xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม‘บริกส์’ เปิดตัวสถาบันแห่งใหม่ๆ เพื่อ ‘ประชาธิปไตยทางการเงิน’

เผยแพร่:   โดย: มาริโอ โอซาวา

BRICS Build New Architecture for Financial Democracy
By Mario Osava
16/07/2014

ฟอร์ตาเลซา, บราซิล - พันธมิตรกลุ่มบริกส์ (BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) ประกาศเปิดตัว “ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่” (New Development Bank ใช้อักษรย่อว่า NDB) และ ข้อตกลงจัดเตรียมกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement ใช้อักษรย่อว่า CRA) ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 6 ของพวกเขา ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินแบบใหม่สำหรับมหาอำนาจเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ให้ออกมาเป็นสถาบันรูปธรรมที่มีรูปแบบและภาระหน้าที่อันชัดเจน

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อตกลงอีก 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทางด้านสินเชื่อเพื่อการส่งออกและการค้ำประกันการส่งออก ส่วนอีกฉบับหนึ่งว่าด้วยความร่วมมือประสานงานกันในระหว่างพวกธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับชาติทั้งหลายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรม ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้โครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเงินแบบใหม่ของกลุ่มบริกส์เป็นอันครบถ้วนสมบูรณ์ ในวันประกาศสถาปนาโดยบรรดาประมุขแห่งรัฐทั้ง 5 ชาติ ณ วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม ในเมืองฟอร์ตาเลซา (Fortaleza) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

การประชุมซัมมิตของกลุ่มบริกส์คราวนี้ ปิดฉากลงในวันพุธ (16 ก.ค.) ด้วยการพบปะหารือกันระหว่างผู้นำทั้ง 5 คนกับบรรดาประธานาธิบดีของชาติสมาชิกสหภาพประชาชาติอเมริกาใต้ (Union of South American Nations ใช้อักษรย่อว่า UNASUR) โดยจัดขึ้นที่กรุงบราซิเลีย นอกจากนั้นแล้วยังมีการพบปะพูดคุยกันระดับทวิภาคีระหว่างผู้นำหลายต่อหลายคู่

ทั้ง NDB และ CRA มิได้ถูกจัดตั้งขึ้นมา “เพื่อต่อต้านคัดค้านใครทั้งสิ้น” หากแต่มุ่งประสงค์ที่จะ “ตอบสนองความจำเป็นของพวกเราเอง” นี่เป็นคำแถลงของประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) แห่งบราซิล ผู้เป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตคราวนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมภายหลังการพบปะหารือกันของเหล่าผู้นำทั้ง 5 ซึ่งนอกจาก รุสเซฟฟ์ แล้ว ยังประกอบด้วยประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย, นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) แห่งอินเดีย, ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน, และประธานาธิบดี จาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) แห่งแอฟริกาใต้

เหล่าผู้นำของกลุ่มบริกส์ ต่างปฏิเสธไม่ยอมรับการตีความที่ว่า กลไกทางการเงินเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งคัดค้านต่อต้าน หรืออย่างน้อยก็เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกขึ้นมาประชันขันแข่งกับ ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 2 สถาบันที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินโลกแห่งเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods global financial system) ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1940

หากแต่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ หรือ NDB จะเป็นกลไกเสริมพวกสถาบันทางการเงินพหุภาคีและสถาบันการเงินระดับภูมิภาคซึ่งมีอยู่แล้วในเวลานี้ ทว่าขาดไร้ทรัพยากรจนหน่วงเหนี่ยวการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา นี่เป็นเนื้อความที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาสุดท้ายของซัมมิตคราวนี้ ซึ่งลงนามรับรองโดยประมุขแห่งรัฐที่เข้าร่วมการประชุมทั้ง 5

ส่วนสำหรับ ข้อตกลงจัดเตรียมกองทุนสำรองฉุกเฉิน หรือ CRA ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างขึ้นมาจากการที่ประเทศทั้ง 5 นำเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของพวกเขาออกมาสมทบกันเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 100,000 ล้านดอลลาร์ มีลักษณะเป็นเงินตรากองกลางที่จะสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่เหล่ารัฐสมาชิก โดยที่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้กำลังจะถอนตัวออกจากไอเอ็มเอฟแต่ประการใด บรรดาผู้ขึ้นพูดในที่ประชุมสุดยอดต่างกล่าวย้ำยืนยันเช่นนี้

ทั้งนี้ ถ้าหากประเทศกลุ่มบริกส์รายหนึ่งรายใด แสดงความปรารถนาที่จะขอกู้เงินจากกองกลางนี้ในระดับเกินกว่า 30% ของยอดทั้งหมดที่ประเทศนั้นมีสิทธิกู้ได้ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้เอาชนะภัยคุกคามต่อภาวะดุลชำระเงินของตนเองแล้ว ก็จะต้องถูกพิจารณาจากไอเอ็มเอฟเพื่อกำหนดเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้อยู่ดี รัฐมนตรีคลังบราซิล กุยโด มันเตกา (Guido Mántega) แถลงแจกแจง

บราซิล, รัสเซีย, และอินเดียนั้น มีสิทธิที่จะขอถอนเงินจากกองทุนนี้ เป็นมูลค่าเท่ากับที่แต่ประเทศจ่ายสมทบอยู่ นั่นคือ รายละ 18,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่แอฟริกาใต้จะสามารถขอถอนเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าตัวของ 5,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งประเทศนี้จ่ายสมทบเข้าไปในกลไกนี้ ส่วนจีนจะถอนได้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของ 41,000 ล้านดอลลาร์ที่จ่ายสมทบ

มันเตกากล่าวย้ำว่า สถาบันแห่งใหม่ๆ เหล่านี้ จะมีบทบาทในการ “กระชับรวมศูนย์” พันธมิตรกลุ่มบริกส์ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยที่ก่อนสถาบันพวกนี้จะเริ่มดำเนินงานได้นั้น จะต้องผ่านการให้สัตยาบันรับรองจากรัฐสภาของทั้ง 5 รัฐสมาชิกบริกส์ให้ถูกต้องตามกระบวนการเสียก่อน

ขณะที่ประธานาธิบดีรุสเซฟฟ์ เน้นว่าในการจัดตั้งธนาคารและกองทุนสำรองแห่งใหม่เหล่านี้ มีการให้ความสำคัญแก่การป้องกันไม่ให้รัฐสมาชิกหนึ่งใดสามารถก้าวขึ้นอยู่ในฐานะครอบงำ โดยที่ NDB นั้น ทุกประเทศจะถือหุ้นเป็นจำนวนเท่ากัน นั่นคือชาติละ 10,000 ล้านดอลลาร์ และก็จะมีสิทธิในการออกเสียงเท่ากันด้วย ทั้งนี้จะต้องมีเพิ่มเงินทุนขึ้นเป็น 2 เท่าตัวในเวลาต่อไป

ในเรื่องตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธานธนาคาร ตลอดจนเข้านั่งในคณะกรรมการบริหาร จะมีการแต่งตั้งโดยถือหลักให้มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยน

สำหรับกองทุน CRA รัฐมนตรีคลังมันเตกา แจกแจงว่า ถึงแม้จีนจะเป็นผู้ออกเงินสมทบเป็นจำนวน 41% ของกองทุนนี้ แต่การตัดสินใจของ CRA จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และจะต้องได้รับเสียงฉันทามติทีเดียวในการเจรจาทำความตกลงปล่อยเงินก้อนโตๆ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานใหญ่ของ NDB จะตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ของจีน อีกทั้งเป็นเรื่องยากที่จะหลีกหนีไม่ให้อิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจและทางการเงินของมหาอำนาจแห่งเอเชียรายนี้ แปรเปลี่ยนกลายเป็นสภาวการณ์ที่ปักกิ่งจะมีอำนาจในการตัดสินใจ
มากกว่ารัฐสมาชิกรายอื่นๆ

