xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:ตะวันตกสะเทือน! 5 เสือ BRICS ผนึกกำลังตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนา ท้าชน “เวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นข่าวร้อนที่สร้างความฮือฮาไปทั่วทั้งโลกเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ จำนวน 5 ประเทศหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “BRICS” ซึ่งประกอบไปด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ประกาศข้อตกลงประวัติศาสตร์จัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณท้าทายโดยตรงพุ่งเป้าไปยังธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) รวมถึง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่อยู่ใต้การกุมบังเหียนของโลกตะวันตกมาช้านาน

การบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ของ “5 เสือบริกส์” เพื่อปูทางไปสู่การจัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งใหม่ถูกระบุว่า เป็นผลพวงจากความพยายามนานหลายปี ของบรรดาผู้นำชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ในการเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้เข้าถึง “เม็ดเงินฉุกเฉิน” ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤต อีกทั้งยังเป็นการสร้าง “มาตรฐานใหม่” ทางด้านธรรมาภิบาล ให้เกิดขึ้นในระบบการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่ม BRICS จึงไม่ต่างจากการที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป ถูก “ตบหน้าแบบฉาดใหญ่” เพราะการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ทั้ง 5 ชาติ เป็นการส่งสัญญาณว่า นับจากนี้ ประเทศต่างๆในโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา จะมี “ตัวเลือกใหม่” ในการเป็น “ที่พึ่งยามยาก” เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ แทนการ “บากหน้า” ไปขอกู้กับธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่ถูกมองว่า เป็นสถาบันการเงินที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ “โลกตะวันตก” มากกว่าที่จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางการเงินของทุกประเทศอย่างเท่าเทียม

เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนและรัสเซีย เคยพยายามทำหน้าที่ตัวตั้งตัวตีสำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปแบบขนานใหญ่ในเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ แต่องค์กรทางการเงินระดับโลกทั้ง 2 แห่งที่ถูกตะวันตกครอบงำอย่างเหนียวแน่นมายาวนานเกือบ 70 ปี กลับประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในการปฏิรูปองค์กรของตนเองให้กลายเป็นสถาบันการเงินที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำหน้าที่เพื่อคนทั้งโลกอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ในเวลานี้ รัสเซีย และจีนจะเลือกหันมา “ผนึกกำลัง” กับบราซิล อินเดียและแอฟริกาใต้ ตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งใหม่ขึ้นมา และเป็นธรรมดาที่สถาบันการเงินแห่งใหม่นี้จะถูกมองว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งการปลดแอกตัวเอง” ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากพันธนาการเดิมๆ ที่พวกเขาต้องคอยหวังพึ่งใบบุญจากสถาบันการเงินของโลกตะวันตกที่ มักคอยจ้องฉกฉวยผลประโยชน์บนความเดือดร้อนของประเทศต่างๆ อยู่เป็นนิจ

ในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ หรือ “BRICS SUMMIT ครั้งที่ 6” ที่จัดขึ้นในเมืองฟอร์ตาเลซาของบราซิลในระหว่างวันที่ 15–17 กรกฎาคมที่ผ่านมา บรรดาผู้นำของ 5 เสือเศรษฐกิจต่างออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันอย่างแข็งขันต่อความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในการตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งใหม่

ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ผู้นำหญิงวัย 66 ปีของบราซิล ซึ่งทำหน้าที่เจ้าภาพการประชุมสุดยอดหนนี้ กล่าวว่า สถาบันการเงินแห่งใหม่ที่ตั้งขึ้นจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างคุณค่าทางด้านธรรมาภิบาล ให้กับระบบเศรษฐกิจโลก


ขณะที่วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ถึงกับออกโรงยกย่องข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ว่า เป็นแนวทางที่ “เปี่ยมไปด้วยพลัง” ในการปกป้องนานาประเทศ ให้รอดพ้นจากหายนะทางเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

ด้านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจากแดนมังกร กล่าวกลางที่ประชุมที่บราซิล โดยตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกต้อง “มีสิทธิ์มีเสียง” อย่างเท่าเทียมกัน ในการปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงินระดับโลก แทนการ “ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม” และเงื่อนไขซึ่งไร้ความเป็นธรรมที่ถูกกำหนดขึ้นโดยน้ำมือของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศ

ทั้งนี้ สถาบันการเงินแห่งใหม่ ซึ่งจะมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการในระยะเริ่มต้นว่า “New Development Bank” หรือ “NDB” ถูกระบุว่า จะมีเงินทุนแรกเริ่มราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ในอนาคต โดยที่รัฐบาลทั้งของบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จะควักกระเป๋าจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ธนาคารแห่งใหม่นี้ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน ขณะที่ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารหรือ “ซีอีโอ” คนแรกนั้น ที่ประชุมตกลงให้เป็นสิทธิ์ของอินเดีย ส่วนที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเอ็นดีบีจะอยู่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ของจีน


ในส่วนของข้อตกลงตั้ง “กองทุนฉุกเฉิน” นั้น ที่ประชุมสุดยอดที่บราซิลเห็นพ้อง ให้ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินทุนเริ่มต้น 100,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับรับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยรัฐบาลจีนจะรับหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของกองทุนที่ว่านี้ ด้วยวงเงินราว 41,000 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยบราซิล อินเดีย และรัสเซียอีกชาติละ 18,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนแอฟริกาใต้จะร่วมสมทบทุนราว 5,000 ล้านดอลลาร์

จริงอยู่ที่ว่า อาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปีกว่าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่และกองทุนฉุกเฉินของ BRICS จะเริ่มดำเนินงานได้อย่างเป็นทางการ แต่ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นก็ถือเป็น “ความหวังใหม่” สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่อาจได้มีโอกาสในการปลดแอกตัวเองจากการครอบงำของประเทศร่ำรวยในโลกตะวันตกที่ผูกขาดครองอำนาจในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมาช้านาน และเชื่อว่าการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะผนึกกำลังกัน “เลิกง้องอนตะวันตก” คราวนี้ คงสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสหรัฐฯและยุโรปไม่น้อยทีเดียว



กำลังโหลดความคิดเห็น