รอยเตอร์ - กองทัพฟิลิปปินส์จะส่งเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ 2 ลำ และเรือรบขนาดกลางเคลื่อนที่เร็วอีก 2 ลำไปประจำการที่ฐานทัพเรือเก่าของสหรัฐฯ ในอ่าวซูบิกตั้งแต่ต้นปีหน้า ซึ่งถือเป็นการรื้อฟื้นบทบาทของฐานทัพแห่งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี
การมีฐานประจำการอยู่ในอ่าวซูบิกจะช่วยให้กองทัพอากาศและกองทัพเรือเมืองตากาล็อกสามารถตอบสนองการรุกล้ำของปักกิ่งในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากท่าเรือน้ำลึกเมืองซูบิกตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะลูซอน ตรงข้ามกับทะเลจีนใต้พอดิบพอดี
“สหรัฐฯ พิสูจน์แล้วว่าอ่าวซูบิกเป็นที่ตั้งฐานทัพที่มีประสิทธิภาพเพียงใด และผู้วางนโยบายกลาโหมของจีนก็ทราบเช่นกัน” รอมเมล บันลาออย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของฟิลิปปินส์ ระบุ
อ่าวซูบิกเคยเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ก่อนจะปิดตัวลงในปี 1992 เนื่องจากวุฒิสภาฟิลิปปินส์มีมติไม่ต่ออายุสัญญากับกองทัพอเมริกันหลังสิ้นสุดสงครามเย็น
ฐานทัพแห่งนี้ถูกแปรสภาพเป็นเขตเศรษฐกิจ โดยที่กองทัพฟิลิปปินส์ไม่เคยเข้าไปใช้งานมาก่อน
ปิโอ โลเรนโซ บาติโน ปลัดกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ทางกองทัพได้เซ็นสัญญากับผู้บริหารเขตเศรษฐกิจอ่าวซูบิก (Subic Bay Metropolitan Authority) เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อขอใช้พื้นที่บางส่วน โดยจะต่ออายุสัญญาทุกๆ 15 ปี
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เรือรบสหรัฐฯ ได้มาเยือนอ่าวซูบิกหลายครั้ง แต่ก็เป็นเพียงการเทียบท่าในช่วงที่มีภารกิจซ้อมรบกับกองทัพฟิลิปปินส์ หรือใช้บริการซ่อมบำรุงและเติมเสบียงเชื้อเพลิงเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ระบุว่า เมื่อใดที่ฐานทัพอ่าวซูบิกฟื้นคืนชีพ กองทัพเรือสหรัฐฯ อาจเข้ามาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นภายใต้สัญญาแบบปีต่อปี ทว่า ข้อตกลงนี้ยังชะงักอยู่เพราะถูกคัดค้าน และต้องรอคำวินิจฉัยของศาลสูงสุด
การเข้าไปใช้ฐานทัพอ่าวซูบิกถือเป็นมาตรการล่าสุดที่กองทัพฟิลิปปินส์นำมาใช้เพื่อตอบโต้การขยายอิทธิพลทางทะเลของปักกิ่ง
นอกจากกระชับความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเวียดนามแล้ว ฟิลิปปินส์ยังเตรียมทุ่มงบประมาณถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 13 ปีข้างหน้า เพื่อปรับปรุงกองทัพให้มีความทันสมัย จากปัจจุบันที่กองทัพฟิลิปปินส์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอ่อนแอที่สุดของอาเซียน
จีนซึ่งอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ยอมรับว่าได้ทราบความเคลื่อนไหวของกองทัพตากาล็อกแล้ว
“เราหวังว่าฟิลิปปินส์คงจะทำเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคมากกว่านี้” กระทรวงกลาโหมจีนระบุในคำแถลงที่ส่งแฟกซ์ถึงรอยเตอร์
แหล่งข่าวทหารชั้นนายพลเผยกับรอยเตอร์ว่า เครื่องบินโจมตีขนาดเล็กรุ่น FA-50 ที่ผลิตโดยบริษัท โคเรีย แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ จำนวน 2 ลำแรกจากสิบกว่าลำที่สั่งซื้อเมื่อปีที่แล้ว จะมีการส่งมอบให้แก่กองทัพฟิลิปปินส์ในเดือนธันวาคมนี้ และจะถูกส่งไปประจำการที่สถานีทหารเรือ Cubi ในอ่าวซูบิกตั้งแต่ต้นปี 2016
ฟิลิปปินส์มีแผนจะนำฝูงบิน FA-50 ทั้งหมดไปประจำการไว้ที่อ่าวซูบิก รวมถึงกองบินขับไล่ที่ 5 ซึ่งจะถูกย้ายมาจากฐานทัพทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ส่วนเรือรบขนาดกลางเคลื่อนที่เร็วอีก 2 ลำก็จะถูกส่งไปประจำที่ท่าเรืออาลาวาในอ่าวซูบิกเช่นกัน
เนื่องจากอ่าวซูบิกไม่ได้ถูกใช้เป็นฐานทัพมานานกว่า 20 ปี จึงไม่ใช่ 1 ใน 8 ฐานทัพที่ฟิลิปปินส์จะอนุญาตให้กองทัพอเมริกันเข้ามาใช้ประโยชน์ตามข้อตกลงกลาโหมปี 2014 ที่ยังชะงักอยู่
ข้อตกลงยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหม (Enhanced Defense Cooperation Agreement) จะเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถเข้าไปใช้ฐานทัพในฟิลิปปินส์ได้นานขึ้นกว่าสัญญาเดิมที่มีอยู่ และยังสามารถก่อสร้างค่ายทหาร หรืออาคารสถานที่เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการส่งกำลังบำรุงได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับนี้ถูกกลุ่มนักการเมืองฝ่ายซ้ายยื่นฟ้องว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ และคาดว่าศาลสูงสุดฟิลิปปินส์จะประกาศคำพิพากษาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
อ่าวซูบิกอยู่ห่างเพียง 270 กิโลเมตรจากเกาะปะการังสการ์โบโร (Scarborough Shoal) ที่จีนยึดไปจากมะนิลาเมื่อปี 2012 หลังเกิดการเผชิญหน้าทางทะเลกับกองทัพเรือฟิลิปปินส์อยู่นานถึง 3 เดือน
ด้านหมู่เกาะพิพาทสแปรตลีย์ (Spratly Islands) ซึ่งจีนเข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียม 7 เกาะ อยู่ห่างจากสการ์โบโรออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ทั้งนี้ หากจีนใช้อิทธิพลรุกล้ำเข้ามาเปลี่ยนเกาะปะการังสการ์โบโรเป็นเกาะเทียมอีกแห่ง จะยิ่งเป็นการยากสำหรับฟิลิปปินส์ที่จะป้องกันเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเกาะลูซอนไว้ได้
“เครื่องบินโจมตีขนาดเล็กที่ผลิตในเกาหลีใต้สามารถไปถึงเกาะปะการังสการ์โบโรได้ในไม่กี่นาที ส่วนการใช้เครื่องบินลาดตระเวนและโดรนก็จะยิ่งช่วยให้เห็นความเคลื่อนไหวของจีนในน่านน้ำแถบนั้นได้อย่างทั่วถึง” แพทริก โครนิน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าว