xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ทำแต้มได้สวยใน‘ซัมมิตกลุ่มบริกส์’ที่เมืองอูฟา

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Russia s Putin scores points at Ufa BRICS summit
By Asia Unhedged
09/07/2015

ในการประชุมซัมมิตของกลุ่ม 5 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ของโลก (บริกส์) ที่เมืองอูฟา เมื่อกลางสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้เป็นเจ้าภาพดูจะประสบความสำเร็จ ในการผลักดันแผนการริเริ่มสำคัญยิ่ง 2 เรื่อง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ และกองทุนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของกลุ่มบริกส์

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ดูเหมือนกำลังประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตประจำปีครั้งที่ 7 ของกลุ่มบริกส์ (BRICS) มากกว่าเมื่อตอนที่เขาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชิ เมื่อปี 2014

บรรดาผู้นำของกลุ่มบริกส์ (กลุ่มชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ซึ่งเวลานี้มีสมาชิก 5 ราย ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) จัดการพบปะหารือกันในสัปดาห์นี้ที่เมืองอูฟา (Ufa) ประเทศรัสเซีย และพวกเขาสามารถคุยได้ว่าในการหารือคราวนี้ ประสบความสำเร็จใน 2 เรื่อง ซึ่งต่างเป็นแผนการริเริ่มอันใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมาของพวกเขาอีกด้วย

เรื่องแรกคือ มีการประกาศเปิดตัว ธนาคารพัฒนาใหม่ของกลุ่มบริกส์ (BRICS New Development Bank) ซึ่งต้องใช้เวลาในการเจรจาหารือกันอยู่ 3 ปีจึงสามารถผลิดอกออกผล แบงก์เพื่อการพัฒนาแห่งนี้ซึ่งจะมีเงินทุนเริ่มต้นประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ ได้รับการคาดหมายว่าจะเริ่มต้นปล่อยเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ในปีหน้า สำหรับเรื่องที่สอง ได้แก่การเปิดตัวกองทุนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมูลค่า 100,000 ดอลลาร์

ความอุตสาหะใหม่ๆ ทั้ง 2 เรื่องนี้ ยังเป็นเสมือนคำแถลงตอกย้ำว่า ชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ของโลกทั้ง 5 กำลังมีความพยายามที่จะมองออกมาหากันและกันให้มากขึ้น พร้อมๆ กับที่พวกเขากำลังเคลื่อนตัวออกจากประดาสถาบันทางการเงินที่ถูกครอบงำโดยโลกตะวันตก อย่างเช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อีกด้วย

“บรรดารัฐบริกส์มีความมุ่งมั่นที่จะใช้ทรัพยากรของพวกเขาเองและทรัพยากรภายในกลุ่มมาทำการพัฒนาด้วยความกระตือรือร้น” ปูติน ประกาศ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/07/09/emerging-brics-idUSL8N0ZP3KK20150709) เขากล่าวต่อไปว่า “แบงก์แห่งใหม่ (ธนาคารพัฒนาใหม่ของกลุ่มบริกส์) จะช่วยให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการร่วมขนาดใหญ่ๆ ทั้งในด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน ตลอดจนในการพัฒนาทางอุตสาหกรรม”

การผลักดันให้แผนการริเริ่มทั้ง 2 เรื่องนี้ ถือกำเนิดเกิดขึ้นบนแผ่นดินรัสเซีย นับเป็นเรื่องลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับปูตินทีเดียว

รัสเซียนั้นกำลังได้รับบาดเจ็บในทางเศรษฐกิจ เพราะถูกฝ่ายตะวันตกลงโทษคว่ำบาตรสืบเนื่องจากบทบาทของมอสโกในวิกฤตยูเครน ตลอดจนเพราะน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าออกสำคัญที่สุดของรัสเซียมีราคาตกฮวบ สัญญาณของความร่วมมือใหม่ๆ เหล่านี้จึงบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาดีมากๆ สำหรับรัสเซีย ผู้ซึ่งกำลังมองหาต้องการตลาดใหม่ๆ สำหรับชดเชยความเสียหายของตนที่เกิดขึ้นในยุโรป

ดูเหมือนความพากเพียรพยายามของแดนหมีขาวกำลังบังเกิดผล โดยตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า “เมื่อวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) กระทรวงการคลังรัสเซียแถลงว่า จีนได้เข้าซื้อพันธบัตรภายในประเทศของรัสเซียไปเป็นมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์แล้วในปีนี้”

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนก็กล่าวว่า เขาปรารถนาและกำลังมองหาโอกาสสำหรับการร่วมมือกันให้มากขึ้นอีกในระหว่างชาติสมาชิกกลุ่มบริกส์ ถึงแม้ในเวลาเดียวกันนั้น ประมุขแดนมังกรพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมพูดถึงเรื่องตลาดหลักทรัพย์ของแผ่นดินใหญ่ซึ่งกำลังอยู่ในอาการไหลรูด

สำหรับพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมซัมมิตกลุ่มบริกส์คราวนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เสนอแผนการริเริ่ม 10 ประการเพื่อส่งเสริมการร่วมมือประสานงานกันในระหว่าง 5 ชาติสมาชิกให้กว้างขวางและแนบแน่นยิ่งขึ้น หนึ่งในแผนการริเริ่มดังกล่าวนี้ โมดีเสนอแนะให้จัดงานแสดงสินค้าประจำปีขึ้นมา โดยที่อินเดียรับจะเป็นเจ้าภาพสำหรับปีหน้า ส่วนความริเริ่มอย่างอื่นๆ ยังมีอาทิ “การจัดตั้งศูนย์วิจัยเส้นทางรถไฟ, ความร่วมมือกันระหว่างสถาบันตรวจเงินแผ่นดินสูงสุดของแต่ละชาติ, แผนการริเริ่มทางด้านดิจิตอล, และการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางการเกษตร” ทั้งนี้ตามรายงานของเอ็นดีทีวี (NDTV) ของอินเดีย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ndtv.com/india-news/pm-modi-proposes-10-point-initiative-for-brics-nations-779866)

กลุ่มบริกส์ยังออกคำแถลงแสดงความเห็นร่วม เกี่ยวกับสถานการณ์การเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งเตหะรานกับกลุ่ม P5+1 (5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ บวกกับเยอรมนี) กำลังพูดจาต่อรองกันอยู่ โดยตามรายงานของรอยเตอร์นั้นกล่าวว่า กลุ่มบริกส์ เรียกร้อง “ให้มีการทำข้อตกลงฉบับถาวรกันโดยเร็ว ในเรื่องการลดทอนโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านลงมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการบรรเทามาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน โดยที่ในคำแถลงฉบับนี้ มีการใช้สำนวนภาษาอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการชี้หน้ากล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

ทั้งนี้กลุ่มบริกส์เรียกร้องให้ “การค้าและการลงทุนกับอิหร่านกลับคืนสู่กระบวนการตามปกติ” และระบุด้วยว่าข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น ควรต้อง “มีมาตรการอันครอบคลุมเกี่ยวกับการยกเลิกการลงโทษคว่ำบาตรที่ประกาศใช้กับอิหร่าน” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน

ชาติสมาชิกทั้ง 5 ของกลุ่มบริกส์รวมกันแล้วมีประชากรคิดเป็น 40% ของประชากรโลก และเป็นผู้ผลิตผลผลิตทางเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 20% ของโลก

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น