xs
xsm
sm
md
lg

4 จนท.ญี่ปุ่นพลาด สูดสารนิวเคลียร์เข้าปอด! หลังถุงพลูโตเนียมแตก ระหว่างเช็กเครื่องมือวิจัยในสถาบันนิวเคลียร์โตเกียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สถาบันวิจัยและการพัฒนาโออาราอิ
เอเจนซีส์/เอพี - เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันวิจัยพลูโตเนียมโตเกียว 4 ราย ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงเข้าสู่ร่างกายในวันอังคาร (6 มิ.ย.) ในระหว่างการตรวจเช็กเครื่องมือตามปกติ และเกิดผิดพลาด หลังถุงบรรจุสารตัวอย่างพลูโตเนียม และยูเรเนียมหนัก 300 กรัมแตก ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์รั่วไหลออกมาภายนอก หน่วยงานพลังงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่น JAEA ยอมรับ พบปอดของ 1 ใน 4 มีระดับสารพลูโตเนียมเข้มข้นตกค้างถึง 22,000 เบกเคอเรล

เจแปนไทม์สรายงานล่าสุดว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นทั้ง 4 รายถูกส่งเข้าโรงพยาบาลหลังจากพบว่า คนทั้งหมดได้รับสารกัมมันตภาพรังสีระดับสูงในระหว่างการตรวจสอบเครื่องมือตามปกติภายในสถาบันวิจัยและการพัฒนาโออาราอิ (Oarai research and development centre) ตั้งอยู่ในเขตอิบารากิ (Ibaraki) ทางเหนือของกรุงโตเกียว ในวันอังคาร (6 มิ.ย.)

โดยพบว่าสถาบันแห่งนี้อยู่ภายใต้หน่วยงานพลังงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่น JAEA ศึกษาพลูโตเนียมสำหรับพลังงานนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของเอพีชี้ว่า มีเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นถึง 5 รายได้รับการปนเปื้อนจากสถาบันแห่งนี้

ด้านโฆษก JAEA มาซะทากะ ทานิโมโต (Masataka Tanimoto) แถลงในวันพุธ (7 มิ.ย.) ยอมรับกับเอพีว่า เจ้าหน้าที่ทั้งหมดถูกตรวจพบปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงบริเวณแขนและขาจริง หลังจากถอดชุดป้องกันและอุปกรณ์ออกทั้งหมดและอาบน้ำชำระล้างแล้ว

ในแถลงการณ์ได้กล่าวต่อว่า และยังพบว่าเจ้าหน้าที่ชายรายหนึ่งถูกตรวจพบ มีสารกัมมัตภาพรังสีพลูโตเนียม 239 ในปอด ซึ่งเอพีระบุว่า พบว่าชายผู้นี้ในวัย 50 ปี และเป็นผู้เปิดฝาของบรรจุภัณฑ์สารพลูโตเนียมและยูเรเนียมราว 300 กรัมที่อยู่ภายในถุงที่แตกอีกที และทำให้สารเหล่านี้เกิดรั่วไหลออกมาสู่ด้านนอก

โดยองค์การกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่น NRA ได้ประเมินว่า เจ้าหน้าที่ชายวัย 50 ปี ได้รับสารในวันอังคาร (6 มิ.ย.) หากจะประเมินออกมา อาจเท่ากับ 12 ซีเวิร์ตในระยะเวลากว่า 50 ปี ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่นที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถรับได้ในระหว่างการทำงาน

และสอดคล้องกับแผนกแรงงานโตเกียว ที่ออกมาประเมินเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่ชายผู้นี้ที่มีระดับความเข้มข้นการปนเปื้อนสูง ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กำหนดของทางหน่วยงาน ที่ระบุว่าต้องได้รับไม่เกิน 50 มิลลิซีเวิร์ต/ปี และ 100 มิลลิซีเวิร์ต/ 5 ปี

ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 3 ราย เจแปนไทม์สรายงานว่า ถูกพบการปนเปื้อนในระดับ 14,000 เบคเคอเรล ซึ่งสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ชายวัย 50 ปีที่ได้รับสารนิวเคลียร์ในระดับสูงนั้น NRA ถือว่า “น่าวิตก” แต่อย่างใดก็ตาม ในเวลานี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดจากทั้งหมดมีอาการล้มป่วยปรากฏ แต่ทว่ายังไม่สามารถตัดประเด็นความเสี่ยงด้านการแพทย์ในระยะยาวได้

เอพีชี้ว่า ทางญี่ปุ่นกำลังสอบสวนถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น อ้างอิงจากสื่อทางการญี่ปุ่น

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุดสร้างความวิตกถึงภัยนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอีกครั้ง และทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนั้นได้รับความปลอดภัยอย่างเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

เอพีรายงานต่อว่า การถูกปนเปื้อนจากสารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ร่างกายอาจถึงขั้นมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเจ้าหน้าที่ชายวัย 50 ปีที่ถูกปนเปื้อนสารพลูโตเนียม 239 สูงในระดับ 22,000 เบกเคอเรลในปอด อาจมีผลต่อระบบปอด ที่อาจจะยังไม่ถึงกับเสียชีวิตทันที แต่ทว่าขึ้นอยู่กับระยะเวลา และเขาจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ นพ.มาโกโตะ อะคาชิ (Makoto Akashi) แพทย์ประจำสถาบันรังสีวิทยาแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Radiological Sciences) ที่เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 รายถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาเพื่อขับสารกัมมันตภาพรังสีออกจากร่าง ให้ความเห็นและกล่าวต่อว่า อ้างอิงจากเจแปนไทม์สว่า “จากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ของผม เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทั้งหมดมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคมะเร็งอย่างแน่นอน”

เอพีรายงานต่อว่า ด้านชุนอิจิ ทานากะ (Shunichi Tanaka) ประธานองค์การกำกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่น NRA (Nuclear Regulation Authority) ได้ชี้ว่า เชื่อว่าปัญหาการรั่วไหลนั้นน่าจะมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งทางหน่วยงานได้เริ่มต้นสอบสวนว่า มีการละเมิดมาตรฐานความปลอดภัยที่สถาบันที่เกิดเหตุหรือไม่

ในการให้ความเห็น เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมยังไม่เคยได้ยินไปถึงการปนเปื้อนจำนวนมากต่ออวัยวะภายในเช่นนี้มาก่อน” ซึ่งพบว่าถึงแม้เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสวมหน้ากากป้องกัน แต่อาจเป็นไปได้ที่จะสูดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าปอดได้จากช่องว่างเล็กๆระหว่างหน้ากากและใบหน้าเนื่องมาจากไม่ได้แนบสนิทเป็นเนื้อเดียว

เจแปนไทม์สรายงานว่า ในขณะที่ คูนิคาซู โนงูจิ (Kunikazu Noguchi) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันรังสีจากมหาวิทยาลัยนิฮง (Nihon) ได้ให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อเจ้าหน้าที่ชายที่ถูกพบสารพลูโตเนียมตกค้างในปอดว่า เป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบจากระดับการปนเปื้อนถึง 22,000 เบกเคอเรล เนื่องมาจากยังไม่เป็นที่แน่ชัดถึง “ปริมาณที่แท้จริงของสารกัมมันตภาพรังสี” ที่ชายผู้ที่สูดเข้าไป

และโนงูจิยังตั้งข้อสงสัยถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า ต้องมีการตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนี้ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการปฎิบัติหน้าที่สำหรับการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ***เป็นการยากที่จะเชื่อได้ว่า ถุงบรรจุสารตัวอย่างสารกัมมันตภาพรังสีจะเกิดแตกภายในบรรจุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ ศูนย์โออาราอิ ได้ ***
เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานพลังงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่น  JAEA ต้องก้มหัวขออภัยในการแถลงข่าวต่อสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นภายในสถาบันวิจัยและการพัฒนาโออาราอิ วันอังคาร(6 มิ.ย)

กำลังโหลดความคิดเห็น