xs
xsm
sm
md
lg

“ยูโรโซน” พร้อมแค่ไหน หากต้องเผชิญกับ “วิกฤตกรีซเวอร์ชัน 2.0”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเจนซีส์ - ความหวาดผวาในเรื่องที่กรีซจะออกจากยูโรโซน ซึ่งจะสร้างผลกระทบกระเทือนต่อเนื่องอย่างกว้างขวางไปทั่วทั้งยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลก กำลังกลับมาเป็น “ประเด็นร้อน” อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการคาดการณ์ต่างๆ นานาว่า ยุโรปจะสามารถรับมือวิกฤตรอบใหม่จากประเทศนี้ได้หรือไม่ ขณะที่ทวีปนี้เองก็เผชิญปัญหาหนักหน่วงอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราการว่างงานสูง และมีความพยายามที่จะใช้มาตรการกระตุ้นการเติบโตอย่างขนานใหญ่ เพื่อไม่ให้จ่อมจมลงสู่ภาวะเงินฝืด

นักวิเคราะห์และนักการเมืองบางคนเชื่อว่า “วิกฤตกรีซ เวอร์ชัน 2.0” คงไม่เป็นภาระอันหนักหนาสาหัสสำหรับยูโรโซนเท่ากับวิกฤตกรีซภาคแรกในช่วงปี 2010-2012 เนื่องจากเขตเงินตราสกุลเดียวแห่งยุโรปนี้ มีการจัดตั้งปราการปกป้องภัยอย่างใหม่ขึ้นมาใช้รับมือแล้ว โดยที่จวบจนถึงเวลานี้ พวกนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดการเงินก็ยังเห็นด้วยตามนี้

แต่นักวิเคราะห์อีกกลุ่มเตือนว่า ยุโรปดูเบาปัญหาเกินไป เนื่องจากกลไกใหม่ในการปกป้องความปั่นป่วนทางการเงินของยูโรโซนไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่คิดกัน หมายความว่ายังไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่กรีซอาจถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้อีกครั้งหรือกระทั่งต้องออกจากยูโรโซน พร้อมๆ กับที่ปัญหาแผ่ลามไปถึงชาติที่ค่อนข้างอ่อนแอรายอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งปัญหาของยูโรโซนก็จะเป็นประเด็นร้อนแรงสำหรับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากยูโรโซนเป็นคู่ค้าสำคัญของอเมริกา ยุโรปตะวันออก และเอเชีย

เสียงคาดเก็งเรื่องกรีซจะจะออกจากยูโรโซน ถูกโหมกระพือเมื่อวันจันทร์ (5 ม.ค.) หลังจากนิตยสาร แดร์ ชปีเกล ของเยอรมนีรายงานว่า เบอร์ลินมหาอำนาจใหญ่สุดในยูโรโซน ยินดีปล่อยให้กรีซออกจากกลุ่ม หากกรีซละเมิดเงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรีซกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาก่อนกำหนดในวันที่ 25 เดือนนี้ โดยที่ผลโพลต่างชี้ว่า พรรคฝ่ายซ้าย “ไซริซา” คือผู้ที่มาแรงที่สุด จากการเสนอนโยบายให้เอเธนส์ยกเลิกความผูกมัดต่างๆ ที่พ่วงมากับแพกเกจเงินกู้ 286,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับจาก “ทรอยกา” อันได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), ประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน, และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

นโยบายเช่นนี้ของไซริซา เป็นการเกาะกระแสความไม่พอใจของประชาชน ต่อมาตรการเข้มงวดสุดโหดทั้งหลายที่เป็นเงื่อนไขของทรอยกา ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีต่างๆ และการตัดลดงบประมาณใช้จ่ายภาคสาธารณะ ลดค่าแรง และเงินบำนาญ

กระนั้นก็ตาม แม้กระทั่ง ไซริซาเองก็ยอมรับว่ากรีซยังควรที่จะอยู่ในยูโรโซนต่อไป ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องหาเงินกู้เพิ่มเติมเข้ามาจุนเจือพยุงฐานะ

ต่อไปนี้คือความเสี่ยงที่รอคอยอยู่และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้

