Arrival of PAF's FA-50PH |
ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ นักบินชาวเกาหลีนำ FA-50PH ทั้ง 2 ลำ บินข้ามทะเลถึงน่านฟ้าของฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ส่งเครื่องบินฝึกแบบมาร์เช็ตตี S211 (SIAI-Marchetti S211) จำนวน 2 ลำ จากที่ใช้งานได้ในปัจจุบันเพียง 5 ลำขึ้นนำทาง มุ่งสู่ฐานทัพอากาศคลาร์กแห่งนี้ ตอนสายวันเสาร์ 28 พ.ย. |
MGRออนไลน์ -- เครื่องบิน FA-50PH หมายเลข 001 กับ 002 บินข้ามทะเลจีนตะวันออก กับ ทะเลจีนใต้ถึง "บ้าน" ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์จัดพิธีต้อนรับอย่างเอิกเริก เป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กองทัพอากาศประเทศเกาะแห่งนี้ มีเครื่องบินอเนกประสงค์ ที่มีความเร็วระดับซูเปอร์โซนิกประจำการอีกครั้งหนึ่ง ในรอบ 10 ปี และ ในท่ามกลางความขัดแย้งทะเลจีนใต้
The Eagle Has Landed! (อินทรีถลาลงถึงพื้นแล้ว) กองทัพอากาศฟิลิปปินส์จั่่วหัวเรื่อง เป็นอักษรตัวใหญ่ในเฟซบุ๊ก พร้อมเผยแพร่วิดิโอคลิปเหตุการณ์ตอนสายวันที่ 28 พ.ย. ขณะเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ลงจอดที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Force Base) เมืองแอนเจลีส (Angeles) ใน จ.ปัมปังกา (Pampanga) ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 60 กิโลเมตร
พล.ท.โวลแตร์ ก๊าซมิน (Voltaire Gazmin) รัฐมนตรีกลาโหม กับ พล.อ.เฮอร์นันโด อิริเบอร์รี (Hernando Iriberri) เสนาธิการกองทัพอากาศ พล.ท.เจฟฟรีย์ เดลกาโด (Jeffrey Delgado) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ กับ นายทหารระดับสูงจำนวนมาก ได้ร่วมกับฝูงชนส่งเสียงไชโยต้อนรับ "อินทรีทอง" กึกก้อง หลังจากผ่านพิธีพ่นน้ำต้อนรับ อันเป็นประเพณีสากลที่นิยมปฏิบัติ ในโอกาสสำคัญเกี่ยวกับอากาศยานหรือเรือ
ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดชาติหนึ่งของสหรัฐในย่านนี้ ไม่เคยซื้อเครื่องบินขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงเลย ตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส เป็นต้นมา และ ไม่เคยซ่อมบำรุงเครื่องบินรบทันสมัยจำนวนหนึ่ง ที่สหรัฐทิ้งเอาไว้ให้ เมื่อถอนตัวจากฐานทัพอากาศคลาร์กแห่งนี้ ในปี 2534
นี่คือเครื่องบินขับไล่โจมตีขนาดเล็ก ในครอบครัวเดียวกันกับ TA-50 กองทัพอากาศเกาหลี และ TA-50 เครื่องบินโจมตีทางยุทธวิธีขนาดเบา ที่กองทัพอากาศอินโดนีเซียซื้อทั้งหมด 16 ลำ โดยทยอยนำเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 2548 เช่นเดียวกันกับ TA-50TH "อินทรีทอง" (Golden Eagle) ที่กองทัพอากาศไทย เซ็นซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในเกาหลีจำนวน 4 ลำ ในเดือน ก.ย.ปีนี้ ซึ่งเป็นเครื่องบินฝึก
ตามข้อมูลในเว็บไซต์บริษัท Korea Aerospace Industries ผู้ผลิตที่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกลุ่มล็อกฮีดมาร์ติน (Lockheed Martin) แห่งสหรัฐ FA-50 เป็นเวอร์ชั่นที่พัฒนาสูงสุดในปัจจุบัน ด้วยเรดาร์ตรวจไกลทางอากาศที่มีขีดความสามารถสูงกว่า ตรวจได้ไกลกว่าเรดาร์ของเวอร์ชั้นเครื่องบินฝึกถึง 2 เท่าตัว รวมทั้งคุณสมบัติอื่นๆ อีกหลายประการ
.
