เดลีซาบาห์/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งได้ก่อเหตุโจมตีสถานกงสุลไทยที่ตั้งอยู่ในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (8 ก.ค.) พร้อมทั้งประณามการตัดสินใจของทางการไทยที่ดำเนินการส่งตัวชาวมุสลิมอุยกูร์ให้แก่จีน
กลุ่มผู้ประท้วงได้มารวมตัวกันบริเวณหน้าสถานกงสุลเพื่ออ่านคำแถลงตอนเวลาประมาณ 23.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีการใช้ความรุนแรง โดยฝูงชนได้เข้าทุบทำลายหน้าต่างและปลดธงชาติไทยลงมา
กองกำลังความมั่นคงจำนวนหนึ่งได้ถูกจัดส่งไปยังบริเวณพื้นที่เกิดเหตุเพื่อระงับเหตุการณ์ โดยให้กลุ่มผู้ประท้วงแยกย้ายกันกลับไป
กลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในซินเจียงของจีน ได้กล่าวหารัฐบาลจีนว่าใช้นโยบายทำการปราบปรามและตั้งข้อจำกัดกิจกรรมทางศาสนา การค้า และวัฒนธรรม
ด้วยแรงกดดันจากจีนทำให้ชาวอุยกูร์บางส่วนต้องหลบหนีไปหาที่ปลอดภัยในประเทศอื่น ขณะที่ตุรกีได้แสดงท่าทีไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะรับผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไปดูแล โดยขอให้ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปยังตุรกี ไม่ควรส่งกลับไปให้จีน เพราะพวกเขาอาจต้องเผชิญกับการเสียชีวิตหากกลับไป
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีสถานกงสุลครั้งนี้ ขณะที่สถานทูตไทยในกรุงอังการาได้ขอให้พลเมืองไทยประมาณ 1,300 คนที่อาศัยอยู่ในตุรกี เพิ่มความระมัดระวัง โดยในวันพฤหัสบดี (9 ก.ค.) แผนกกงสุลของสถานทูตไทยในตุรกีจะปิดทำการ
“เราได้ติดต่อไปยังรัฐบาลตุรกีให้ช่วยปกป้องดูแลด้านความปลอดภัยให้แก่สถานกงสุลไทยในเมืองอิสตันบูล เช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงอังการา” พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวในวันพฤหัสบดี
“สถานการณ์ในตอนนี้ทุกอย่างยังควบคุมและจัดการได้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลตุรกีจะช่วยทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกลุ่มคนที่ทำการโจมตีสถานกงสุลในครั้งนี้” พล.ต.วีรชนกล่าว
พล.ต.วีรชนได้บอกกับนักข่าวด้วยว่า ไทยได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ประมาณ 100 คนกลับไปให้จีนเมื่อวานนี้ โดยเป็นการทำงานร่วมกับจีนและตุรกี เพื่อแก้ไขปัญหาชาวมุสลิมอุยกูร์ โดยการส่งตัวได้เกิดขึ้นหลังจากพิสูจน์สัญชาติแล้ว
“มีการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นชาวตุรกีและไม่มีคดีความ ประมาณ 170 คน ส่งกลับไปแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นสัญชาติจีนประมาณ 100 คน ส่งกลับไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติอีกประมาณ 50 คน ซึ่งจะดำเนินการพิสูจน์สัญชาติต่อไป” พล.ต.วีรชนกล่าว
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ระบุว่า ตระหนกกับการส่งตัวชาวอุยกูร์ เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการที่จะกลับไปยังประเทศจีน โดยคนเหล่านี้มีทั้งผู้หญิงและเด็ก
ยูเอ็นเอชซีอาร์บอกว่า พวกเขาได้รับรู้ถึงปัญหานี้มานานหลายเดือนแล้ว โดยได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือหลายครั้งในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการดูแล ตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง