รอยเตอร์ – ผลสำรวจล่าสุดเผย ชาวแดนมักกะโรนีสุดเอือมกับภาวะตกต่ำของเงินยูโรตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 40 ปรารถนาที่จะให้ประเทศของตนกลับไปใช้สกุลเงิน “ลีรา” อย่างเก่า
รายงานประจำปีจากสถาบันวิจัยยูริสเพส (Eurispes) ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้(30) พบว่า สัดส่วนชาวอิตาลีที่อยากกลับไปใช้เงิน “ลีรา” เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากเมื่อปีที่แล้วซึ่งมีผู้คิดเช่นนี้เพียงร้อยละ 25.7
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ค่อนข้างน่าแปลกสำหรับอิตาลี ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่สนับสนุนความเป็นหนึ่งของยุโรปมาแต่ไหนแต่ไร และให้ความเชื่อมั่นต่อสถาบันกลางของอียูมากกว่าประเทศตนเองที่เผชิญทั้งความผันผวนทางการเมือง และปัญหาคอร์รัปชัน
“เมื่อปีที่แล้วเราได้เน้นย้ำว่า ชาวอิตาลีส่วนใหญ่ยังสนับสนุนเงินยูโร แม้ความเชื่อมั่นที่มีต่อสถาบันของเราจะลดลงตาม” เจียน มาเรีย ฟารา ประธานสถาบันวิจัยยูริสเพส ระบุในรายงาน พร้อมชี้ว่าปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อนานเกินไปคือสาเหตุหลักที่ทำให้พลเมืองยุโรปรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการร่วมใช้สกุลเงินเดียว
“จำนวนคนยากจนกำลังเพิ่มขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจเป็นไปในเชิงลบจนถึงระดับที่น่ากังวล”
ความปั่นป่วนในยูโรโซนปะทุขึ้นอีกระลอก เมื่อชาวกรีซซึ่งทนไม่ไหวกับมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดพร้อมใจเทคะแนนให้แก่พรรคซีรีซาฝ่ายซ้าย และล่าสุดนายกรัฐมนตรีกรีซคนใหม่ก็ได้ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว(25)ว่า รัฐบาลของเขาจะเจรจาปรับเงื่อนไขกู้ยืมเงินกับองค์กรเจ้าหนี้ “ทรอยกา”
วิกฤตการเงินในกรีซเมื่อปี 2011 เกือบจะทำให้อิตาลีซึ่งมีหนี้สินสูงถึง 2 ล้านล้านยูโรเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
นายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี แห่งแดนมักกะโรนี ได้ออกมาตรการลดภาษีแก่ผู้มีรายได้น้อย และเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ทว่าการปฏิรูปภายในอิตาลีเองก็ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า
บรรดาพรรคฝ่ายค้านในอิตาลีต่างวิจารณ์ผลเสียของการใช้เงินสกุลยูโร รวมไปถึงพรรคขบวนการ 5 ดาวซึ่งเสนอให้ทำประชามติตัดสินว่า คนอิตาลียังต้องการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไปหรือไม่
เศรษฐกิจอิตาลีซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซนไม่มีการขยายตัวแม้แต่ไตรมาสเดียวมาตั้งแต่กลางปี 2011 ส่วนอัตราการว่างงานก็ยังจัดว่าสูงเป็นประวัติการณ์ แม้กรุงโรมจะแถลงเมื่อวันศุกร์(30)ว่า จำนวนคนว่างงานลดลงเหลือไม่ถึง 13% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ตาม
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังส่งผลให้ชาวอิตาลีจำนวนมากตัดสินใจออกไปแสวงโชคในต่างแดน โดยผลโพลเมื่อวันศุกร์(30)พบว่า ชาวอิตาลีร้อยละ 45.4 มีแนวคิดที่จะอพยพไปทำงานในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 40.6 เมื่อปี 2012