xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นจับมือนักธุรกิจพังงา ผุดโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พังงา - ทุนญี่ปุ่นจับมือนักธุรกิจพังงา ทุ่ม 800 ล้านเยน ตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellet) ส่งออกญี่ปุ่น เผยเตรียมขยายเพิ่มอีก 20 แห่ง หลังเปิดที่พังงาเป็นแห่งแรก

ที่ห้างสรรพสินค้าเอ็นเค ช้อบปิ้ง มอลล์ อ.เมืองพังงา จ.พังงา นายวระชาติ ทนังผล ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท นัมเบอร์ไนน์ กรีนพาวเวอร์ จำกัด ทำพิธีลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (Joint Venture Agreement) กับ Mr.Masami Nakakubo (นายมาซามิ นากากูโบะ) Chief Executive Officer JC Services Co.,Ltd. (ประเทศญี่ปุ่น) ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellet)

ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงจากขี้เลื่อย หรือเศษวัสดุจากการผลิตไม้แปรรูปซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ยางพาราเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ในเมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น และจะเป็นโรงงานแรกในจังหวัดพังงา ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 800 ล้านเยน หรือประมาณกว่า 240 บ้านบาท โดยจะมีกำลังผลิต 250,000 ตัน/ปี

นับเป็นการใช้วัสดุจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่น มีนโยบายยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ลดการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่พลังงานจากโซลาร์เซลล์ มีข้อจำกัดด้านการใช้งานที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5 ชั่วโมงต่อวัน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นในการส่งเสริมให้ใช้พลังงานจากชีวมวล มาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายหลักของวัตถุดิบการผลิตเชื้อเพลิงพลังงาน

Mr.Masami Nakakubo (นายมาซามิ นากากูโบะ) Chief Executive Officer JC Services Co.,Ltd. (ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวว่า บริษัท JC Services จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) หรือ กลุ่ม JCS ได้ให้ความสนใจ และดำเนินการลงพื้นที่เพื่อประเมิน วิเคราะห์สถานภาพของวัตถุดิบ รวมถึงการวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ในการร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิต Wood Pellet ในประเทศไทย

โดยนำร่องโรงงานแรกในจังหวัดพังงา กำลังผลิตประมาณ 700 ตัน/วัน คาดว่าจะผลิตได้ปริมาณ 250,000 ตัน/ปี พร้อมส่งออกประมาณต้นปี 2562 และจะขยายโรงงานพื้นที่เป้าหมายประมาณ 20 โรงงาน ตามกำลังผลิตวัตถุดิบของแต่ละพื้นที่ โดยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้นั้นมีไม้ยางพารา จำนวนมากประมาณการว่า มีจำนวนกว่า 43 ล้านตันต่อปี

ด้าน นายวระชาติ ทนังผล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันเชื้อเพลิงชีวมวลมีความสำคัญในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า และจังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการผลิต ซึ่งเป็นการนำเอาวัสดุเหลือใช้จากธุรกิจการแปรรูปไม้ยางพารา และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยจะนำมาบดละเอียด อบด้วยความร้อน แล้วจึงนำไปอัดเม็ด จึงทำให้กระบวนการผลิตไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

กำลังโหลดความคิดเห็น