xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊หน่อย” ชี้ปฏิวัติแก้ไม่ได้ อย่าตั้งธงนักการเมืองเลว “สุรินทร์” ค้านควบรวมหลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช.จัดสัมมนาพัฒนาการเมือง “กล้านรงค์” รับต้องปฏิรูปเลิกยึดอุปถัมภ์มากกว่าคุณธรรม ให้ ปชช.รู้บริหารชาติเป็นหน้าที่ “สุรินทร์” แนะเขียน กม.พรรคต้องมีอุดมการณ์ไม่ใช่ตั้งหาประโยชน์ ค้านควบรวมหลังเลือกตั้ง “สุดารัตน์” ย้อนใช้อำนาจพิเศษแก้ไม่ได้ แนะห้ามสมาชิกเป็นเจ้าของพรรค อย่าให้ทุนผูกขาด มองนโยบาย ปชช.ถูกใจก็พอ จะประชานิยมก็แล้วแต่ดักร่าง รธน.อย่าตั้งโจทย์นักการเมืองเลว แนะฟังเสียง ปชช.

วันนี้ (21 ก.ย.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนา ในหัวข้อ “การพัฒนาการเมืองเพื่อความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทย” โดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตเลขาธิการอาเซียน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย และนายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช.เข้าร่วมด้วย

นายกล้านรงค์กล่าวว่า เราต้องมองว่าความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญและเป็นรากฐานคือพรรคการเมือง ฉะนั้น พรรคการเมืองเป็นตัวหลักในการชี้และนำทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาที่ต้องมองต่อไปพรรคการเมืองในปัจจุบัน เป็นพรรคการเมืองแบบอุดมคติ ถึงเวลาแล้วที่บ้านเมืองเราต้องเดินไปสู่จุดปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง เรายึดระบบอุปถัมภ์มากกว่าคุณธรรมทำให้คนมีอุดมการณ์เข้ามาทำงานได้ยาก เพราะเรายึดคนมีอำนาจ คนมีเงินมากกว่าจึงเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น แต่ที่ตนหวังคือนักการเมืองต้องแก้ไข การปฏิรูปนั้นไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล แต่หัวใจของการปฏิรูปอยู่ที่ประชาชน เราต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการบริหารประเทศ ไม่ใช่หน้าที่หรือเป็นเรื่องของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของประชาชน รัฐบาลเป็นเพียงกลไกที่ขับเคลื่อนไปสู่จุดที่ประชาชนต้องการ ทั้งหมดนี้ความสำคัญจะอยู่ที่พรรคการเมือง

นายสุรินทร์กล่าวว่า ได้คำถามจากต่างประเทศบ่อยครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ตอบได้ว่าประเทศไทยกำลังหาจุดสมดุลใหม่ให้กับตัวเอง 83 ปีที่ผ่านมาเราถือว่าล้มเหลว 1 ปี ปีครึ่งระบบของเราไม่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ พรรคการเมืองต้องไม่ใช่พรรคชั่วครู่ชั่วยามเพื่อผลประโยชน์ ไม่ใช่พรรคข้ามคืน ไม่ใช่พรรคที่หาทางออกของประเทศชาติ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานทางออกของประชาธิปไตย รวมถึงพรรคการเมืองจะต้องไม่เป็นพาหะพิเศษเพื่อการลงทุน ไม่จัดตั้งขึ้นเพื่อฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้า แต่ต้องจัดตั้งขึ้นเพื่อดุดมการณ์ หากเรามีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชัดเจน มีวิธีมองปัญหา วิธีวิเคราะห์ปัญหาในกระบวนการประชาธิปไตยจะชัดเจนและยั่งยืน ดังนั้นพรรคการเมืองจะต้องไม่ตั้งขึ้นมาเพื่อธุรกิจพิเศษเฉพาะหน้า เพื่อการต่อรองขอเก้าอี้ เราจะกำหนดได้หรือไม่ในกฎหมายว่าจะต้องไม่มีการควบรวมยุบพรรคหลังการเลือกตั้ง เพราะการทำแบบนี้คือการหาเสียงข้างมาก ที่เป็นเหมือนใบอนุญาตไปทำอะไรก็ได้ ดังนั้น อย่าให้คะแนนเสียงของประชาชนเป็นสินค้า อย่าให้การเลือกตั้งเป็นการตลาด กรอบกฎหมายใหม่ต้องป้องกันสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญในฉบับที่กำลังจะร่างเป็นฉบับที่ 21 ของ 83 ปีประชาธิปไตยไทย บนเส้นทางประชาธิปไตย เราลองผิดลองถูกใช้เวลานาน ถ้าเปรียบก็คือบุคคลที่เข้าสู่วัยชรา เราเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ทำลายสถิติปฏิวัติรัฐประหารมากที่สุด คงโทษส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ต้องมององค์รวมว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยไทย ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรง คือ พรรคการเมือง นักการเมือง เราอยู่บนสมมติฐานที่ว่านักการเมือง พรรคการเมืองเลวจึงต้องตัดปัญหาวงจรอุบาทว์ของพรรคการเมืองและนักการเมือง เพราะเราไม่ได้เชื่อและศรัทธาในอำนาจประชาธิปไตยประชาชน แต่เชื่อว่าประชาชนยังด้อยพัฒนาไม่มีความรู้พอ เราจึงใช้วิธีพิเศษเข้ามาตัดตอนอำนาจตลอดเวลา 83 ปีเราใช้วิธีนี้มาตลอดและไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา แต่เป็นการเกิดของกับดักและหลุมดำของปัญหามากขึ้น