1
เครื่องบินเจ็ตของเกาหลี สร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในหลายภารกิจ ติดตั้งระบบจรวด ระเบิด รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับการลาดตระเวนได้หลายชนิด มีประสิทธิภาพสูง ดูแลและซ่อมบำรุงง่าย ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวบินต่ำ และ ยังเป็นเครื่องบินไอพ่นฝึกเพียงรุ่นเดียวในตลาดปัจจุบัน ที่มีความเร็วระดับซูเปอร์โซนิก เร็วกว่า Yak-130 ซึ่งเป็นอากาศยานเชิงเดียวกันของรัสเซีย
เว็บไซต์ข่าวกลาโหมสำนักหนึ่ง ให้ข้อมูลราคาพื้นฐานของเครื่องบินครอบครัวนี้ คือ T-50, TA-50 และ FA-50 เป็น 21 ล้าน 25 ล้าน และ 30 ล้านดอลลลาร์ตามลำดับ
กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ปลดระวาง เครื่องบินขับไล่โจมตีแบบ F-5 ฝูงสุดท้ายเมื่อปี 2548 เนื่องจากใช้งานมานานและมีสภาพทรุดโทรม จากนั้นได้หันมาพึ่งพาเครื่องบิน S211 ของมาร์เช็ตติ (Marchetti) แห่งอิตาลี ที่เคยมีทั้งหมด 25 ลำ ซื้อตรง 10 ลำจำนวนที่เหลือประกอบในประเทศ แต่ปัจจุบันเหลือใช้งานได้จริงเพียง 5 ลำ และ มีโครงการยกเครื่องอีก 1-2 ลำ เพื่อนำกลับมาใช้อีก
แต่ S211 ออกแบบมาเป็นเครื่องบินฝึก และ ไม่สามารถบินเร็วระดับซูเปอร์โซนิกได้
ตามรายงานในเฟซบุ๊กกองทัพอากาศ ฟิลิปปินส์เซ็นสัญญาซื้อ FA-50 จำนวน 12 ลำ ในเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว นักบินถูกส่งไปฝึกที่ฐานทัพซานเชิน (Sancheon) ของเกาหลี ในเดือน มิ.ย.ปีนี้ และ ในสัปดาห์ต้นเดือน พ.ย. ผู้บัญชาการกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ไปที่นั่น ทดลองขับ FA-50PH หนึ่งในสองลำนี้ สามารถ "ฝ่ากำแพงเสียง" และ ทำความเร็วได้ถึงมัค 1.2 หรือประมาณ 1,482 กม./ชม.
FA-50PH ทั้ง 12 ลำ อยู่ในโครงการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งใหญ่ของฟิลิปปินส์ ที่เริ่มรู้สึกถึงภัยคุกคาม เมื่อจีนเข้าบุกยึดเกาะปะการังแห่งหนึ่ง ที่ฟิลิปปินส์ครอบครองมาเป็นเวลาชั่วอายุคน อยู่ห่างจากฝั่งเกาะลูซอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่ถึง 200 กิโลเมตร แต่ห่างจากชายฝั่งของจีนที่อยู่ใกล้ที่สุดถึง 1,200 กม.
.
2
3
4
5
6
ฟิลิปปินส์กำลังจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทิ้งระเบิดอีกอย่างน้อย 1 ฝูง ซึ่ง JAS39 "กริพเพน" ก็อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาด้วย นอกจากนั้นยังจัดหาเครื่องบินขนส่ง กับเฮลิคอปเตอร์ เช่นเดียวกันกับกองทัพเรือ ที่่เร่งจัดหาเรือฟริเกตติดจรวดนำวิถีอย่างน้อย 2 ลำ เรือลำเลียงพลยกพลขึ้นบก กับเรือตรวจการณ์ชายงั่งอีกจำนวนหนึ่ง กองทัพบกเร่งจัดหาปืนใหญ่ ยานหุ้มเกราะและอากาศยานขนส่งกำลังพล กับ ฮ.โจมตี
"The Eagle Has Landed" เป็นคำพูดประโยคหนึ่งของ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) มนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ ขณะรายงานให้หน่วยควบคุมโครงการอะพอลโล 11 ขององค์การนาซ่า ที่ศูนย์อวกาศฮิวสตัน มลรัฐเท็กซัส ได้ทราบว่า ยานลูนาร์โมดุล ลงจอดที่จุดกำหนดบนดวงจันทร์ เป็นที่เรียบร้อย ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันที่ 20 ก.ค.2509 ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐ
คำพูดเต็มของอาร์มสตรองก็คือ "Houston, Tranquillity Base here. The Eagle has landed."
The Eagle Has Landed ยังถูกนำไปใช้เป็นชื่อหนังสือนวนิยายขายดีเล่มหนึ่ง ของจอห์น ฮิกกินส์ (John Higgins) นักประพันธ์ระดับปากกาทองชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ออกฉายเมื่อปี 2519 และ ประสบความสำเร็จมากอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหน่วยกล้าตายของนาซีชุดหนึ่ง ถูกส่งไปกระโดดร่มลงในอังกฤษในปฏิบัติการลับ เพื่อลักพาตัวนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล และ นำกลับไปยังกรุงเบอร์ลิน.