คาร์ลอส ลันโกนี (Carlos Langoni) อดีตประธานธนาคารกลางบราซิล (Brazilian Central Bank) แสดงความเห็นกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ว่า ถึงแม้มีความพยายามกำหนดกันตั้งแต่เริ่มแรกเกี่ยวกับส่วนประกอบของธนาคาร NDB เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะความไม่เท่าเทียมกันขึ้นมา ทว่าเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมนั้นเอาเข้าจริงแล้วก็จะเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น โดยที่ “ในทางปฏิบัติแล้ว แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ จีนจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย”

ลันโกนี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของศูนย์เศรษฐศาสตร์โลก (World Economics Centre) อยู่ที่มูลนิธิ เกตุลิโอ วาร์กัส (Getulio Vargas Foundation) อธิบายเพิ่มเติมความคิดเห็นของเขาว่า การที่ NDB จะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มเงินทุนเริ่มแรกซึ่งมีอยู่ 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะต้องหาทางระดมทรัพยากรทางการเงินใหม่ๆ และจากการระดมทุนเช่นนี้ ตลอดจนในเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมา ประเทศที่เสนอให้เงินทุนและการค้ำประกันได้สูงที่สุด ย่อมที่จะสามารถ “แสดงบทบาทครอบงำ” เหนือรัฐสมาชิกอื่นๆ

จีนนั้นแสดงความสนใจที่จะกระจายการลงทุนของตน เข้าไปในบรรดาสถาบันพหุภาคีและสถาบันระดับภูมิภาค เช่นเดียวกับในระดับทวิภาคี โดยที่ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา แดนมังกรได้กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกาไปแล้ว

ขณะนี้ปักกิ่งได้เข้าร่วมอยู่ในกลไกทางการเงินระดับภูมิภาคหลายต่อหลายแห่ง เป็นต้นว่า แผนการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุน CRA โดยเป็นการจับมือกันระหว่างจีนกับ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน นอกจากนั้นจีนกำลังแสวงหาหนทางก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) ขึ้นมา เพื่อให้กลายเป็นทางเลือกประชันแข่งขันกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank ใช้อักษรย่อว่า ADB) ที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลครอบงำอยู่

ลันโกนี เชื่อว่า กองทุน CRA ที่อิงอยู่กับกลุ่มบริกส์ ซึ่งต่างเป็นชาติที่มี “ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่โตมหึมา” อีกทั้งมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศปริมาณมหาศาล ในระยะยาวแล้วจะสามารถ “เติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าและมีอิทธิพลบารมีสูงกว่า IMF ซึ่งเวลานี้กำลังเผชิญความยากลำบากในการระดมเพิ่มเงินทุนอยู่แล้ว สืบเนื่องจากระเบียบกฎเกณฑ์ของตนเอง”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าไอเอ็มเอฟจะยังคงเป็นองค์กรทางการเงินระดับพหุภาคีที่ทรงอำนาจที่สุดต่อไปตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า

การก้าวผงาดขึ้นมาของกลุ่มบริกส์ นับเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าโลกทุกวันนี้กำลังกลายเป็นโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ โดยที่พวกชาติพันธมิตรในกลุ่มนี้ มีทั้งที่เป็นมหาอำนาจทางการทหารอย่างรัสเซียและจีน, มหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างสองประเทศข้างต้นบวกด้วยอินเดีย, และ “พวกพอประมาณ” ที่ไม่มีความทะเยอทะยานทางการทหารอย่างบราซิลและแอฟริกาใต้

ลันโกนี อดีตประธานธนาคารกลางบราซิล แสดงทัศนะว่า การที่ซัมมิตฟอร์ตาเลซา ของกลุ่มบริกส์คราวนี้ บังเกิดความคืบหน้าในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดจนมีการก่อตั้งสถาบันร่วมของกลุ่มขึ้นมา น่าที่จะช่วยลดความตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างจีนกับอินเดีย หรือกระทั่งความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก