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า การทุจริตโกงกินเกิดต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดในรัฐบาลที่เข้มแข็ง ถ้าเราไม่แก้ปัญหาแม้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง รัฐบาลผสมก็จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ขณะนี้ปัญหาทั้งหมดเดินมาถึงจุดนี้ เราลองผิดลองถูก อย่างแรกนักการเมือง พรรคการเมืองต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องเป็นผู้ที่เริ่มต้นปฏิรูป ปฏิวัติตัวเอง ซึ่งแนวทางพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมือง คือ ต้องห้ามสมาชิกเป็นเจ้าของพรรค สมาชิกพรรคและประชาชนต้องเป็นเจ้าร่วมกัน ส่วนระบบทุนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีการผูกขาดของเจ้าของเดียว โอกาสการพัฒนาของพรรคการเมืองจะไม่เกิดขึ้น พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อนักการเมืองที่ตนนำเสนอ และนโยบายที่ต้องรับผิดและรับชอบด้วย อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลในอดีตจะต้องปฏิรูปตัวเองในโอกาสนี้ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เว้นวรรคทางการเมือง จะต้องทบทวนบทบาทและบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อวางแผนพัฒนาการเมือง และแน่นอนว่านโยบายของแต่ละพรรคที่ออกไป ต้องเป็นนโยบายที่ถูกใจ ซึ่งจะเรียกว่าประชานิยมหรือประชารัฐก็แล้วแต่ แต่ขอให้ถูกใจก็พอ และตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศ ถ้าไม่ถูกใจประชาชนก็ไม่รู้จะออกไปทำไม

“การแก้ปัญหาไม่ให้นักการเมือง ทุจริต ไม่โกงกิน ซื้อเสียงจะแก้ด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แก้ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ไม่ได้ จะเห็นว่า 83 ปี ที่ผ่านมาเราแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ได้แก้ไปแล้ว วันนี้การรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ อย่าตั้งโจทย์ว่าการเมือง นักการเมืองเลวต้องกำจัด ถ้าเรายังตั้งโจทย์เดิมกำจัดไม่ได้ ปัญหายังวนอยู่อย่างเดิม แต่ถ้าเราเปลี่ยนพยายามเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเปลี่ยนจากคำว่ากำจัดเป็นพัฒนา และใช้โอกาสการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ เป็นโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ได้ และการร่างรัฐธรรมนูญอย่าเอาแค่ความคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คน แล้วเขียนรัฐธรรมนูญ ว่าต้องกำจัดสิ่งเลวร้ายทางการเมือง เพราะถ้าหากยังคิดแบบนั้นจะหนีไม่พ้นวงจรเดิม นักการเมืองที่ดีต้องรักษาประชาธิปไตยได้ ให้ใช้ตัวรัฐธรรมนูญ ฉบับสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี เราเปลี่ยนวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญจาก กรธ.21 คนได้ด้วยการขอให้ฟังเสียงจากภาคประชาชน จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ศักดิสิทธิ์ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญ ที่บังคับใช้ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ยอมรับได้” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว



























กำลังโหลดความคิดเห็น