กลไกใหม่ในการปกป้อง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความมั่นใจในกลไกใหม่ใช้ป้องกันวิกฤตของยูโรโซน ซึ่งรวมถึงกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) อันเป็นกองทุนกู้วิกฤตที่มาจากเงินภาษีของประชาชนและสามารถปล่อยกู้ให้ประเทศสมาชิกที่เผชิญปัญหา อีกกลไกคืออำนาจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในการรับซื้อพันธบัตรของประเทศที่ประสบปัญหาเพื่อพยุงอัตราการกู้ยืมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

โฮลเจอร์ ชมิดดิง จากเบเรนเบิร์กแบงก์ เชื่อว่าหากพรรคไซริซาได้ขึ้นครองอำนาจ อย่างไรเสียพรรคนี้กับพวกเจ้าหนี้ของกรีซก็จะต้องเจรจาต่อรองและทำข้อตกลงบางอย่างกันจนได้ ทั้งนี้เขามองว่า “อุบัติเหตุครั้งใหญ่” เช่น กรีซออกจากยูโรโซน มีความเป็นไปได้เพียง 30% เท่านั้น และถึงแม้เป็นแบบนั้นจริงหรือกรีซผิดนัดชำระหนี้ ผลกระทบต่อตลาดและยูโรโซนก็จะมีเพียงจำกัด

สมมติฐานของชมิดดิงมีความเป็นไปได้เมื่อพิจารณาว่า แม้ขณะนี้ราคาหุ้นและพันธบัตรของกรีซดิ่งลง แต่ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศยูโรโซนที่มีปัญหาหนี้สินหนักรายอื่นๆ อย่างเช่น อิตาลี ยังต่ำอยู่ บ่งชี้ว่านักลงทุนไม่คิดว่าปัญหาของกรีซจะคุกคามสมาชิกยูโรโซนชาติอื่นๆ

อย่าวางใจ

แต่สำหรับมุจตาบา เราะห์มาน จากยูเรเซีย กรุ๊ป กลับมองว่า ยูโรโซนไม่มีภูมิคุ้มกันแน่นหนาอย่างที่บางคนคิด ตัวอย่างเช่นข้อเสนอรับซื้อพันธบัตรของอีซีบี ยังเผชิญความท้าทายทางกฎหมายจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในเยอรมนีและกำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาตัดสินของศาล ขณะเดียวกัน เงินทุนของอีซีบี ยังมาพร้อมเงื่อนไขหฤโหดที่รัฐบาลบางประเทศไม่พร้อมยอมรับ

ที่สำคัญสถานะของยุโรปยังเปราะบางจากการเติบโตชะลอตัวและภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะอิตาลีที่มีหนี้สินรุงรังและผลักดันมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจไปได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เราะห์มานสำทับว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หากมีประเทศหนึ่งออกจากยูโรโซนจะเป็นการชี้โพรงว่า สมาชิกชาติอื่นๆ ก็สามารถทำได้

นอกจากนี้ หากกรีซออกจากยูโรโซน เงินสกุลใหม่ที่จะใช้อาจอ่อนค่ารุนแรงเมื่อเทียบยูโร ส่งผลให้เอเธนส์ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียภาษีในประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับผู้นำในยูโรโซนในภาวะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งเร็ววันนี้

ทางออก

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจชี้ว่า ชาวกรีซยังต้องการอยู่ในยูโรโซน และอเล็กซิส ซีพราส ผู้นำพรรคไซริซา ก็ประกาศเห็นด้วย

แต่หากกรีซคำนวณผิดพลาดทำให้ต้องอำลายูโร เช่น เจ้าหนี้หรือไซริซายืนหยัดข้อเรียกร้องของตนเองมากเกินไปในการเจรจาต่อรอง และทำให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือหรือผิดนัดชำระหนี้ ตลาดการเงินจะปั่นป่วนรุนแรงและฉุดให้แบงก์กรีซล้มระเนระนาด ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก กรีซจะต้องพิมพ์เงินใหม่ออกมาช่วยเหลือตัวเอง

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยุโรปขณะนี้กำลังตกอยู่ในบรรยากาศของความอึมครึม

อเลสซานโดร ไลโพลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มคลังสมอง “ลิสบอน เคาน์ซิล” มองว่า ยุโรปกำลังต้องการเจตจำนงทางการเมือง ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อถึงคราวหน้าสิ่วหน้าขวาน

ไลโพลด์ทิ้งท้ายว่า แม้ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตูม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถวางใจกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้


กำลังโหลดความคิดเห็น