เอเจนซีส์ – ผลการเลือกตั้งทั่วไปตุรกีในวันอาทิตย์(7) เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีตุรกี เรเซ็ป ทายยิป แอร์โดกัน ไม่ชื่นชอบอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพบว่าพรรครัฐบาล A.K.P ของเขาต้องสูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภาตุรกี และเป็นอุปสรรคต่อแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้นำตุรกี และเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด H.D.P สามารถผ่านขั้นต่ำ 10 % เข้าสู่รัฐสภาตุรกีได้สำเร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาสันติภาพข้อขัดแย้งระหว่างอังการาและชาวเคิร์ดในอนาคต
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สรายงานเมื่อวานนี้(8)ว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์(7)ถือเป็นฝันร้ายสำหรับประธานาธิบดีตุรกี เรเซ็ป ทายยิป แอร์โดกัน และรวมไปถึงกลุ่มอิสลามิสต์ที่แผ่อิทธิพลทางการเมืองในตุรกีมากขึ้นหลังจากผลชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีที่ผ่านมา ซึ่งแอร์โดกันที่ได้ดำรงตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีตุรกีก่อนหน้านั้นมาอย่างยาวนาน ได้ผลักดันให้มีอำนาจทางตุลาการอยู่ในมือสำเร็จ รวมไปถึงสามารถปราบปรามกลุ่มที่ตั้งตัววิพากษ์วิจารณ์ในตัวเขาหรือรัฐบาลของเขา ไม่ว่าจะอยู่บนท้องถนนหรือบนโลกโซเชียลมีเดีย แต่กระนั้นความพยายามที่ผ่านมาดูเหมือนจะสูญเปล่าจากผลการลงคะแนนเสียงของประชาชนตุรกีในวันอาทิตย์(7)
สื่อสหรัฐฯรายงานว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดยังเป็นชนะครั้งยิ่งใหญ่ของพรรคการเมืองชาวเคิร์ด พรรคเสรีนิยม และพรรคไม่อิงศาสนาในตุรกี ที่สามารถประสบความสำเร็จคว้าที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มาได้เพื่อประกาศจุดยืนของกลุ่มเหล่านี้ หลังจาก 2 ปีก่อนหน้านี้กลุ่มการเมืองเหล่านี้ได้เดินขบวนต่อต้านรัฐบาลตุรกี ซึ่งมีแอร์โดกันเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น โดยนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดสามารถฝ่ากติกา 10% ก้าวเข้าสู่สภาตุรกีได้สำเร็จ
ทั้งนี้ถึงแม้จะสูญเสียการคุมเสียงข้างมากในสภา แต่ทว่าพรรค A.K.P ของแอร์โดกันยังคงมีเสียงนำทิ้งห่างอยู่มากจากผลการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ประกาศออกมาล่าสุดคืนวันอาทิตย์(7) ซึ่งบ่งชี้ว่ารัฐบาลตุรกีชุดใหม่จะต้องเป็นรัฐบาลผสม ในขณะที่นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะไม่สามารถจัดตั้งได้ในเร็ววันเนื่องมาจากผลการเลือกตั้ง และมีชาวตุรกีเป็นจำนวนมากที่ต่างรู้สึกยินดีเมื่อเห็นอำนาจของประธานาธิบดีตุรกีถูกบั่นทอนลง และถึงแม้ว่าการที่ตุรกีจะต้องมีรัฐบาลผสม และอาจจะทำให้ตุรกีต้องกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงยุค 90 ที่การไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นเรื่องกระทบประชาชนทุกคน รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง
และจากผลการนับคะแนนกว่า 99% พบว่าพรรครัฐบาล A.K.P กวาดเสียงไปได้ 41% สื่อรัฐบาลตุรกี TRT รายงาน ซึ่งพบว่ามีคะแนนเสียงต่ำกว่าการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ในปี 2011 ที่ทางพรรคสามารถกวาดคะแนนเสียงได้เกือบ 50% และผลคะแนนการเลือกตั้งล่าสุด ทำให้คาดได้ว่าพรรคของแอร์โดกันจะมีที่นั่งในสภาตุรกีในสมัยหน้าลดลงเหลือแค่ 258 เสียงเมื่อเทียบกับในสมัยปัจจุบันที่พรรคA.K.P คุมอยู่ที่ 327 เสียง
“การเลือกตั้งล่าสุดได้ดับความทะเยอทะยานการเป็นผู้นำของแอร์โดกัน” โซเนอร์ คากัปเตย์ (Soner Cagaptay) ผู้เชี่ยวชาญด้านตุรกี ประจำสถาบันวอชิงตันด้านนโยบายตะวันออกใกล้ กล่าว
นอกจากนี้สื่อสหรัฐฯยังรายงานเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งล่าสุดยังเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของพรรคเดโมแครต ปาร์ตีH.D.P ของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมกับพรรคเสรีนิยม และพรรคไม่ฝักใฝ่ศาสนาของตุรกี ที่สามารถกวาดคะแนนเกือบ 13% โดยทั้งนี้ผู้สมัครของพรรค H.D.P ซึ่งต่อต้านแอร์โดกัน มีทั้งสตรี เพศทางเลือก ไปจนถึงผู้สมัครชนกลุ่มน้อยเพื่อหวังจูงใจให้ประชาชนตุรกีที่ต้องการลดอำนาจแอร์โดกันหันมาเลือกพรรค H.D.P เป็นทางเลือก
นิวยอร์กไทม์สยังรายงานเพิ่มเติมว่า ในอิสตันบูล มีความรุนแรงในการเลือกตั้งมาอย่างยาวนานจากฝีมือของพรรคเคิร์ดสถาน เวิร์กเกอร์ ปาร์ตี (Kurdistan Workers’ Party)หรือ P.K.K ที่ได้สู้เพื่อต้องการมีอำนาจทางการเมืองในการปกครองตนเองเพิ่มมากขึ้นจากฐานในอิรักทางเหนือ และผลการเลือกตั้งในวันอาทิตย์(7)อาจนำไปสู่การเจรจาสันติภาพระหว่างแอร์โดกันและชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในอนาคตในท้ายที่สุด
และในการเลือกตั้งวันอาทิตย์(7)ยังพบว่า พรรครีพับลิกัน พีเพิล ปาร์ตี (The Republican People’s Party) ซี่งเป็นพรรคไม่อิงศาสนาหลักในตุรกี ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 สามารถกวาดคะแนนไปได้ถึง 25% แต่ทว่าในทัศนะของสื่อสหรัฐฯ นั้นชี้ว่า ถึงแม้ว่าจะชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 แต่ทว่าพรรคเคิร์ดจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับรีพับลิกัน พีเพิล ปาร์ตีในการเคลื่อนไหวผ่านรัฐสภาตุรกีในสมัยหน้า
และการเลือกตั้งครั้งนี้ยังถือเป็นความสำเร็จที่แสดงถึงการปฎิรูปการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในตุรกีอีกด้วย นับตั้งแต่เริ่มจากการจลาจลนองเลือดบนท้องถนนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ มาจนถึงเข้าสู่สมรภูมิทางการเมืองในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี ได้สำเร็จ
และการสูญเสียการควบคุมรัฐสภาตุรกี นิวยอร์กไทม์สระบุว่าจะส่งผลต่อนโยบายทางการเมืองของตุรกีต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเคลื่อนไหวหลายอย่างที่เป็นข้อถกเถียงทั้งในทางสาธารณะและถูกฝ่ายต่อต้านแอร์โดกันวิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงนโยบายต่อต้านรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาร์ อัล-อัสซาด ที่ทางอังการาจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีเหมือนที่ผ่านมา
และสื่อสหรัฐฯยังให้ความเห็นปิดท้ายว่า ที่สำคัญที่สุดผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์(7)ยังเป็นอุปสรรคครั้งใหญ่ต่อความพยายามในการรวบอำนาจของประธานาธิบดีตุรกีที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตุรกีเพื่ออำนาจแบบเบ็ดเสร็จ