xs
xsm
sm
md
lg

ความเสื่อมโทรมของ ‘บราซิล’ -อภิมหาอำนาจแห่ง ‘ฟุตบอล’

เผยแพร่:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The fall of a superpower
By Pepe Escobar
10/07/2014

การที่ฟุตบอลทีมชาติบราซิลร่วงหล่นลงมาจากความรุ่งโรจน์เฟื่องฟูดังที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นความเสื่อมโทรมที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนานทีเดียว และก็เป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นกันได้ล่วงหน้า ยกเว้นแต่พวกที่กุมบังเหียนวงการนี้อยู่เท่านั้น ซึ่งได้แก่ สหพันธ์ฟุตบอลบราซิล และ “คณะกรรมการเทคนิค” ที่สหพันธ์แห่งนี้แต่งตั้งขึ้นมา โดยที่คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่ไร้ความรู้ความสามารถ, โอหังเย่อหยิ่ง/โง่เขลางี่เง่า ซึ่งเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนอย่างชัดแจ๋วใสปิ๊ง ให้เห็นถึง ความโอหังเย่อหยิ่ง/โง่เขลางี่เง่า ของชนชั้นนำทางการเมือง/ทางเศรษฐกิจ ทั้งเก่าและใหม่ของบราซิลนั่นเอง

เซาเปาลู, บราซิล – ผมเซฟภาพที่เห็นข้างบนนี้เอาไว้เพื่อใช้ในจังหวะโอกาสอันเหมาะสม ซึ่งก็คือ ณ ขณะนี้นั่นเอง

ขอเชิญพบกับหนึ่งในสรวงสวรรค์สุดแสนคลาสสิกแห่งดินแดนแถบเส้นศูนย์สูตร มันอยู่ในเมืองซานโตอันเดร (Santo Andre) ในรัฐบาเยีย (Bahia) ใกล้ๆ กับจุดที่บราซิล “ถูกค้นพบ” โดยพวกโปรตุเกสในปี 1500 ค่ายฝึกซ้อมของฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี “ทีมอินทรีเหล็ก” อยู่ตรงด้านหลังของหมู่ต้นไม้ทางซ้ายมือของภาพนี้พอดิบพอดีเลย ผมไปอยู่ที่นั่นเมื่อตอนที่ฟุตบอลโลกปีนี้เริ่มต้นขึ้นมา อันนา มาริอานี (Anna Mariani) เจ้าบ้านผู้สง่างามของผม เป็นเจ้าของบ้านพักริมชายหาดที่แสนวิเศษสุด ซึ่งตั้งอยู่ถัดมา

ค่ายฝึกซ้อมของพวกเยอรมัน ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นคอนโดริมชายหาดแห่งหนึ่ง มีลักษณะแยกออกไปเป็นส่วนตัวและได้รับการแต่งแต้มให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าจนกระทั่งสมบูรณ์เพียบพร้อม กระนั้นพวกนักฟุตบอลก็มีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ด้วยการไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง, ผูกมิตรนับพี่นับน้องกับชาวอินเดียนเผ่าปาตาโซ (Pataxo Indians), ออกมาเดินเล่นบริเวณชายหาดกันในตอนเช้า พวกเขาฝึกฝนกันอย่างหนักหน่วง ด้วยความมีวินัย, ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว, หลักจริยธรรมในการทำงาน ในเวลาเดียวกับที่ชื่นชมหลงรักทุกๆ นาทีของการที่พวกเขาได้มาอยู่ในสรวงสวรรค์ และดูดซับพิธีการแห่งวัฒนธรรมบราซิลอย่างเต็มที่ นี่เองคือจุดเริ่มต้นอันแท้จริงของกระบวนการแห่งการฉีกกระชากตัดเฉือนฟุตบอลทีมชาติบราซิลออกเป็นชิ้นๆ ด้วยประตู 7 ต่อ 1

ในขณะเดียวกันนั้น ฟุตบอลทีมชาติบราซิลคือการแสดงอันตื่นเต้นหวือหวามุ่งเรียกน้ำตาและความสะเทือนใจอย่างรุนแรงจากประชาชนประมาณ 200 ล้านคนของแดนแซมบ้า มันมีลักษณะคล้ายๆ กับละครโทรทัศน์น้ำเน่าที่ไร้ความสมมาตร โดยที่ไม่มีการใส่ใจกับเรื่องการมุมานะทำงานหนักหรือระเบียบวินัย มีแต่ความสนใจในเรื่องวูบวาบฉาบฉวยยิบยับแพงๆ (ดูผมทรงใหม่ของผมสิ!) บวกกับความรู้สึกสำนึกถือศักดิ์ศรีที่ชวนให้ตนเองสบายอกสบายใจ พวกเขาเชื่อว่าถึงอย่างไรพวกเขาก็จะเป็นผู้ชนะในบั้นปลาย เพราะตามมายาคติแห่งชาติซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันอย่างที่สุดนั้น “พระเจ้าก็เป็นชาวบราซิล”

คราวนี้มาฟังเรื่องราวที่เป็นคติสอนใจแห่งยุคโลกาภิวัตน์กันบ้าง เป็นเวลายาวนานทีเดียวตั้งแต่ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกคราวนี้แล้ว บราซิลที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอภิหาอำนาจอันเปี่ยมล้นด้วยแสนยานุภาพแห่งวงการฟุตบอล แต่ด้วยการบริหารจัดการอันผิดพลาดในทุกๆ ระดับเหมือนๆ กันหมด ก็ได้ลดฐานะตนเองลงมาจนมีบทบาทแค่ตัวรองๆ ในสภาพของผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (อย่างเช่นนักฟุตบอลที่มีความรู้ความสามารถ) ในบราซิลนั้นไม่ได้มีความคิดเกี่ยวกับการลงทุนเพื่ออนาคต ทั้งหมดทั้งสิ้นที่เห็นกันว่าสำคัญก็คือสิทธิในการถ่ายทอดโทรทัศน์อันสามารถทำกำไรงดงาม และก็กลายเป็นอภิสิทธิ์ในการทำมาหากินของพวกแก๊งมาเฟียในวงการสื่อ แต่เยอรมนีกลับเป็นตรงกันข้าม ตั้งแต่ที่พวกเขาพ่ายแพ้ในฟุตบอลโลกปี 2002 (ซึ่งก็ปราชัยต่อบราซิลนั่นเอง...) ก็ได้เร่งลงทุนในเครือข่ายโรงเรียนสถานฝึกสอนกีฬาฟุตบอลอันกว้างขวาง และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบระดับชาติในการบ่มเพาะอบรมผู้มีความสามารถ, ให้แก่ศึกษาแก่พวกเขา, และก็เตรียมพวกโคชพวกผู้ฝึกสอนให้พรักพร้อมด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้าการหยามศักดิ์ศรีอย่างแรงถึง 7-1 คราวนี้จะเริ่มต้นขึ้นประมาณ 3 ชั่วโมง ผมถูกสอบถามในร้านตัดผมประจำของผมว่าผลการแข่งขันนัดนี้น่าจะออกมาอย่างไร ผมตอบกลับไปทันทีว่า “เยอรมันชนะ 4-0” ทุกๆ คนต่างตื่นตะลึงกันหมด ครับ ผมบินเข้ามาจากเอเชียและจากนั้นก็ยุโรป เพื่อเฝ้าติดตามฟุตบอลโลกในบราซิล เสมือนหนึ่งว่าผมกำลังติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับสงคราม และสิ่งที่ผมสงสัยข้องใจในตอนต้นๆ ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นจริง ในขณะที่ละครบีบน้ำตาเรื่องนี้เริ่มต้นเผยแบคลายปมออกมา

ทุกๆ สัญญาณที่ปรากฏ ต่างบ่งบอกชี้ให้เห็นว่า นักฟุตบอลทีมชาติบราซิล อยู่ในสภาพของกลุ่มเศรษฐีเยาว์วัยผู้ไร้ความมั่นคงในทางจิตวิทยา และพร้อมที่จะแตกระเบิดจากภายใน --พวกเขาเฉียดใกล้ภาวะเช่นนี้ตั้งตั้งตอนที่แข่งขันกับทีมชิลี และจากนั้นก็ในตอนที่เล่นกับทีมโคลอมเบีย ในที่สุดสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นมาจนได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 นาทีเมื่อเยอรมนีทำประตูได้ถึง 4 ลูก และเพียงแค่นาที 29 ของการแข่งขัน ทีมแกร่งจากยุโรปทีมนี้ก็เป็นผู้นำด้วยประตู 5-0

