xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิตอียู จี้ “อังกฤษ” ให้เลิกเตะถ่วง รีบถอนตัว-อย่าหวังได้สิทธิพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ พูดกับสื่อมวลชน ขณะเดินทางมาถึงสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันอังคาร (28 มิ.ย.) เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตอียู ที่จะหารือกันเรื่องการถอนตัวออกไปของอังกฤษ </i>
เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ เดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์ ในวันอังคาร (28 มิ.ย.) เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตที่บรรยากาศเป็นไปด้วยความตึงเครียด โดยที่เหล่าผู้นำยุโรปผู้โกรธเกรี้ยวกำลังกดดันให้ลอนดอนเร่งดำเนินกระบวนการถอนตัวออกจากอียูโดยเร็ว อีกทั้งยืนกรานว่าจะไม่มีการอ่อนข้อ หรือให้การปฏิบัติเป็นพิเศษใด ๆ แก่อังกฤษ

ห้าวันหลังจากชาวอังกฤษสร้างความตื่นตะลึงให้แก่อียู ด้วยการลงประชามติให้ถอนตัวออกจากสหภาพที่ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 28 ชาตินี้ พวกผู้นำยุโรปก็ดูมีท่าทีเป็นเอกภาพ และพร้อมที่จะแจ้งให้อังกฤษทราบอย่างตรงไปตรงมา ว่า พวกเขาต้องการให้ลอนดอนถอนตัวออกไปโดยเร็ว และอย่าหวังว่าจะได้รับอภิสิทธิ์ใด ๆ

โดนัลด์ ทุสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป แถลงว่า อียูพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการหย่าขาดกับอังกฤษ “แม้กระทั่งในวันนี้เลย” พร้อมกับสำทับว่า เขาได้สั่งห้ามเจ้าหน้าที่อียูทั้งหลายจัดการพูดจา “ลับ ๆ” กับอังกฤษแล้ว ขณะที่รัฐสภายุโรปก็เรียกร้องให้อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกไป “โดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้”
<i>นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี แถลงในระหว่างการสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่อง “เบร็กซิต” ของสภาล่างเยอรมนี ในกรุงเบอร์ลิน วันอังคาร (28 มิ.ย.) โดยที่เธอกล่าวเตือนอังกฤษว่า อย่าหวังแต่จะเลือกหยิบเก็บเฉพาะสิ่งดีๆ ตีจากไป แต่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการสูญเสียด้วย </i>
ในกรุงเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี กล่าวเตือนว่า คาเมรอนไม่ควรคิดว่าในการเจรจากับอียูเรื่องการถอนตัวออกไปนั้น อังกฤษจะสามารถเลือกหยิบเอาไปแต่สิ่งดี ๆ และอังกฤษต้องเตรียมตัวที่จะจ่ายสำหรับเรื่องการผละจากไปนี้ด้วย

“ใครก็ตามที่ปรารถนาจะผละจากครอบครัวนี้ ไม่สามารถคาดหมายเพียงว่าจะละทิ้งความผูกมัดทั้งหมดทั้งปวง แต่ยังจะเก็บอภิสิทธิ์ต่าง ๆ เอาไว้” แมร์เคิลกล่าวต่อรัฐสภาเยอรมัน

การประชุมซัมมิตอียูในวันอังคาร (28) ซึ่งมีกำหนดเริ่มขึ้นในช่วงบ่าย ๆ เปิดขึ้นท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวอย่างล้ำลึกของผู้นำยุโรปอื่น ๆ อีก 27 ชาติ ที่มีต่อคาเมรอน โดยแรกสุดทีเดียว คือ การที่เขาประกาศจัดให้มีการลงประชามติ “เบร็กซิต” และประการต่อมา คือ การรณรงค์หาเสียงของเขาซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายที่ต้องการอยู่กับอียูต่อไป

ความโกรธเกรี้ยวเหล่านี้ยังสะสมตัวทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นจากความขุ่นเคืองที่มองเห็นกันว่า เวลานี้อังกฤษดูเหมือนจะเตะถ่วงเรื่องกระบวนการถอนตัว ด้วยความหวังว่าจะทำให้ตนได้เปรียบในการเจรจาต่อรอง ทว่า มีแต่จะยิ่งทวีความเข้มแข็งของกลุ่มพลังคัดค้านอียูภายในประเทศยุโรปอื่น ๆ เท่านั้น

