมตัวและชุมนุมอย่างสันติ 3.การกักกันในที่ลับและโดยพลการ และการใช้ศาลทหาร 3.การปราศจากความรับผิดต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง 4.ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.บังคับให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) 6.ผู้ลี้ภัยและแรงงานอพยพ 7.นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม และ 8.การละเมิดสิทธิในสงครามปราบปรามยาเสพติด

***จี้ยกเลิกม.44-คืนอำนาจประชาชน

รายงานดังกล่าวไม่เพียงรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังเสนอแนวทางให้กับประเทศไทย อาทิ ยกเลิกใช้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว , รัฐบาลต้องกำหนดเวลาที่ชัดเจนเพื่อคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม , ยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติด้วยการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 และมาตรา 112 และ 116 ในประมวลกฎหมายอาญา , การสร้างความมั่นใจว่ายุทธวิธีที่จัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นไปตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรม , ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยทันที โดยทีต้องปรับกฎหมายที่จำเป็นและมาตรการอื่นเพื่อสอดคล้องกับเงื่อนไขทั้งหมดก่อนให้สัตยาบัน เป็นต้น

ทั้งนี้ การยื่นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review จะจัดทำทุก 5 ปี โดยล่าสุด คือ เมื่อปี 2554 และจะครบกำหนดในปี 2559 โดยรัฐบาลไทยจะต้องจัดทำรายงานเพื่อเสนอไปยังคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯภายในปีนี้เช่นเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำรายงานสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อขึ้นเป็นแนวทางให้สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ตั้งคำถามต่อคณะผู้แทนประเทศไทย และพร้อมกันนั้น ก็เป็นแนวทางให้ประเทศไทยปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับพันธะด้านสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศด้วย

***"วีรชน"เผยนายกฯ ตั้งใจเข้าร่วมประชุม

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ตั้งใจที่จะไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ไทยยังคงเป็นเพื่อนสมาชิกที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยื่น และทุกประเทศจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน

***นายกฯ ป่วยไม่มีผลต่อการเดินทาง

วันเดียวกัน มีรายงานว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอาการป่วยด้วยไข้หวัด เจ็บคอ จนแพทย์ต้องมาฉีดยาและให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น เมื่อเวลาประมาณ 13.10 น. วานนี้ แพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้เดินทางเข้าตรวจอาการของนายกฯ อีกครั้ง โดยเปิดเผยเพียงสั้นๆ ว่า "อาการของนายกฯ ดีขึ้น วันนี้แค่มาตรวจอาการเฉยๆ ซึ่งก็ไม่มีอะไร"

เมื่อถามว่า ไม่มีผลต่อการเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช่หรือไม่ แพทย์ตอบเพียงว่า "ไม่มีอะไรครับ”

ทั้งนี้ ในเวลา 23.50 น. ของคืนวันที่ 23ก.ย. นายกรัฐมนตรี และภริยาพร้อมคณะมีกำหนดการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ และจะเดินทางกลับในวันที่ 1 ต.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น