เซอร์ไพรซ์หรือ? ไม่ถึงกับอย่างนั้นเสียทีเดียวหรอก บราซิลนั้นเลิกเล่นฟุตบอลแบบ “โจโก โบนิโต (jogo bonito) หรือ “เกมอันสวยงาม” (the beautiful game) มานานแล้ว ภายหลังที่สร้างทีมซึ่งแสนมหัศจรรย์อย่างนั้นขึ้นมาในปี 1970 แล้วจากนั้นทีมยอดเยี่ยมที่สุดของพวกเขาก็ไม่สามารถชนะอะไรได้เลยในปี 1982 นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 บราซิลในฐานะที่เป็นบ้านเกิดของ โจโก โบนิโต กลายเป็นเพียงมายาภาพอีกประการหนึ่งของประเทศนี้ และมีค่าเป็นเพียงแค่กลเม็ดอันประณีตทางการตลาดอย่างหนึ่ง (ด้วยฝีมือของ “ไนกี้”) ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ ชาวบราซิลเอาแต่ใหลหลงได้ปลื้มกับการหลอกตนเอง ในการยกย่องเชิดชูแนวความคิด ที่ว่า “เราคือแชมเปี้ยน” ซึ่งจัดว่าเป็นแบรนด์ราคาถูกๆ อย่างหนึ่งของลัทธิชาตินิยมนั่นเอง

จวบจนกระทั่งความอหังการเช่นนี้ถูกเผยให้เห็นโฉมหน้าอันน่าชัง และเยอรมนีต่างหากกลายเป็นผู้ที่ทวงสิทธิ์ในการอวดอ้างเป็นเจ้าของฟุตบอลแบบ โจโก โบนิโต อันแท้จริง ทั้งด้วยการส่งลูกแบบเฉียบขาดได้เสีย, การจบสกอร์อย่างสุดยอด, และการเล่นถ่ายบอลแบบสามเหลี่ยมที่เต็มไปด้วยสไตล์

ทีมบราซิลต้องตกเข้าสู่ความวิบัติชวนสยอง ทีแรกสุดทีเดียวเนื่องจากเหตุผลทางแท็กติก/เทคนิค ทีมฟุตบอลทีมนี้ขาดไร้ผู้เล่นมิดฟิลด์ที่จะสามารถต่อสู้กับมิดฟิลด์ดีเยี่ยมที่สุดบนพื้นพิภพได้ เราควรที่จะต้องประณามว่าเป็นความผิดของผู้กุมบังเหียนวงการนี้ของแดนแซมบ้า ซึ่งก็คือ สหพันธ์ฟุตบอลบราซิล และ “คณะกรรมการเทคนิค” ที่พวกเขาแต่งตั้งขึ้นมา โดยที่คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่ไร้ความรู้ความสามารถ, โอหังเย่อหยิ่ง/โง่เขลางี่เง่า ซึ่งเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนอย่างชัดแจ๋วใสปิ๊ง ให้เห็นถึง ความโอหังเย่อหยิ่ง/โง่เขลางี่เง่า ของชนชั้นนำทางการเมือง/ทางเศรษฐกิจ ทั้งเก่าและใหม่ของบราซิลนั่นเอง ช่างเหมือนกันมากเหลือเกินกับการที่ตำรวจบราซิล เข้าทลายแก๊งขายตั๋วตลาดมืดในเมืองรีโอเดจาเนโร ซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับบริษัทหนึ่งในเครือฟีฟ่า ทว่ากลับพลาดแก๊งมาเฟียใหญ่อีกแก๊งหนึ่ง --เป็นพวกที่แตกแขนงแฝงตัวอยู่ตามซอกหลืบของวงการฟุตบอลบราซิลนั่นแหละ

คณะกรรมการเทคนิค ได้จัดการแถลงข่าวภายหลังความพ่ายแพ้อันทำร้ายจิตใจอย่างเลวร้ายของทีมชาติ ในวันเดียวกับที่ อาร์เจนตินา กับ ฮอลแลนด์ แข่งขันชิงชัยกันแบบทีมผู้ใหญ่กับผู้ใหญ่ ซึ่งแม้ต่อเวลาออกไปเป็น 120 นาทีก็ยังคงเสมอกัน 0-0 (จากนั้นก็ต้องใช้การเตะลูกโทษมาตัดสิน) การแถลงข่าวคราวนี้ทำให้ผมหวนคิดถึงตอนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) กำลังพยายามแก้เนื้อแก้ตัวหลังจากถูกเปิดโปงกรณีการทารุณกรรมนักโทษชาวอิรักในคุก อบู กรออิบ (Abu Ghraib) “โอ้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาอย่างผิดธรรมดาเท่านั้น” แต่ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ พวกขี้ขลาดตาขาวชาวบราซิลซึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ เหล่านี้ ไม่อาจยอมรับได้หรอกว่า ความหายนะคราวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบขั้นตอน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความปราชัยยับเยินถึง 7-1 คราวนี้ จะส่งผลสะท้านสะเทือนทางการเมืองสะท้อนไปมาไม่รู้สิ้นสุด มันจะส่งผลไกลเลยออกไปจากฝูงชนชาวบราซิล (ผิวขาว) ซึ่งมีเงินทองเพียงพอที่จะจับจ่ายซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขันของฟีฟ่า ขณะเดียวกันก็กำลังหยามหยันการใช้จ่ายงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลกำไรอันงดงามของฟีฟ่า จากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มหกรรมการแข่งขันคราวนี้ (ผลกำไรดังกล่าวคือ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี) โดยที่ผู้ที่จ่ายเงินก้อนนี้ก็คือคนท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่พวกเขาต้องเป็นผู้ควักค่าใช้จ่ายโดยรวมของการจัดการแข่งขัน (ซึ่งมีมูลค่าถึง 13,600 ล้านดอลลาร์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบเงินก้อนมหึมานี้ กับงบประมาณการลงทุนอันจิ๊บจ๊อยในด้านการศึกษา, บริการสาธารณูปโภคต่างๆ, การคมนาคมขนส่งในเขตชุมชนเมือง, โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ยังขาดแคลนอย่างน่าใจหาย ขณะเดียวกันนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นกันได้เลย

