เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผล “เอ็กซิตโพล” ที่มีการเผยแพร่ล่าสุดในกรีซ ชี้ กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย “ซีริซา” จะเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากรีซ เหนือพรรคประชาธิปไตยใหม่ของฝ่ายอนุรักษนิยม ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิส ซามาราสที่กำลังจะหมดอำนาจ
ผล “เอ็กซิตโพล” ที่มีการเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (25 ม.ค.) ชี้ชัด กลุ่มการเมืองซีริซาภายใต้การนำของอเล็กซิส ซีปราส นักการเมืองหนุ่มใหญ่วัย 40 ปี จะได้คะแนนเสียงระหว่าง 35.5-39.5 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 146-158 ที่นั่งจากที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด 300 ที่นั่ง ซึ่งมากพอที่จะส่งให้ซีปราสได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ขณะที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อันโตนิส ซามาราส มีแนวโน้มได้คะแนนเสียงเพียง 23-27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
หากผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่จะมีการประกาศในช่วงเช้าวันจันทร์ออกมาสอดคล้องกับผลเอ็กซิตโพลจะส่งผลให้อเล็กซิส ซีปราส กลายเป็น “หัวหน้ารัฐบาลรายแรก” ของประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรโซน ที่แสดงจุดยืนชัดเจนต่อต้านการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดรวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดจากเงื่อนไขความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ด้าน ปาโนส สกูร์เลติส โฆษกพรรคซีริซา ออกมาประกาศชัยชนะผ่านสถานีโทรทัศน์เมกา ทีวี โดยระบุว่า นี่คือชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ และยังเป็นการส่งสัญญาณว่า นับจากนี้กรีซจะไม่ยอมรับเงื่อนไขและมาตรการทางเศรษฐกิจใดๆ จากภายนอกอีกต่อไป แต่จะหันไปให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตยและการธำรงรักษาศักดิ์ศรีของประเทศ
ทั้งนี้ กลุ่มการเมืองซีริซา ได้ให้คำมั่นตลอดช่วงหาเสียงการเลือกตั้งคราวนี้ ซึ่งจัดให้มีขึ้นก่อนกำหนดถึง 2 ปี ว่า หากพรรคของตนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งก็จะเร่งผลักดันการเปิดเจรจาใหม่ เรื่องบรรดาเงื่อนไขของข้อตกลงเงินกู้ 240,000 ล้านดอลลาร์ที่กรีซทำไว้กับเจ้าหนี้ 3 ฝ่ายหรือ “ทรอยกา” อันประกอบด้วย สหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
ขณะเดียวกัน ซีปราสยังประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดจนออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำ และลดภาษี รวมถึงยกเลิกการตัดค่าใช้จ่ายโครงการภาครัฐ
จุดยืนของพรรคซีริซาในการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดเช่นนี้ กระตุ้นให้เกิดความกังวลรอบใหม่ว่า รัฐบาลเอเธนส์จะหลุดพ้นจากปัญหาหนักหน่วงทางเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ได้หรือไม่ โดยที่วิกฤตการเงินนั้นได้กัดกร่อนให้เศรษฐกิจกรีซลดขนาดลงถึง 25% หรือ 1 ใน 4 และยังผลักให้อัตราว่างงานในหมู่หนุ่มสาวชาวกรีกพุ่งสูงกว่า 50% รวมถึงทำให้หนี้สาธารณะทะยานจาก 146% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็น 175.5% เมื่อปีที่ 2014 ที่ผ่านมา
ขณะที่บรรดาเจ้าหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียู ยังคงยืนยันว่ากรีซต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้ หากต้องการที่จะรับการสนับสนุนต่อ ขณะที่นักลงทุนและตลาดการเงินต่างหวาดผวาว่า ถ้าพรรคฝ่ายซ้ายจัดซีริซาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจริง และไม่สามารถตกลงกับฝ่ายเจ้าหนี้ต่างประเทศได้ กรีซอาจจะถึงขั้นล้มละลายและหมดความสามารถในการชำระหนี้สินอย่างสิ้นเชิง