เอเอฟพี - การเจรจาแก้ไขวิกฤตหนี้ระหว่างรัฐบาลกรีซกับองค์กรเจ้าหนี้ต่างชาติยังคงไร้ข้อสรุปในวันนี้ (12 ก.พ.) โดยจะมีการหารือกันต่อในวันจันทร์หน้า (16) เพื่อปลดล็อกวงเงินกู้งวดถัดไปให้สำเร็จ ก่อนที่โครงการรับความช่วยเหลือชุดปัจจุบันจะหมดอายุลงในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
ยาริส วารูฟากิส รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซ ได้ยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกลุ่มยูโรโซน 19 ชาติ ณ กรุงบรัสเซสล์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีชาวกรีซกว่า 15,000 คนออกมารวมตัวตามท้องถนนในกรุงเอเธนส์เพื่อสนับสนุนจุดยืนของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การหารือซึ่งกินเวลานาน 7 ชั่วโมงได้สิ้นสุดลงเมื่อช่วงหลังเที่ยงคืน โดยบรรดารัฐมนตรีไม่สามารถแม้แต่จะออกคำแถลงร่วมเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปในการปลดล็อกเงินกู้ 240,000 ล้านยูโรจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงให้สัมภาษณ์ในแง่ดี และยืนยันว่าไม่มีความแตกแยกเกิดขึ้น
“เราหารือกันอย่างเข้มข้น สร้างสรรค์ ครอบคลุมหลายเรื่อง และมีความคืบหน้าเกิดขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะออกถ้อยแถลงร่วมได้” เจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานรัฐมนตรีคลังยูโรโซน แถลงต่อผู้สื่อข่าวในช่วงเที่ยงคืน
“เราจะพูดคุยกันต่อในวันจันทร์หน้า (16) ผมคงให้สัมภาษณ์ได้เพียงเท่านี้”
โครงการมอบความช่วยเหลือกรีซกำลังจะสิ้นอายุลงภายในเดือนนี้ และหากเอเธนส์กับฝ่ายเจ้าหนี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อต่ออายุได้ ก็หมายความว่ากรีซจะต้องเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ก้อนโต (default) และอาจถูกบีบออกจากกลุ่มยูโรโซนอย่างยากที่จะเลี่ยง
การหารือที่จะมีขึ้นในวันจันทร์ (16) อาจเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับกรีซที่จะดันข้อตกลงกู้ยืมฉบับใหม่ และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเพื่ออนุมัติให้ทันก่อนที่โครงการกู้ยืมชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลง
อเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซจากพรรคฝ่ายซ้ายซีรีซา คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะฉีกสัญญากู้ยืมกับเจ้าหนี้ต่างชาติและยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัดที่สร้างความทุกข์ต่อประชาชน
“การต่ออายุข้อตกลงฉบับเดิมไม่ได้รับความเห็นชอบ” แหล่งข่าวในรัฐบาลกรีซผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์หลังสิ้นสุดการเจรจาที่กรุงบรัสเซลส์ พร้อมระบุว่าการหารือจะดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้ “ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย”
อย่างไรก็ดี กรุงเอเธนส์คงต้องเผชิญเสียงคัดค้านอย่างหนักจากหุ้นส่วนในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีที่ยึดมั่นในแนวทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจด้วยวิธีรัดเข็มขัด
การประชุมซัมมิตอียูที่กรุงบรัสเซลส์ในวันนี้ (12) จะถือเป็นครั้งแรกสำหรับผู้นำคนใหม่อย่างซีปราส และเป็นโอกาสที่เขาจะได้พบกับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีด้วย แต่แหล่งข่าวระบุว่าทั้งคู่ยังไม่มีกำหนดหารือโดยตรง
รัฐบาลกรีซได้ยื่นข้อเสนอที่จะยอมรับเงื่อนไขปฏิรูปเพียง 70% จากที่เคยตกลงไว้กับองค์กรเจ้าหนี้ และขอยกเลิกอีก 30% ที่เหลือ นอกจากนี้ยังต้องการแปลงหนี้ (debt swap) แลกเปลี่ยนพันธบัตรเพื่อนำเงินทุนมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
กรุงเอเธนส์ยังต้องการเปลี่ยนไปขอรับเงินกู้ระยะสั้น (bridging loan) จนถึงเดือนกันยายน เพื่อให้รัฐบาลได้มีเวลาดันแผนปฏิรูปใหม่ๆ ออกมา
กรีซยังยืนกรานที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและยกเลิกการเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับเงื่อนไขที่อียูและไอเอ็มเอฟกำหนดไว้ และไม่ต้องการที่จะร่วมมือกับทีมตรวจสอบของ “ทรอยกา” ซึ่งหมายถึงคณะกรรมาธิการยุโรป ไอเอ็มเอฟ และธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) อีกต่อไป
ซีปราส ยังประกาศเมื่อวันพุธ (11) ว่าจะขอคำปรึกษาในการร่างแผนปฏิรูปจากองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติร่ำรวยที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดของอียู และยังขู่กลายๆ ว่าจะหันไปขอความช่วยเหลือจากรัสเซียหรือจีนแทนหากการเจรจากับองค์กรเจ้าหนี้ไม่เป็นผล
เจ้าหน้าที่รัฐบาลกรีซเผยเมื่อวันพุธ (11) ว่า ซีปราสเพิ่งได้รับเชิญให้ไปเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อพบปะกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ของรัสเซียก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อครั้งที่ นิกอส ค็อตเซียส รัฐมนตรีต่างประเทศกรีซ เดินทางเยือนมอสโกว่า รัสเซียพร้อมที่จะพิจารณามอบความช่วยเหลือต่อเอเธนส์หากได้รับการร้องขอ