xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอินเดียยกเลิกแบนบะหมี่ซอง “เนสท์เล่” สั่งส่งตัวอย่างทดสอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ศาลอินเดียตัดสินยกเลิกคำสั่งห้ามจำหน่ายบะหมี่สำเร็จรูปยอดนิยมตรา “แม็กกี้” ของบริษัทเนสท์เล่ในวันนี้ (13 ส.ค.) แต่มีคำสั่งให้ทำการทดสอบเพิ่มเติมก่อนที่สินค้าตัวนี้จะสามารถกลับไปวางจำหน่ายได้อีกครั้ง

เมื่อเดือนมิถุนายนบริษัท เนสท์เล่ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลคัดค้านคำสั่งห้ามดังกล่าวที่ออกโดยหน่วยงานเฝ้าระวังความปลอดภัยทางอาหาร หลังจากที่การทดสอบโดยรัฐบางแห่งพบระดับสารตะกั่วเกินกว่าข้อกำหนดตามกฎหมาย

บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสแห่งนี้ยืนกรานเรื่อยมาว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปลอดภัยต่อการบริโภค และยังคงจำหน่ายมันอยู่ในประเทศอื่นๆ

ในคำตัดสิน ศาลสูงในเมืองมุมไบทางตะวันตกเรียกคำสั่งห้ามดังกล่าวว่า “เป็นไปตามอำเภอใจ” และระบุว่ามันขัดต่อ “หลักยุติธรรมแห่งชาติ”

“เราได้ตรวจสอบหลักฐานโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และเนื่องจากบริษัท เนสท์เล่ ผู้ยื่นคำร้องได้ตกลงแล้วที่จะไม่ผลิตและจำหน่ายแม็กกี้จนกว่าหน่วยงานด้านอาหารดังกล่าวจะพึงพอใจ ดังนั้นเราจึงไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่หน่วยงานด้านอาหาร” ผู้พิพากษา วิดยาซาการ์ คานะเด กล่าวในศาล

“เราสั่งให้บริษัท เนสท์เล่ ส่งตัวอย่าง 5 ตัวอย่างจากบะหมี่แม็กกี้แต่ละแบบไปให้ห้องแล็บ 3 แห่งทำการทดสอบ และหากเพียงพบว่าสารตะกั่วอยู่ในระดับต่ำกว่าข้อกำหนด บริษัท เนสท์เล่จะเริ่มการผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง”

หุ้นของบริษัท เนสท์เล่ อินเดีย เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์หลังจากคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งมีออกหนึ่งวันหลังจากที่ทางการอินเดียระบุว่า พวกเขากำลังเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินเกือบ 100 ล้านดอลลาร์จากบริษัทนี้ฐาน “ประกอบการค้าอย่างไม่ยุติธรรม”

รัฐบาลได้ยืนคำฟ้องกับคณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งชาติ (National Consumer Disputes Redressal Commission ) เรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 6,400 ล้านรูปี (ราว 3,500 ล้านบาท) ด้านบริษัทเนสท์เล่ตอบโต้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของพวกเขาผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดที่ห้องแล็บต่างๆ ทั้งในอินเดียและต่างประเทศ “ในแต่ละการทดสอบนั้นแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีสารตะกั่วน้อยกว่าข้อกำหนดตามกฎหมายมาก” บริษัทนี้ระบุ

เนสท์เล่อินเดียขายสินค้าตัวดังกล่าวในอินเดียมานานกว่า 30 ปีแล้ว และครองพื้นที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 80% ก่อนที่จะถูกสั่งห้ามจำหน่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น