xs
xsm
sm
md
lg

ตุรกีเมินเหตุโจมตีกงสุลแถมประณามไทยส่งอุยกูร์ไปจีน ประท้วงลามถึงสถานทูต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online





รอยเตอร์ - กระทรวงการต่างประเทศของตุรกี แถลงประณามกรณีทางการไทยขับไล่ชาวมุสลิมอุยกูร์ไปยังจีน ระบุละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่เพิกเฉยไม่ยอมตำหนิเหตุโจมตีสถานกงสุลไทยในอิสตันบูล ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) มีการประท้วงทั้งด้านหน้าสถานทูตจีน และสถานทูตไทย ในกรุงอังการา

วิดีโอที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนท้องถิ่น เผยให้เห็นว่า กลุ่มผู้ประท้วงในอิสตันบูลใช้แผ่นไม้และหิน ทุบกระจกและบุกเข้าไปในสถานกงสุลของไทยในช่วงค่ำวันพุธ (8 ก.ค.) โยนแฟ้มเอกสารและข้าวของส่วนตัวของเจ้าหน้าลงพื้น ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) ตำรวจในกรุงอังการา ใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมราว 100 คน ที่รวมตัวกันบริเวณด้านหน้าสถานทูตจีน หลังจากพวกเขาก่อความวุ่นวายด้วยการพังรั้ว

2 เหตการณ์นับเป็นหนึ่งในความวุ่นวายระลอกล่าสุดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของกลุ่มเยาวชนที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคขบวนการชาตินิยม (เอ็มเอชพี) พรรคฝ่ายค้านตุรกี หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชาวตุรกีเป็นเจ้าของ ถูกบุกทำลายทรัพย์สิน และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้โดนเล่นงานในย่านสุลต่านอาห์เมต เพราะถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนจีน
ผู้ประท้วงโบกธงสีฟ้าของขบวนการเอกราชอุยกูร์ เดินขบวนไปยังสถานทูตไทยในกรุงอังการาในวัพฤหัสบดี(9ก.ค.)
เดฟเลจ บาห์เซลิ แกนนำพรรคเอ็มเอชพี ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลหน้าของตุรกี เข้าใจว่า สมาชิกฝ่ายเยาวชนของพรรคน่าจะเข้าใจผิดคิดว่านักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เหล่านั้นเป็นชาวจีน “รูปร่างหน้าตาชาวเกาหลีกับคนจีนดูแล้วไม่ต่างกัน พวกเขาคงเห็นว่ามีตาเอียง แล้วใครจะแยกความแตกต่างได้ล่ะ” เขาบอกกับหนังสือพิมพ์เฮอร์ริเยตเมื่อวันพุธ (8 ก.ค.)

ในวัพฤหัสบดี (9 ก.ค.) พบเห็นผู้ประท้วงโบกธงสีฟ้าของขบวนการเอกราชอุยกูร์ เดินขบวนไปยังสถานทูตไทยในกรุงอังการาด้วย “เรามาที่นี่เพื่อประท้วงเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยและจีน ความโหดเหี้ยมของจีน แผ่ลามไปถึงไทยแล้ว” เซยิต ตุมเติร์ก รองประธานกลุ่มสภาอุยกูร์โลก บอกกับรอยเตอร์จากบริเวณด้านนอกของสถานทูตไทย

ตุรกีประกาศเปิดประตูต้อนรับผู้อพยพชาวอุยกูร์ที่หลบหนีการถูกประหัตประหารในจีน ซึ่งกระพือความขัดแย้งกับจีน ทั้งนี้ ไทยได้ส่งตัวสตรีและเด็กชาวอุยกูร์ราว 170 คน ไปยังอิสตันบูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้นานกว่า 1 ปี ฐานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่วนอีกประมาณ 100 คน ส่งไปยังจีน
ผู้ประท้วงสตรีถือธงสีฟ้าของขบวนการเอกราชอุยกูร์และธงชาติตุรกี เดินขบวนไปยังสถานทูตไทยในกรุงอังการาในวัพฤหัสบดี(9ก.ค.)
นายสุณัย ผาสุก ผู้ประสานงานฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลมากที่ไทยตัดสินใจส่งมุสลิมอุยกูร์จำนวนไม่น้อยกว่า 90 คนไปให้จีนตามแรงกดดันของจีน ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนว่า รัฐบาลจีนถือว่าชาวอุยกูร์เป็นศัตรูต่อรัฐ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งสังหาร ทำร้าย ทรมาน และบังคับให้สูญหายอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น การอ้างหลักประกันเรื่องความปลอดภัยในการส่งตัวให้จีน จึงไม่อาจยอมรับได้

กระทรวงการต่างประเทศของตุรกี แถลงประณามทางการไทยที่ขับไล่ชาวมุสลิมอุยกูร์ไปยังจีน ระบุพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ด้านสำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ก็แสดงความกังวลต่อกรณีไทยตัดสินใจส่งตัวชาวอุยกูร์ไปยังจีน “เราตกใจต่อการเนรเทศชาวอุยกุร์ราว 100 คน และมองว่า มันเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง” โวลเกอร์ เติร์ก ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าว
สภาพความเสียหาย ณ สถานกงสุลไทยในอิสตันบูล หลังจากถูกกลุ่มผู้ประท้วงถูกโจมตีเมื่อคืนวันพุธ(8ก.ค.) กรณีขับไล่ชาวมุสลิมอุยกูร์ไปยังจีน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) ปกป้องการบังคับส่งตัวมุสลิมอุยกูร์เกือบ 100 คน กลับไปยังจีน ว่า มันไม่ใช่ความผิดของกรุงเทพฯ หากว่าคนเหล่านั้นต้องเผชิญกับปัญหาใด ๆ นอกจากนี้ หยิบยกถึงความเป็นไปได้ในการปิดสถานทูตไทยในตุรกี หลังสถานกงสุลในอิสตันบูลถูกโจมตี

แนวทางปฏิบัติของจีนต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ที่พูดภาษาเติร์ก เป็นประเด็นอ่อนไหวในตุรกี และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายตกอยู่ในความตึงเครียด ก่อนหน้าที่ นายตอยยิบ เออร์โดแกน ประธานาธิบดี ตุรกี มีกำหนดเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนนี้ โดยชาวเติร์กบางส่วนมองว่าตนเองมีวัฒนธรรมและมรดกทางศาสนาร่วมกับพี่น้องอุยกูร์ และตุรกีก็เป็นที่พักใหญ่ของชาวอุยกูร์พลัดถิ่นจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น