เอเอฟพี - วันนี้ (25 ม.ค.) กรีซกำลังเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่อาจนำชัยชนะมาสู่พรรคซ้ายจัด “ซีริซา” และหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะกลายเป็นความท้าท้ายร้ายแรงที่สุดต่อนโยบายรัดเข็มขัดในกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่กำลังดิ้นรนรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ
อเล็กซิส ซีปราส หัวหน้าพรรควัย 40 ปี และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของซีริซา จะกลายเป็นตัวแทนของการหุนหันกระโจนลงสู่เส้นทางที่ยังไม่รู้ว่าหมู่หรือจ่า แต่ก็มีแววว่า ชาวกรีกจำนวนมากพร้อมจะลองเสี่ยงดูสักตั้ง หลังต้องทนทุกข์เพราะพิษเศรษฐกิจมานานหลายปี
ซีปราส ต้องการเจรจาต่อรองเงื่อนไขในการชำระหนี้มหาศาลมูลค่า 3.18 แสนล้านยูโรของกรีซใหม่อีกครั้ง และยุติการปรับลดค่าแรง การตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งระงับแผนการปลดเจ้าหน้าที่รัฐ และแผนแปรรูปวิสาหกิจทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เจ้าหนี้นานาชาติเรียกร้องต้องการจากกรีซ
การที่มีความเป็นไปได้ว่า พรรคซีริซาจะสามารถคว้าชัยชนะในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้จุดชนวนให้เกิดความหวั่นวิตกว่า กรีซจะไม่ยอมชำระหนี้ รวมทั้งละทิ้งสถานะชาติสมาชิก “ยูโรโซน” อันประกอบด้วย 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกขนานนามว่า “Grexit”
พรรคซีริซา ได้รับคะแนนสูงกว่า พรรครัฐบาลอนุรักษนิยม “นิวเดโมเครติก” ของนายกรัฐมนตรี อันโตนิส ซามาราส อย่างน้อย 4 จุด ทั้งนี้ ตามการประมาณการครั้งล่าสุด
หน่วยเลือกตั้งในกรีซเปิดทำการในเวลา 05.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 12.00 น. ในเมืองไทย) และจะปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 0.00 น. ในเมืองไทย) โดยคาดหมายว่า จะมีการเปิดเผยผลเอ็กซิทโพลทันที หลังการลงคะแนนเสียงสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ กรีซมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงราว 9.8 ล้านคน
ซีปราซ ได้ให้คำมั่นว่าจะทวงคืน “ศักดิ์ศรี” ให้แก่กรีซ และจะเผชิญหน้ากับกลุ่มเจ้าหนี้ “ทรอยกา” อันประกอบด้วย สหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้กรีซปฏิบัติตาม เพื่อแลกกับการอนุมัติเงินกู้ 2.4 แสนล้านยูโร
ผู้นำพรรคซีริซาชี้ว่า กรีซกำลังตกอยู่ในสถานะที่ “ไม่ยั่งยืน” เนื่องจากถูกบีบให้ชำระหนี้ที่กำลังบานปลาย ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังหดตัว
ในขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟได้ออกมากล่าวเตือนกรีซว่า การไม่ชำระหนี้จะก่อให้เกิด “ผลกระทบตามมา”
ทางด้าน นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งแยอรมนี ซึ่งถูกมองว่าเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้อียูใช้นโยบายรัดเข็มขัดกล่าวว่า เธอหวังว่า กรีซจะยังคงเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป
เธอกล่าวเมื่อวันศุกร์ (23) ว่า “ถึงแม้จะประสบความยากลำบาก แต่ดิฉันก็ยังต้องการให้กรีซ” อยู่ร่วมกับเราต่อไป
กรีซ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2004 ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรวดเร็ว นับแต่วิกฤตยูโรโซนเปิดฉากขึ้น จนกระตุ้นให้ตัวเลขการว่างงานพุ่งทะลุ 25 เปอร์เซ็นต์