MGRออนไลน์ -- กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ กับกองทัพอากาศ กำลังมองหาจรวดนำวิถียิงอากาศยานแบบอากาศสู่อากาศ เพื่อติดตั้งเป็นระบบอาวุธมาตรฐาน สำหรับเครื่องบิน FA-50PH สองลำแรก ที่ได้รับมอบจากเกาหลีสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า จะเป็นระบบอาวุธของโลกตะวันตก หรืออาวุธที่ผลิตตามมาตรฐานกลุ่มนาโต
ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์ (PNA) พ.อ.เอ็นริโก คานายา (Enrico Canaya) โฆษกกองทัพอากาศ แถลงในวันอังคาร 1 ธ.ค. โดยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เครื่องบินทั้งสองลำต้องการจรวดต่อสู้อากาศยานโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งอย่างน้อยก็ควรจะเป็นระบบจรวด ชนิดที่พุ่งเข้าหาความร้อน (Heat-Seeking Missile) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ FA-50TH ทั้งสองลำ สามารถใช้เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีได้ตามจุดประสงค์การจัดหา
เครื่องบิน FA-50PH เป็นเวอร์ชันที่พัฒนาก้าวหน้ามากที่สุด ในครอบครัว T-50 “อินทรีทอง” (Golden Eagle) แบบเดียวกับที่กองทัพอากาศไทยจัดซื้อจากผู้ผลิตรายเดียวกันในเกาหลี จำนวน 4 ลำ ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องบินฝึกไอพ่น สำหรับ FA-50 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นขับไล่โจมตี ติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. จากโรงงาน และ เป็นอาวุธเพียงชนิดเดียวที่มีอยู่
FA-50PH ยังสามารถติดระเบิดและจรวดได้หลายชุด รวมทั้งสามารถติดตั้ง “จุดร้อน” เพิ่มเติมได้อีก สำหรับอุปกรณ์อินฟราเรด หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในภารกิจบินลาดตระเวน
ตามรายงานของ PNA ประธานาธิบดี เบนีกโน อะคีโน (Benigno Aquino) ได้อนุมัติแผนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหม ระหว่างปี 2558 - 2561 จำนวน 7 โครงการ มูลค่า 44,000 ล้านเปโซ (ราว 932.86 ล้านดอลลาร์) ซึ่งรวมทั้งระบบอาวุธสำหรับเครื่องบินรบจากเกาหลีด้วย
ภายใต้แผนการเดียวกันนี้กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ได้ดำเนินการจัดหาเรือฟริเกตอย่างน้อย 2 ลำ เรือจู่โจมยกพลขึ้นบกอีก 1 ลำ (ที่กำลังต่ออยู่ในอินโดนีเซีย) กับ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ สำหรับกองทัพเรือ
นอกจากนั้น ยังจัดหาเครื่องบินขนส่ง โดยจัดซื้อเครื่องบินที่ผลิตในอินโดนีเซียในชั้นต้นจำนวน 2 ลำ และกำลังมองหาเครื่องบินลาดตระเวนระยะไกลอีก 1 ลำ สำหรับกองทัพอากาศ ซึ่งปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่ส่งเครื่องบินลาดตระเวน - ปราบเรือดำน้ำแบบ P-3 “โอไรออน” (Orion) ไปประจำในฟิลิปปินส์จำนวน 2 ลำ
.
2
ทั้งหมดนี้เป็นโครงการพัฒนากองทัพให้ทันสมัย ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในสมัยแรกของประธานาธิบดีอะคีโน ก่อนจะครบเทอมในเดือน มิ.ย. 2559
ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐมากที่สุดชาติหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีสนธิสัญญาร่วมป้องกัน ไม่เคยสนใจพัฒนากองทัพ และ แทบจะไม่มีการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยเข้าประจำการเลยตลอดช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
การจัดซื้อเครื่องบินในครอบครัว T-50 ทั้ง 12 ลำ เป็นการจัดหาเครื่องบินรบครั้งแรก นั้บตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส และทำให้กองทัพอากาศมีเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ใช้งานอีกครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษ นับตั้งแต่ปลดระวางเครื่องบิน F-5 ฝูงสุดท้ายในปี 2548
หลังจากจีนได้บุกเข้ายึดเกาะปะการังแห่งหนึ่งในเขตหมู่เกาะสแปร็ตลีย์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้ฟิลิปปินส์ตระหนักถึงภัยคุกคาม และเร่งพัฒนากองทัพอย่างขนานใหญ่ เพื่อพึ่งพาตนเอง ฟิลิปปินส์ได้นำกรณีจีน เข้าสู่การพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก เมื่อปีที่แล้ว ศาลเริ่มไต่สวนเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม จีนได้ประกาศจะไม่ยอมรับการตัดสินของศาล ไม่ยอมแสดงหลักฐานประกอบการกล่าวอ้างเป็นเจ้าของเกาะที่ยึดไป และไม่เข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนใด ๆ