xs
xsm
sm
md
lg

จีนอาศัยแบงก์AIIBและเงินหยวน ท้าทายระเบียบศก.โลกใต้เงามะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – จากการที่จีนเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการก่อตั้งธนาคารขนาดมหึมาเพื่อทำการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย รวมทั้งมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะปลุกปั้นเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินตราระดับโลก แดนมังกรจึงกำลังกลายเป็นผู้นำในการท้าทายและยังความเพลี่ยงพล้ำปราชัยให้แก่ระเบียบเศรษฐกิจโลกซึ่งครอบงำโดยสหรัฐฯมาอย่างยาวนานถึง 70 ปีแล้ว

การก้าวผงาดขึ้นมาของปักกิ่งได้รับการยืนยันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมประจำปีภาคฤดูใบไม้ผลิ ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งเป็นสองสถาบันที่แพร่กระจายวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจของอเมริกาไปทั่วโลกนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1944

ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันคราวนี้ จิม ยอง คิม ประธานของธนาคารโลกที่อเมริกาเป็นผู้เลือกสรรให้มาดำรงตำแหน่ง ได้กล่าวยกย่องจีนที่ดำเนิน “ก้าวย่างอันกล้าหาญในทิศทางพหุภาคี” เพื่อการก่อตั้ง “ธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (AIIB) ถึงแม้หลายๆ ฝ่ายมองว่า ธนาคารใหม่แห่งนี้เป็นคู่แข่งโดยตรงของเวิลด์แบงก์ก็ตามที

คิมยังแสดงความคาดหวังว่า ธนาคารโลกและ เอไอไอบี จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการทำงาน

การแสดงท่าทีเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการดึงเอาธนาคารโลกให้ถอยห่างจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของตน ทั้งนี้สหรัฐฯและพันธมิตรใกล้ชิดอย่างญี่ปุ่น เป็นสองชาติที่ยังคงปฏิเสธไม่เข้าร่วมกับ เอไอไอบี ถึงแม้มีอีก 57 ประเทศแห่แหนสมัครแล้ว

จีนผลักดัน เอไอไอบี ซึ่งมีเป้าหมายในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วเอเชีย หลังจากอภิมหาโครงการอีกอันหนึ่งที่ตนเองสนับสนุนและประกาศออกมาในปี 2014 คือธนาคารบริกส์ (BRICS Bank) ประสบภาวะชะงักงัน

ธนาคารบริกส์ ที่จีนร่วมก่อตั้งกับอีก 4 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้นั้น มีเป้าหมายเพื่อท้าทายธนาคารโลกและ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นร่วมกันครอบงำมายาวนาน

นักวิจารณ์บางรายเกรงว่า เอไอไอบี จะแข่งขันท้าทายธนาคารโลกในการปล่อยกู้ให้ประเทศยากจน ด้วยวิธีการเสนอเงื่อนไขที่ผ่อนคลายมากกว่า ควบคู่กับการลดข้อกำหนดในการควบคุมผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นกันว่าในระยะยาวแล้วจะกลับเป็นการบ่อนทำลายมาตรฐานที่ช่วยปกป้องประชาชนผู้อ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม คริสตอฟ เดสเตส์ จากกลุ่มนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ CEPII ของฝรั่งเศส ชี้ว่า แนวทางของจีนเน้นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริงมากกว่า กล่าวคือเวลานี้ประเทศต่างๆ กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับการจัดทำโครงการสาธารณูปโภคและพลังงาน รวมถึงการสร้างโอกาสสำหรับธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศของตนเอง และนี่คือเหตุผลที่อังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกา กลับไม่ฟังการทัดทานของวอชิงตัน และตัดสินใจกระโดดร่วมวง เอไอไอบี ตั้งแต่แรกๆ

เดสเตส์เสริมว่า ในส่วนของจีนเอง ก็ต้องการมองหาช่องทางระบายกำลังการผลิตล้นเกินในอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมไปกับการบ่อนทำลายอิทธิพลของอเมริกา
<b>รัฐมนตรีคลัง เจค็อบ ลิว ของสหรัฐฯ ไปกล่าวย้ำในระหว่างการประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ ที่กรุงวอชิงตัน ว่า ไอเอ็มเอฟยังคงเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในการส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก ทำให้ถูกมองว่าเป็นตัวอย่างแสดงถึงการที่อเมริกาชักรู้สึกไม่มั่นใจในอิทธิพลของตนที่มีต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ </b>
ถึงแม้ปักกิ่งไม่ได้ถอนตัวออกจากเวิลด์แบงก์ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่ต่างเป็นสถาบันระหว่างประเทศซึ่งจัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ ที่อเมริกาและยุโรปร่วมกันวางรากฐานและครอบงำมาตั้งแต่ปี 1944 ทว่า อิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของแดนมังกรก็กำลังทำให้วอชิงตันหวาดวิตก

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (18) เจค็อบ ลิว รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ต้องกล่าวย้ำในที่ประชุมของเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ ว่า ไอเอ็มเอฟ ยังคงเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในการส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก

ท่าทีเช่นนี้ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล อ่านเกมว่า การที่วอชิงตันตั้งป้อมต่อต้าน เอไอไอบี เป็นสัญญาณใหม่ที่บ่งชี้ว่า อเมริการู้สึกไม่มั่นใจกับอิทธิพลของตัวเองในเวทีโลก

แต่ขณะเดียวกัน วอชิงตันเองก็ทำผิดพลาดกลายเป็นผู้บ่อนทำลายอำนาจของตนเองที่มีอยู่ในระบบเบรตตันวูดส์ เนื่องจากการที่รัฐสภาอเมริกันเตะถ่วงไม่ยอมให้สัตยาบันรับรองมาตรการปฏิรูปสำคัญๆ ใน ไอเอ็มเอฟ ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2010 อันจะทำให้อเมริกาต้องจ่ายสมทบเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงการเพิ่มโควตาผู้ถือหุ้นสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างจีนและอินเดีย

ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ ไอเอ็มเอฟ ถึงวันนี้ วอชิงตันยังคงขัดขวางการปฏิรูปดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อึงมี่ทั้งจากพันธมิตรและศัตรูในระบบเศรษฐกิจโลก

คำแถลงจากกลุ่มจี-24 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาติกำลังพัฒนาจำนวนมาก ในช่วงก่อนหน้าการประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ ครั้งนี้ ระบุว่า การกระทำของอเมริกาเป็นอุปสรรคต่อความน่าเชื่อถือ ความชอบธรรม และประสิทธิภาพของ ไอเอ็มเอฟ

เอไอไอบี ยังไม่ใช่แนวรบเดียวที่พญามังกรท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่มีอเมริกาเป็นศูนย์กลาง เพราะหลังจากควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดมาหลายสิบปี ขณะนี้ ปักกิ่งกำลังเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เงินหยวนของตนกลายเป็นสกุลเงินระหว่างประเทศ และกำลังร้องขอให้รวมเอาสกุลเงินของตัวเองเข้าไปในตะกร้าสกุลเงินหลักของ ไอเอ็มเอฟ ที่เรียกว่า SDR หรือ สิทธิพิเศษในการถอนเงิน

ความพยายามคราวนี้ที่อาจมีการตัดสินกันอย่างเร็วที่สุดในปี 2016 หากสำเร็จจะส่งให้เงินหยวนมีสถานะสกุลเงินโลกอย่างเป็นทางการ และเพิ่มพูนเกียรติภูมิของจีนภายใน ไอเอ็มเอฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น