xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ปรับแต่ง ‘นโยบายการทูต’ เน้นสภาพความเป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

China refines diplomatic realism
By M K Bhadrakumar
28/12/2014

รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ไปกล่าวคำปราศรัยในการประชุมครั้งใหญ่ของพวกสำนักคลังสมองทางด้านวิเทศสัมพันธ์ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาเป็นการสรุปทบทวนทิศทางและความสำเร็จต่างๆ ในทางการทูตของแดนมังกรตลอดช่วงปี 2014 ทั้งนี้เขาได้พูดถึงผลงานซึ่งน่าสนใจหลายอย่างหลายประการในเอเชียด้วย กล่าวโดยองค์รวมแล้ว หวัง อี้ เสนอภาพการทูตของจีนในลักษณะที่มีความเคลื่อนไหวคึกคัก, เน้นเชิงรุก, และเข้มแข็งแน่วแน่ -- “โดยที่มีการผสมผสานลักษณะแบบจีน, ท่วงทำนองแบบจีน, และความมั่นอกมั่นใจแบบจีน เข้าไปด้วยอย่างโดดเด่น”

รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ไปกล่าวคำปราศรัยในการประชุมครั้งใหญ่ของพวกสำนักคลังสมองทางด้านวิเทศสัมพันธ์ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดคำปราศรัยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-12/26/c_133879194.htm) โดยมีเนื้อหาเป็นการสรุปทบทวนทิศทางและความสำเร็จต่างๆ ในทางการทูตของแดนมังกรตลอดช่วงปี 2014 ทั้งนี้เขาได้พูดถึงผลงานซึ่งน่าสนใจหลายอย่างหลายประการในเอเชียด้วย กล่าวโดยองค์รวมแล้ว หวัง อี้ เสนอภาพการทูตของจีน (อย่างถูกต้อง) ในลักษณะที่มีความเคลื่อนไหวคึกคัก, เน้นเชิงรุก, และเข้มแข็งแน่วแน่ -- “โดยที่มีการผสมผสานลักษณะแบบจีน, ท่วงทำนองแบบจีน, และความมั่นอกมั่นใจแบบจีน เข้าไปด้วยอย่างโดดเด่น”

ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ไหลลื่นอยู่ในคำปราศรัยครั้งนี้ ได้แก่เรื่องที่ว่า ความเจริญเติบโตและความมั่งคั่งรุ่งเรืองของจีนนั้น สามารถที่จะกลายเป็นเครื่องจักรสำหรับการส่งเสริมและการขยายความมั่นคงและเสถียรภาพของโลก โดยผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นแบบ “ชนะ” กันทุกๆ ฝ่าย

ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างไร ที่โครงการเรื่อง “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Maritime Silk Road) จะได้รับการเน้นย้ำให้อยู่ในฐานะอันทรงความสำคัญที่สุด กระนั้น สิ่งที่ถูกเน้นมากๆ ยังคงเป็นมหาทวีปยูเรเชีย หวังบอกว่าเมื่อมองกันที่ภายนอกแล้ว โครงการที่ขีดเส้นใต้สีแดงเหล่านี้ วางแผนกันขึ้นมาก็เพื่อเพิ่มความร่วมมือแบบ “ชนะกันทุกฝ่าย” ระหว่างจีนกับพวกประเทศยูเรเชีย ทว่าหากมองกันที่ภายใน “แผนการริเริ่มนี้ก็ประสานเข้ากันได้สนิทกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนที่มุ่งพัฒนาดินแดนภาคกลางและภาคตะวันตก (ของแดนมังกร) ขณะเดียวกับที่พยายามแก้ไขสภาพความไม่สมดุลระหว่างภูมิภาคต่างๆ นอกจากนั้น แผนการริเริ่มนี้ยังต่อเชื่อมได้ดีกับยุทธศาสตร์ “ก้าวสู่ระดับโลก” ของเราอีกด้วย”

