xs
xsm
sm
md
lg

ทำพิธีเปิด‘ธนาคารของกลุ่มบริกส์’

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

BRICS bank open for business
By Asia Unhedged
21/07/2015

หลังจากล่าช้ากันมานาน 3 ปี สืบเนื่องจากความไม่ลงรอยกันในเรื่องเงินทุน การบริหาร และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ในที่สุดธนาคารแห่งใหม่ของกลุ่มบริกส์ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่” ก็เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการที่นครเซี่ยงไฮ้ ถือเป็นแบงก์เพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีแห่งที่ 2 แล้ว ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากปักกิ่งด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างหนทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากพวกสถาบันที่บริหารโดยโลกตะวันตกในปัจจุบัน

หลังจากรอคอยกันอยู่นานถึง 3 ปี ภายหลังมีการเสนอแนวความคิดเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกเมื่อปี 2012 ในที่สุดก็มีการจัดพิธีเปิดธนาคารของกลุ่มบริกส์อย่างเป็นทางการกันเสียที

กลุ่มบริกส์ (BRICS) หรือ 5 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้ (ชื่อของกลุ่ม BRICS ก็มาจากการนำอักษรตัวแรกในชื่อภาษาอังกฤษของทั้ง 5 ชาติมาวางเรียงกัน) ก็ทำพิธีเปิดแบงก์เพื่อการพัฒนาของทางกลุ่ม ซึ่งใช้นามอย่างเป็นทางการว่า “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่” (New Development Bank ใช้อักษรย่อว่า NDB) ในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานของธนาคารซึ่งตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ แบงก์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการด้านการพัฒนาในชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์

“จุดมุ่งหมายของเราไม่ใช่เพื่อท้าทายระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากแต่มุ่งปรับปรุงและเพิ่มเติมเสริมหนุนระบบดังกล่าวในแบบแผนวิถีทางของเราเอง” คุนดาปุร์ วามาน คามาธ (Kundapur Vaman Kamath) ประธานกรรมการบริหารของ NDB แถลง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่ http://in.reuters.com/article/2015/07/21/emerging-brics-bank-idINKCN0PV07Z20150721)

NDB หรือที่มักนิยมเรียกกันด้วยว่า “ธนาคารบริกส์” ถือเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีแห่งที่ 2 แล้ว ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากปักกิ่งด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างหนทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากพวกสถาบันที่บริหารโดยโลกตะวันตกในปัจจุบันอย่างเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ ธนาคารโลก แบงก์อีกแห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งมีการประกาศจัดตั้งไปเมื่อเร็วๆ นี้ และตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเซี่ยงไฮ้เช่นกัน คือ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Investment Infrastructure Bank หรือ AIIB) ซึ่งมีรัฐสมาชิกก่อตั้งรวม 57 ราย

สำหรับ NDB ในเบื้องต้นจะมีเงินทุน50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง 5 ชาติสมาชิกจะควักกระเป๋าออกเงินเท่าๆ กัน และก็จะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเท่าๆ กันด้วย เงินทุนนี้จะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากนั้น ชาติสมาชิกทั้ง 5 ของบริกส์ยังจะจัดตั้งกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่าอีก 100,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นมาด้วย โดยที่จีนให้คำมั่นสัญญาจะร่วมส่วนออกเงินแก่กองทุนสำรองนี้เป็นจำนวน 41,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บราซิล, อินเดีย, และรัสเซียจะออกรายละ 18,000 ล้านดอลลาร์ และแอฟริกาใต้จะออก 5,000 ล้านดอลลาร์

คาดหมายกันว่า NDB จะสามารถปล่อยเงินกู้ก้อนแรกได้ภายในเดือนเมษายนปีหน้า โดยที่ในพิธีเปิด คามาธแถลงว่าเขาได้พบปะกับพวกเจ้าหน้าที่ของธนาคาร AIIB เพื่อหารือถึงการทำงานบางอย่างด้วยกัน นอกจากนั้น NDB กับ AIIB จะจัดตั้งสาย “ฮอตไลน์” ขึ้นมาเพื่อปรึกษากันในเรื่องต่างๆ และกระชับสายสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในระหว่าง “สถาบันใหม่ๆ ซึ่งจัดตั้งกันขึ้นมาด้วยวิธีเข้าถึงปัญหาที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง” ทั้งนี้ตามรายงานของรอยเตอร์

ทางด้าน แคริน ฟิงเคลสตัน (Karin Finkelston) รองประธานบริหารผู้หนึ่งของธนาคารโลก บอกกับรอยเตอร์ว่า “จากจุดยืนของเรานั้น เรามีความยินดีจริงๆ ที่จะร่วมมือกับสถาบันใหม่ๆ เหล่านี้ ... ความต้องการ (ที่จะได้เงินกู้สนับสนุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในเวลานี้) นั้นมีมากมายมหาศาล” เธอบอก พร้อมกล่าวต่อไปว่า ธนาคารโลกกำลังช่วยเหลือ AIIB และ NDB ในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า ด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น