คาเมรอน แถลงแล้วว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่ง และกล่าวต่อสภาสามัญของอังกฤษในวันจันทร์ (27) ว่า เขาจะยังไม่เริ่มต้นกระบวนการถอนตัวออกจากอียู ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็คือ อังกฤษต้องแสดงความจำนงในเรื่องนี้ภายใต้มาตรา 50 ของสนธิสัญญากรุงลิสบอนของอียู การแสดงความจำนงเริ่มกลไกดังกล่าวหมายความว่า จะต้องดำเนินการเจรจาเรื่องออกจากสมาชิกภาพให้จบภายในกรอบเวลา 2 ปี

แหล่งข่าวในรัฐบาลอังกฤษ เปิดเผยว่า คาเมรอนจะยืนยันในที่ประชุมซัมมิต ว่า การเริ่มกลไกตามมาตรา 50 จะเป็นหน้าที่ของนายกฯคนใหม่ของอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวในเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ดี ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู พูดในวาระการประชุมวันอังคาร (28) ของรัฐสภายุโรป ว่า “ไม่มีการแสดงความจำนง (ตามมาตรา 50) ก็ไม่มีการเปิดเจรจาใด ๆ” เขาบอกด้วยว่า “ต้องเป็นเราซึ่งเป็นผู้ตัดสินว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ไม่ใช่พวกที่ปรารถนาจะผละออกจากสหภาพยุโรป”
<i>นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี (กลาง), ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส(ซ้าย), และนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซีของอิตาลี (ขวา) ร่วมกันแถลงข่าวที่สำนักนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ภายหลังปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับผลของ “เบร็กซิต” ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันจันทร์ (27 มิ.ย.) โดยพวกเขาสำทับว่า จะไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษ จนกว่าอังกฤษจะยื่นคำร้องขอถอนตัวต่ออียู </i>
ท่าทางเช่นนี้สอดคล้องกับผลการประชุมในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันจันทร์ (27) ของนายกรัฐมนตรี แมร์เคิลของเยอรมนี, ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี ของอิตาลี

ผู้นำของ 3 ชาติที่ใหญ่ที่สุดในอียู ภายหลังการถอนตัวออกไปของอังกฤษ ต่างปฏิเสธข้อเสนอแนะจากลอนดอน ที่ต้องการ “ภาพที่ชัดเจน” ของความสัมพันธ์ทางการค้าในอนาคตกับอียู ก่อนเริ่มกระบวนการถอนตัว

พวกเขาเห็นตรงกันว่า จะไม่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษ จนกว่าอังกฤษจะยื่นคำร้องขอถอนตัวต่ออียู

แมร์เคิล, ออลลองด์ และ เรนซี ยังเห็นว่า ยุโรปจำเป็นต้องรับมือความกังวลของประชาชน โดยการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับปรุงความมั่นคงปลอดภัย เศรษฐกิจ และอนาคตสำหรับคนหนุ่มสาว

ถึงแม้การรีรอลังเลที่จะเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าว ทำให้บางประเทศสมาชิกอียู คิดว่า อาจยังพอมีช่องทางเพื่อให้อังกฤษคงอยู่กับอียูต่อ เช่น หัวหน้าพรรครัฐบาลของโปแลนด์ ที่เสนอเมื่อวันจันทร์ว่า สหราชอาณาจักรควรจัดทำประชามติอีกครั้ง

ทว่า สมาชิกสายเหยี่ยว ซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส กลับยื่นคำขาดว่า อังกฤษไม่ควรเสียเวลาอีกต่อไป

ในวันพุธ (29) ซึ่งเป็นวันที่สองของการประชุมซัมมิต ผู้นำ 27 ชาติอียูจะหารือโดยไม่มีคาเมรอน เกี่ยวกับอนาคตของกลุ่มท่ามกลางความกังวล ว่า จะเกิดปรากฏการณ์โดมิโนในประเทศที่มีกระแสต่อต้านอียู

กำลังโหลดความคิดเห็น