หวังระบุว่า ในการทำให้ทุกๆ ฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะในโครงการเส้นทางสายไหมนี้ จะมี “การปรึกษาหารือ, การร่วมกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนกัน” ในระหว่างประเทศที่เข้าร่วม เขาบอกว่าเวลานี้มี “มากกว่า 50 ประเทศ” แล้วที่แสดงการตอบรับในทางบวก และ “ส่งสัญญาณว่าพร้อมแล้วที่จะนำเอาแผนการพัฒนาที่กำหนดเอาไว้ของพวกเขา มาจัดวางประสานแผนให้สอดคล้อง” กับโครงการเส้นทางสายไหมของฝ่ายจีน ทั้งนี้เขาบอกด้วยว่า การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructural Investment Bank) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ถือเป็นการจัดเตรียมรากฐานให้แก่เส้นทางสายไหม

รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้หยิบยกอัฟกานิสถานขึ้นมาระบุว่า เป็น “ประเด็นร้อนระดับโลก” เรื่องหนึ่ง ซึ่ง “เรา (ประเทศจีน) ได้แสดงบทบาทของเรา” นอกเหนือจากประเด็นร้อนอื่นๆ อันได้แก่ ประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน, โรคอีโบลา, ยูเครน, คาบสมุทรเกาหลี, ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล, ประเด็นปัญหาซีเรีย, และเรื่องซูดานใต้ ทว่า เขากลับใช้ท่าทีระมัดระวังอย่างมีเลศนัย ในเวลาพาดพิงถึงเรื่องจีนจะแสดงบทบาท “เชิงรุก” ในอัฟกานิสถาน อันเป็นเรื่องที่ถูกจุดกระแสขึ้นมาโดยสหรัฐฯในช่วงใกล้ๆ นี้ แล้วมีการประโคมกันอย่างตื่นเต้น อันที่จริงแล้ว เขาหลีกเลี่ยงไม่กล่าวให้ชัดเจนด้วยซ้ำว่าจีนมีความพยายามใดๆ ที่จะผลักดันให้เริ่มต้นกระบวนการสร้างสันติภาพขึ้นในอัฟกานิสถานตามที่พูดๆ กันหรือเปล่า โดย หวัง เพียงแค่เปิดปากบอกว่าจีนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของชาวอัฟกัน อีกทั้งระบุกว้างๆ ว่า จีน “ได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ” ในประเทศนั้น

ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ อาเซียน และเอเชียกลาง ได้รับความใส่ใจอย่างมากในคำปราศรัยของ หวัง ครั้งนี้ ขณะที่เขาน่าจะสร้างความตื่นตะลึงให้แก่เหล่าบัณฑิตผู้รู้ชาวอินเดีย เพราะภูมิภาคเอเชียใต้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับหลังๆ ในการจัดลำดับความสำคัญของจีน ปากีสถาน, เนปาล, และบังกลาเทศ ไม่ได้ถูกระบุชื่ออ้างอิงเอาเลย ขณะที่ มัลดีฟส์ กับ ศรีลังกา ถูกหยิบยกขึ้นมาในฐานะเป็นประเทศที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเยือนในรอบปี 2014 ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนระบุว่า ได้ส่งผลเป็นการ “เพิ่มแรงส่งอันเข้มแข็ง” ให้แก่โครงการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

ออกจะประหลาดอยู่ไม่ใช่น้อย ในเวลาที่ หวัง พูดถึงอินเดียนั้น เขาไม่ได้กล่าวในฐานะที่เป็นประเทศทางเอเชียใต้ประเทศหนึ่ง หากแต่ในฐานะที่แดนภารตะเป็นชาติสมาชิกรายหนึ่งในกลุ่มบริกส์ (BRICS) และเป็นประเทศซึ่งประธานาธิบดีสี ไปเยือน ในท่ามกลางภูมิหลังที่พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่เหล่านี้ กำลังมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับสายสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างแดนมังกรกับแดนภารตะ หวัง บอกว่า “จีนกับอินเดียเห็นพ้องต้องกันที่จะทำให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และการร่วมไม้ร่วมมือกันของพวกเขา มีการเน้นหนักในเรื่องการพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งมีการผ่าทางตันในเรื่องความร่วมมือที่ให้ผลเชิงปฏิบัติระหว่างจีนกับอินเดียอีกด้วย” คำพูดเช่นนี้สามารถถือเป็นการยกย่องแบบมุ่งเยินยอวาระเน้นหน้าการพัฒนาของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ตลอดจนคุณสมบัติแห่งการมองโลกแบบมุ่งเน้นผลทางปฏิบัติของเขา ซึ่งแสดงบทบาทในการสร้างทัศนะมุมมองของนายกรัฐมนตรีอินเดียผู้นี้ ต่อเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศจีน

ในส่วนที่ หวัง พูดถึง “การผ่าทางตัน” ใน “ความร่วมมือที่ให้ผลเชิงปฏิบัติ” กับอินเดียนั้น สันนิษฐานกันว่าสิ่งที่อยู่ในใจของเขาก็คือ การที่ฝ่ายอินเดียได้รื้อเครื่องกีดขวางทางจิตใจออกไปเป็นบางส่วนแล้ว ในเวลาขบคิดพิจารณาเรื่องการลงทุนของจีนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

ไม่ต้องสงสัยเลย นี่เป็นการประเมินในเชิงบวก ถึงแม้เป็นเพียงคะแนนบวกเล็กๆ เมื่อเปรียบเทียบกับก้าวใหญ่ๆ ในทางการทูตทางด้านอื่นๆ ซึ่งจีนสามารถทำได้โดยรวมในรอบปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น หวังบอกว่าจีนได้สร้าง “ความก้าวหน้าอันหนักแน่นมั่งคง” ในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยที่มีการทำความเข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และกำลัง “มีความก้าวหน้าใหญ่ๆ ในพื้นที่ด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง” เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การผ่อนผันเรื่องการลงตราวีซ่าให้แก่กันในลักษณะต่างตอบแทน, และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศ

ในตอนหนึ่งของคำปราศรัยนี้ หวังระบุว่า “การธำรงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ โดยไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากปัจจัยทางทหาร” จะถือเป็น “ลักษณะพื้นฐาน” ประการหนึ่ง ของเครือข่ายแห่งความเป็นหุ้นส่วน ซึ่งจีนหวังว่าจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ เพื่อที่ว่าความสัมพันธ์ระดับรัฐต่อรัฐ จะได้ดำเนินไปด้วย “ความร่วมมือกันแทนที่จะเป็นการประจันหน้ากัน และมุ่งใช้วิธีที่ทำให้ทุกๆ ฝ่ายกลายเป็นผู้ชนะ แทนที่จะใช้วิธีที่ผู้ชนะรวบกองกลางไปทั้งหมดคนเดียว “

หวังอ้างอิงคำพูดของ สี ที่กล่าวเอาไว้ว่า “พวกซึ่งมีวิสัยทัศน์อย่างเดียวกันกับเรา และเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน ก็คือ หุ้นส่วน ส่วนพวกซึ่งมองหาพื้นที่ที่สองฝ่ายสามารถร่วมไม้ร่วมมือกันได้ในเวลาที่กำลังพยายามลิดรอนความแตกต่างทั้งหลายให้ลดน้อยลงนั้น ก็สามารถที่จะเป็นหุ้นส่วนกันได้เช่นเดียวกัน” โดยที่ หวัง ประเมินว่าข้อเสนอของ สี นี้ ถือเป็น “มิติใหม่ในทฤษฎีระหว่างประเทศแบบเดิมๆ ซึ่งอิงอยู่กับการมุ่งมองโลกอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง” เขาบอกว่าจากแนวทางคิดเช่นนี้ ทำให้จีนมุ่งหน้าหาทางสร้างเครือข่ายแห่งความเป็นหุ้นส่วนขึ้นมา โดยที่ความเป็นหุ้นส่วนแต่ละหุ้นส่วน ย่อมมีลักษณะอันโดดเด่นเฉพาะตัวซึ่งปรับให้เหมาะสมกับหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะมุ่งหาทางสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมา

หวังประมาณการว่า เวลานี้จีนสามารถตกลงสร้างหุ้นส่วนขึ้นมาแล้ว 72 หุ้นส่วน “ในรูปแบบที่ผิดแผกแตกต่างกันไป และในระดับที่ผิดแผกแตกต่างกันไป” โดยเป็นการทำกับ 67 ประเทศ และ 5 ภูมิภาคหรือองค์การระดับภูมิภาค “ซึ่งครอบคลุมประเทศสำคัญๆ และภูมิภาคสำคัญๆ ของโลก”

(เก็บความจากบล็อก Indian Punchline เว็บเพจ http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2014/12/28/china-refines-diplomatic-realism/)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น