รอยเตอร์ - สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ มีพระราชดำรัสเตือนกลุ่มประเทศในยุโรปให้หลีกเลี่ยงความแตกแยก ขณะที่ประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีซึ่งเป็นเจ้าภาพถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย.) ประกาศอย่างชัดเจนว่า “สหภาพยุโรปต้องการอังกฤษ”
ในวันแรกของการเสด็จฯ เยือนเมืองเบียร์อย่างเป็นทางการ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษตรัสว่า พระองค์และประธานาธิบดีโจอาคิม ก็อค แห่งเยอรมนี ได้ผ่านช่วงเวลาที่ยุโรป “ตกต่ำและรุ่งเรืองที่สุด” มาแล้ว และ “จำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปกป้องความเจริญรุ่งเรืองในยุคหลังสงครามเอาไว้”
สมเด็จพระราชินีนาถในวัย 89 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติมาเป็นปีที่ 63 และทรงพำนักอยู่ในอังกฤษช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรพร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป พระสวามี จะประทับอยู่ที่เยอรมนีจนถึงวันศุกร์นี้ (26 มิ.ย.) ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ เยือนเมืองเบียร์ครั้งที่ 5 ของพระองค์
“เราต่างตระหนักดีว่าความแตกแยกในยุโรปเป็นอันตรายเพียงใด และจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะในฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของภาคพื้นทวีปก็ตาม นี่คือความมานะบากบั่นที่เราต้องมีร่วมกัน” สมเด็จพระราชินีนาถตรัส
พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สะท้อนถึงวิกฤตความขัดแย้งในยูเครนอันนำมาซึ่งความบาดหมางกับรัสเซียและสถานการณ์ในยุโรปตะวันออกที่เริ่มคุกรุ่น นอกจากนี้ ภาระหนี้สินของกรีซก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ท้าทายการตัดสินใจของผู้นำยุโรป ขณะที่อังกฤษเองก็กำลังเจรจาต่อรองเรื่องสถานะในอียู
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี และนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ซึ่งจะเดินทางไปประชุมซัมมิตอียูที่กรุงบรัสเซลส์ในวันนี้ (25) ได้ร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่พระราชวังแบลล์วู (Schloss Bellevue) ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีเยอรมนี
ก่อนหน้านั้น แมร์เคิล และ คาเมรอน ได้มีการหารือร่วมกัน จากนั้นนายกฯหญิงเมืองเบียร์ได้นำสมเด็จพระราชินีนาถทอดพระเนตรสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามอาคารรัฐสภา รวมถึงจุดที่ตั้งกำแพงเบอร์ลินซึ่งถูกทำลายลงเมื่อปี 1989
ประธานาธิบดีก็อคกล่าวว่า เยอรมนีพร้อมที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปอียูที่อังกฤษเสนอมา “เพราะสหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป”