xs
xsm
sm
md
lg

“ดูเตอร์เต” โอ่ “รัสเซีย-จีน” พร้อมหนุน เล็งทบทวนข้อตกลงกลาโหมกับ US

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - “ดูเตอร์เต” เผย รัสเซียและจีนเข้าใจและให้การสนับสนุนอย่างดี หลังจากไประบายความคับข้องใจเรื่องอเมริกาให้ฟัง ขณะเดียวกัน ผู้นำฟิลิปปินส์ยังย้ำสัญญาณการตีจากวอชิงตัน ด้วยการสำทับว่า อาจทบทวนข้อตกลงกลาโหมที่ทำไว้เมื่อสองปีที่แล้วกับสหรัฐฯ เนื่องจากไม่ได้ลงนามโดยผู้นำของทั้งสองชาติ

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ เปิดเผยเมื่อคืนวันอาทิตย์ (2 ต.ค.) ว่า ระหว่างการหารือนอกรอบในช่วงการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนที่ลาว เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ ของรัฐเซีย แสดงการสนับสนุนตอนที่ตนบ่นเรื่องอเมริกา

“ผมเล่าให้เขาฟังว่า อเมริกาวิจารณ์ผมไม่ไว้หน้าโดยที่ไม่รู้สึกละอายใจเลย เขาตอบว่า ‘อเมริกาก็เป็นแบบนี้แหละ เราจะช่วยคุณเอง’”

อย่างไรก็ดี ผู้นำแดนตากาล็อกไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ไประบายความคับข้องเรื่องอะไรกับเมดเวเดฟ

ความขุ่นเคืองที่ดูเตอร์เตมีต่ออเมริกาคุกรุ่นมากขึ้น นับจากที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา บอกว่า จะคุยกับเขาเรื่องสงครามปราบปรามยาเสพติดที่น่าเป็นห่วงในฟิลิปปินส์

ทว่า ทำเนียบขาวกลับยกเลิกการหารือระหว่างโอบามา กับดูเตอร์เต หลังจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์แสดงความไม่พอใจเรื่องนี้ โดยชี้ว่า อเมริกาซึ่งได้เข่นฆ่าชาวโมโรไปหลายแสนคนในระหว่างเข้ายึดครองฟิลิปปินส์เป็นอาณานิคมนั้น ไม่มีสิทธิที่จะมาสั่งสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนั้น เขาก็สบถเรียกโอบามาว่า “ลูกกะหรี่”

ในคืนวันอาทิตย์ (2) ดูเตอร์เต ยังบอกด้วยว่า คุยกับจีนเรื่องอเมริกาเหมือนกัน และจีนเตือนว่า ฟิลิปปินส์จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการคบหากับวอชิงตัน ทว่า เขาไม่ได้บอกชัดเจนว่า คุยกับเจ้าหน้าที่จีนคนใดและเมื่อใด

ระยะหลังมานี้ ดูเตอร์เต ย้ำบ่อยครั้งว่า มีแผนร่วมเป็นพันธมิตรกับจีน และรัสเซีย โดยเฉพาะในด้านการค้า อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศแบบอิสระ

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจและการทูตหลายคน ยืนยันตรงกันว่า คณะตัวแทนธุรกิจฟิลิปปินส์จะเดินทางไปกับดูเตอร์เตระหว่างการเยือนปักกิ่งวันที่ 19 - 21 ต.ค. นี้

ดูเตอร์เต ยังย้ำสัญญาณจากตีจากอเมริกาด้วยการบอกว่า จะทบทวนข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (EDCA) ที่ฟิลิปปินส์ ในยุคประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน ทำกับสหรัฐฯ ในปี 2014 เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวอาจไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เพราะลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศไม่ได้ร่วมรับรองแต่อย่างใด

ข้อตกลงฉบับนี้อนุญาตให้กองกำลังของสหรัฐฯ เข้าไปตั้งศูนย์จัดเก็บอาวุธยุทธภัณฑ์และสัมภาระในแดนตากาล็อกเพื่อปฏิบัติการด้านความมั่นคงทางทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งยินยอมให้อเมริกาใช้ฐานทัพฟิลิปปินส์หลายแห่ง

การประกาศท่าทีนี้ เท่ากับเป็นการท้าทายโดยตรง หรือเป็นการการทดสอบขีดจำกัดของความเป็นพันธมิตรอันยาวนานระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่ง แอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (29 ก.ย.) ว่า ความเป็นพันธมิตรซึ่ง “ไม่มีวันเสื่อมสลาย” หลังจากที่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ดูเตอร์เต ประกาศว่า การซ้อมรบระหว่างอเมริกากับฟิลิปปินส์ที่เริ่มต้นในสัปดาห์นี้จะเป็นการซ้อมรบร่วมกันครั้งสุดท้าย

สำหรับการประกาศท่าทีครั้งล่าสุดของผู้นำฟิลิปปินส์นั้น ปีเตอร์ คุก โฆษกเพนตากอน แถลงว่า อเมริกาและฟิลิปปินส์มีประวัติศาสตร์การร่วมมือด้านความมั่นคงมายาวนาน และการหารือระหว่างคาร์เตอร์ กับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ ที่ฮาวายเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เป็นไปด้วยดี

คุก เสริมว่า วอชิงตันจะยังคงร่วมมือใกล้ชิดกับมะนิลาเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน สหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินขนส่งทางทหารแบบ ซี-130 จำนวน 2 ล ำและทหาร 100 คน เข้าไปอยู่ในฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ ภายใต้ข้อตกลง EDCA โดยเครื่องบินและทหารอเมริกันเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่ทำการซ้อมรบร่วมเป็นเวลา 2 สัปดาห์คราวนี้ด้วย

นักวิเคราะห์มองว่า ข้อตกลง EDCA นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอเมริกาในการขัดขวางจีนในทะเลจีนใต้

ก่อนหน้านี้ วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงฉบับนี้เป็นหนึ่งในข้อตกลงสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

ดังนั้น หากข้อตกลงนี้ล่ม จะถือเป็นการเพลี่ยงพล้ำสำคัญสำหรับความพยายามของอเมริกาในการขยายอิทธิพลในเอเชียและคานอิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว

ข้อตกลงกลาโหมกับฟิลิปปินส์ ถือว่า มีความสำคัญกว่าข้อตกลงที่อเมริกาทำกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในขณะที่อเมริกาชะลอความสัมพันธ์กับไทยชั่วคราว นับจากที่ทหารเข้ายึดอำนาจในปี 2014

EDCA เคยถูกสมาชิกรัฐสภาและนักเคลื่อนไหวตากาล็อกยื่นฟ้องศาลว่าขัดรัฐธรรมนูญ จึงเป็นโมฆะ โดยที่คนเหล่านี้กังวลว่า ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้อเมริกาใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานปฏิบัติการแทรกแซงทางทหารในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาตัดสินเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น