ในความเห็นของเขานั้น สิ่งที่เป็นตัวประสานทำให้กลุ่มนี้เกาะยึดโยงเข้าด้วยกันได้ ก็คือการที่แต่ละประเทศต่างมี “ความหงุดหงิดผิดหวังต่อการปฏิบัติการของพวกองค์กรพหุภาคีที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอเอ็มเอฟ” ในเวลาที่เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางการเงิน สืบเนื่องจากสถาบันเหล่านี้มีความสลับซับซ้อนและประกอบด้วยประเทศต่างๆ จำนวนมากมาย

ประเทศกลุ่มบริกส์สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดายกว่ามาก เมื่อมีกลไกทางการเงินทั้งหลายของพวกเขาเอง อีกทั้งยังสามารถสนองความจำเป็นเร่งด่วนของพวกรัฐสมาชิกเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิลและอินเดีย ในการเข้าลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ลันโกนีคาดการณ์

มันเตกา รัฐมนตรีคลังของบราซิล ก็ให้คำอธิบายในทำนองเดียวกันนี้ เขาบอกว่ากลุ่มบริกส์ “ได้ค้นพบอัตลักษณ์ของพวกเขา” ในระหว่างการทำงานอยู่ภายในกลุ่ม 20 ประเทศอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (จี-20) ด้วยจุดประสงค์ที่จะปกป้องรักษาการกระตุ้นส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเน้นหนักเอาแต่ใช้มาตรการตัดลดรายจ่ายอย่างเข้มงวดซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงเวลาภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกในปี 2008 ในเวลาต่อมา พวกเขาก็ขยับเข้าไปเรียกร้องต้องการให้ปฏิรูปไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็นหัวหอกในการตอบโต้วิกฤตการณ์คราวนั้น

การผลักดันให้มีการปฏิรูปบางอย่างบางประการ เพื่อเปิดทางให้พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ สามารถเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจของไอเอ็มเอฟ ได้อย่างมีสิทธิมีเสียงเพิ่มขึ้นมากนั้น ปรากฏว่าได้รับการอนุมัติรับรองจากที่ประชุมกลุ่มจี-20 ทว่าจากนั้นกลับอยู่ในภาวะชะงักงันเนื่องจากถูกขัดขวางถูกปฏิเสธจากพวกสมาชิกทรงอิทธิพลในรัฐสภาอเมริกัน

ทั้งนี้ เป็นการเผยโฉมให้เห็นว่าไอเอ็มเอฟเป็นองค์กรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง เพราะสหรัฐฯมีอำนาจที่จะวีโต้ยับยั้ง และพวกชาติอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ประเทศคือผู้มีเสียงข้างมากในการลงมติขององค์กรพหุภาคีแห่งนี้ ถึงแม้มันจะขัดแย้งอย่างเห็นๆ กับสภาวการณ์ของสายสัมพันธ์ทางพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งพวกมหาอำนาจเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่มีอิทธิพลบารมีเพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลแล้ว

การขาดไร้การปฏิรูปต่างๆ “ส่งผลกระทบในทางลบต่อความชอบธรรม, ความน่าเชื่อถือ, และประสิทธิภาพของไอเอ็มเอฟ” ดังนั้นจักต้องดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่ “การปรับปรุงโครงสร้างทางด้านการใช้อำนาจบริหารของไอเอ็มเอฟให้ทันสมัย จะได้สามารถสะท้อนอิทธิพลบารมีซึ่งกำลังเพิ่มพูนขึ้น ของบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย” นี่เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในปฏิญญาฟอร์ตาเลซา ที่ลงนามด้วยผู้นำรัฐสมาชิกกลุ่มบริกส์ทั้ง 5

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น