เอเอฟพี - เกาหลีเหนือยืนยันในวันอังคาร (15 ก.ย.) ว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของตนที่ถูกชาวโลกมองว่าเป็นแหล่งผลิตพลูโตเนียมสำหรับใช้เป็นอาวุธ ได้กลับมาดำเนินงานตามปกติอีกครั้งแล้ว
การยืนยันครั้งนี้ที่มาจากผู้อำนวยการสถาบันพลังงานปรมาณูของเกาหลีเหนือ (เออีไอ) ทำให้โลกต้องจับตาใกล้ชิด ท่ามกลางสัญญาณต่างๆ ที่มีให้เห็นมากขึ้นว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังพิจารณายิงจรวดพิสัยไกลในเดือนหน้า ซึ่งเป็นการละเมิดต่อมติของสหประชาชาติ
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเคซีเอ็นเอของเกาหลีเหนือ ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานปรมาณูระบุว่า อุปกรณ์ทุกอย่างในศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ยองเบียน ซึ่งรวมถึงเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ได้เริ่มดำเนินงานตามปกติแล้ว
เกาหลีเหนือได้หยุดการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ที่ยองเบียนเมื่อปี 2007 ภายใต้ข้อตกลงเรื่องการปลดอาวุธ แต่ได้เริ่มบูรณะเพื่อกลับมาใช้งานใหม่หลังการทดสอบนิวเคลียร์ในปี 2013
นับตั้งแต่นั้นมา จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการกลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์บางส่วนแต่ไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า หากดำเนินการเต็มที่จะมีศักยภาพมากพอสำหรับผลิตพลูโตเนียมได้ประมาณปีละ 6 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับทำระเบิดนิวเคลียร์ 1 ลูก
ผู้อำนวยการเออีไอ ผู้ซึ่งไม่เปิดเผยนาม ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์และนักเทคนิคได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณในการยับยั้งนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รวมถึงการรับมือกับมาตรฐานการเตือนภัยของสหรัฐอเมริกาในตอนนี้
"หากอเมริกาหรือกองกำลังศัตรูรายอื่นๆ ยังคงดื้อดึงใช้นโยบายมุ่งร้ายอย่างสิ้นคิด เกาหลีเหนือก็พร้อมเต็มที่ในทุกเวลา ที่จะรับมือพวกเขาด้วยอาวุธนิวเคลียร์" เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้บอกเป็นนัยว่ากำลังพิจารณายิงจรวดดาวเทียมเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งพรรคแรงงาน ในวันที่ 10 ตุลาคม
เกาหลีเหนือยืนกรานว่า การยิงจรวดดังกล่าวนั้นเป็นความตั้งใจที่จะส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรมองว่าที่จริงแล้วเป็นข้ออ้างบังหน้าสำหรับการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล