xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำกรีซเดินสายระดมฝ่ายสนับสนุน - โอบามา-นายกฯ อิตาลีเชียร์เลิก “แผนรัดเข็มขัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี นิคอส อนาสตาเซียเดส แห่งไซปรัส (ซ้าย) ต้อนรับ อเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซ (ขวา) ณ กรุงนิโคเซีย เมืองหลวงของไซปรัสเมื่อวันจันทร์ (2 ก.พ.)
เอเอฟพี - ผู้นำกรีซหวังได้การสนับสนุนจากโรมในการทบทวนเงื่อนไขเงินกู้ 240,000 ล้านยูโร หลังได้กำลังใจสำคัญจากนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซีของอิตาลี รวมถึงโอบามา และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำกลุ่มใหญ่

อเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายซ้ายของกรีซที่ประกาศยุติมาตรการรัดเข็มขัดที่สหภาพยุโรป (อียู) ร่วมกำหนดกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังกวาดชัยชนะในการเลือกตั้งเกินความคาดหมายและเข้ารับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้คำมั่นว่า จะหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวยุโรปทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี ซีปราส และยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีคลังกรีซ อยู่ระหว่างการเยือนยุโรปเพื่อระดมการสนับสนุนสำหรับการเจรจาทบทวนข้อตกลงเงินกู้ ท่ามกลางการคัดค้านขันแข็งจากเบอร์ลิน

วารูฟากิสนั้นมีกำหนดหารือกับปิเอร์ คาร์โล ปาโดน รัฐมนตรีคลังอิตาลีที่โรมเช้าวันอังคาร (3) ขณะที่ซีปราสจะเดินทางจากไซปรัสไปพบผู้นำแดนมะกะโรนีในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

การเดินทางของผู้นำกรีซดูจะราบรื่นเป็นอย่างยิ่ง หลังจากเรนซีให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (2) ย้ำว่า ยุโรปต้องยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดและหันไปส่งเสริมการเติบโตและการลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้เอเธนส์จัดการสถานการณ์ของตนเองอย่างรอบคอบและมีความรับผิดชอบ

ตรงข้ามกับจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษที่เตือนหลังหารือกับวารูฟากิสในลอนดอนว่า ความขัดแย้งระหว่างกรีซกับยูโรโซนกำลังกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลก
ยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีคลังกรีซ (ซ้าย) จับมือกับ จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ หลังเสร็จสิ้นการหารือกัน ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อวันจันทร์ (2 ก.พ.)
ด้านวารูฟากิส ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ของอังกฤษว่า เอเธนส์ไม่ได้เรียกร้องให้ปลดหนี้ แต่ต้องการสวอปหนี้ รวมทั้งทบทวนเงื่อนไขการรับความช่วยเหลือใหม่ ควบคู่ไปกับกวาดล้างบรรดาเศรษฐีที่เลี่ยงภาษี

ขุนคลังกรีซเสริมว่า จะร่างข้อตกลงที่ปูทางให้กรีซสามารถปฏิบัติตามกฎได้ภายในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงทำให้กรีซหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์นี้โดยสิ้นเชิง

ด้านซีปราส แม้ประกาศระงับการแปรรูปท่าเรือสำคัญ 2 แห่งและรัฐวิสาหกิจไฟฟ้า รวมทั้งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เขายืนยันว่า ไม่มีแผนผิดสัญญาที่ให้ไว้กับอียูและไอเอ็มเอฟ โดยผู้นำกรีซมีกำหนดหารือกับ ฌอง-โกลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ในวันพุธ (4)

ทั้งนี้ แม้ปรับโครงสร้างหนี้ไปเมื่อปี 2012 กรีซยังคงมีหนี้กว่า 315,000 ล้านยูโร หรือ 175% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ซีปราสกล่าวว่า เศรษฐกิจกรีซไม่มีวันฟื้นตัวอย่างแท้จริงจากภาวะถดถอยเรื้อรัง 6 ปีที่นำไปสู่ “วิกฤตด้านมนุษยธรรม” หากปราศจากมาตรการกระตุ้นการเติบโตและการลดหนี้

รัฐบาลใหม่ของกรีซที่ว่าจ้างลาซาร์ด วาณิชธนกิจระดับแนวหน้า เป็นที่ปรึกษาในการจัดการหนี้ ได้รับการสนับสนุนสำคัญจากประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ที่เตือนผ่านซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอาทิตย์ (1) ว่า การบีบคั้นประเทศที่เผชิญภาวะเงินฝืดเรื้อรังเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

นอกจากนี้ สามวันก่อนกรีซจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้า 18 คน ซึ่งรวมถึงเจ้าของรางวัลโนเบลอย่างโจเซฟ สติกลิตซ์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมผ่านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า ถึงเวลาแล้วที่กรีซจะเริ่มต้นใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอียูลดหนี้ให้เอเธนส์ พักชำระดอกเบี้ย และอัดฉีดเงินเพื่อปฏิรูปทางการคลังในกรีซ

หลังจากนั้นไม่กี่วัน พอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์อีกคนตั้งข้อสังเกตว่า การเรียกร้องให้เอเธนส์สร้างงบประมาณเกินดุล 4.5% ของจีดีพีไม่ต่างจากการรีดเลือดกับปู

แม้แต่ไอเอ็มเอฟเองยังยอมรับตั้งแต่กลางปีที่แล้วว่า การกำหนดให้กรีซสร้างงบประมาณเกินดุลตามเงื่อนไขเงินกู้เป็นไปได้ยาก

ซีปราสนั้นไม่เห็นด้วยกับ “ระบบการตรวจสอบของทรอยกา” ซึ่งประกอบด้วยไอเอ็มเอฟ คณะกรรมาธิการยุโรป และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกล่าวโทษเยอรมนีที่ผลักดันมาตรการรัดเข็มขัด

ด้านนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคลแห่งเยอรมนี ยังคงยืนกรานคัดค้านการลดหนี้ให้เอเธนส์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอีซีบีที่ถูกกดดันอย่างหนักเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเตือนว่า อีซีบีไม่สามารถปล่อยกู้ให้กรีซต่อ เว้นแต่จะบรรลุข้อตกลงได้ก่อนเส้นตายสิ้นเดือนนี้

อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ รัฐมนตรีคลังฟินแลนด์ แสดงความเห็นเมื่อวันจันทร์ (2) ว่า อาจขยายเวลาการชำระเงินกู้ของเอเธนส์ออกไป ขณะที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติฝรั่งเศสคัดค้านการปลดหนี้ แต่เห็นว่าควรมีการประนีประนอมในบางระดับ
นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส แห่งกรีซ (ขวา)

กำลังโหลดความคิดเห็น