การถูกเหยียดหยามในเชิงกีฬาระดับโลกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่จะจดจำกันได้ในคราวนี้ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มอาการโรคความโอหังเย่อหยิ่ง/โง่เขลางี่เง่า (และความรู้สึกถือศักดิ์ศรี) อันเป็นเครื่องหมายการค้าของพวกชนชั้นนำชาวบราซิล ในเวลาเดียวกันนั้น คุณย่อมไม่สามารถมุ่งมาดปรารถนาที่จะผงาดขึ้นเป็น “อภิมหาอำนาจ” รายหนึ่งในกลุ่มบริกส์ (BRICS กลุ่มชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่) ได้หรอก เมื่ออัตลักษณ์ของตัวคุณเองซึ่งสร้างขึ้นมาโดยอิงอาศัยกีฬาฟุตบอล กำลังถูกบ่อนทำลายโดยพวกทุจริตคดโกง

พระเจ้าแห่งกีฬาฟุตบอลได้ทรงเมตตาประกาศออกมาแล้วว่า ละครน้ำเน่าสำหรับผู้คน 200 ล้านคนถึงเวลาปิดฉากลาโรงแล้ว แต่กระนั้นผมก็ยังมีความรู้สึกเศร้าสร้อยอย่างแท้จริงต่อเหล่าผู้แพ้พ่ายทั้งหลาย ซึ่งก็คือคนส่วนข้างมากล้มหลามในหมู่ผู้สนับสนุนจำนวน 200 ล้านคนเหล่านี้ ที่เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและทำงานหนัก เป็นผู้ซึ่งฟุตบอลคือเครื่องบรรเทาผ่อนคลายอันน้อยนิด สำหรับที่พวกเขาจะได้ปลอดพ้นจากความเจ็บปวดและการต้องต่อสู้ดิ้นรนของพวกเขาได้บ้าง พวกเขามีแต่ถูกหลอกลวงตลอดมา

บราซิลอาจจะยังคงมี “อำนาจละมุน” (soft power) ปริมาณไม่จำกัดที่จะสามารถใช้ในตลอดทั่วทั้งโลก ทว่าบราซิลจะต้องร่วมมือร่วมใจกันลงมือขจัดการทุจริต/ความไร้ประสิทธิภาพ ของตนทิ้งไป ถ้าหากฟุตบอลจะเป็นองค์ประกอบอย่างเดียวที่เหลืออยู่สำหรับการรักษาให้อภิมหาอำนาจผู้ทะเยอทะยานรายนี้รวมตัวเข้าด้วยกันแล้ว บราซิลก็ควรต้องคิดให้จริงจังยิ่งกว่านี้, ทำความเข้าใจว่าการถูกเหยียดหยามคราวนี้มีสาเหตุมาจากอะไร, ขจัดพวกไร้คุณค่าที่เอาแต่ประโคมความสำคัญของตนเองออกไป, แสดงให้เห็นกันบ้างถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนและการทำงานให้หนักหน่วงจริงจัง ศึกษาเรียนรู้โมเดลด้านการกีฬาของเยอรมนี –แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องไปศึกษาเรียนรู้บทเรียนการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจอันเข้มงวดของอียูด้วยหรอก แล้วจากนั้นพวกคุณก็จะได้กลับคืนสู่สรวงสวรรค์

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นคอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War (Nimble Books, 2007), Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge (Nimble Books, 2007), และ Obama does Globalistan (Nimble Books, 2009) ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ pepeasia@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น