xs
xsm
sm
md
lg

EU เตือนแรง “อังกฤษ” จะเป็นแค่ “ประเทศที่สาม” บีบรับผู้อพยพแลกเข้าถึงการค้าเสรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป(ซ้าย) และนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ระหว่างการประชุมซัมมิตอียู ณ สำนักงานใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันพุธ(29มิ.ย.) โดยไม่มีตัวแทนจากอังกฤษเข้าร่วมเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ตามหลังการโหวตเบร็กซิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เอเอฟพี - อังกฤษได้ลิ้มรสอนาคตของการอยู่รอบนอกอียูเป็นครั้งแรกในวันพุธ (29 มิ.ย.) ด้วยเหล่าผู้นำยุโรปประชุมกันโดยไม่มีนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน เข้าร่วม และเตือนว่าลอนดอนจำเป็นต้องรับผู้อพยพจากอียูหากต้องการเข้าถึงเขตการค้าเสรีของกลุ่ม

ผู้นำของรัฐบาลชาติต่างๆ ในอียู ซึ่งประชุมกันโดยไม่มีตัวแทนจากอังกฤษเข้าร่วมเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ระบุในถ้อยแถลงว่าอังกฤษจะได้รับการปฏิบัติในฐานะ “ประเทศที่สาม” ทั้งด้านสิทธิและพันธสัญญาต่างๆ

นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานอียูแถลงข่าวว่า การเข้าถึงตลาดเดียวอันใหญ่โตมโหฬารของอียูซึ่งมีประชากรกว่า 500 ล้านคน จำเป็นต้องยอมรับเสรีภาพทั้ง 4 ในนั้นรวมถึงเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายเสรี ความเห็นดังกล่าวก่อความผิดหวังใหญ่หลวงแก่ฝ่ายรณรงค์เบร็กซิต ที่ให้สัญญาจำกัดการรับผู้ลี้ภัยจากอียู พร้อมรับประกันกับบริษัทต่างๆ ของอังกฤษว่าจะยังคงสามารถขายสินค้าและบริการแก่สหภาพยุโรปได้ง่ายตามปกติ

ด้านนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเตือนเช่นกันว่า ลอนดอนจะไม่สามารถเลือกเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ของการถอนตัวได้ตามใจชอบ

มีความกังวลว่าพวกต่อต้านยุโรปจะเติบโตขึ้นในรัฐสมาชิกหลายประเทศ ซึ่งการปล่อยให้อังกฤษเลือกเงื่อนไขต่างๆ ในการถอนตัวตามที่ปรารถนามากเกินไปจะกระพือผลกระทบแบบโดมิโนต่อชาติอื่นๆ ในการแยกตัวจากอียู

คาเมรอน ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยในวันอังคาร (28 มิ.ย.) ที่อาจเป็นซัมมิตอียูในบรัสเซลส์ครั้งสุดท้ายของเขา กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักให้เริ่มกระบวนการถอนตัวอย่างทันทีทันใด ด้วยการแจ้งกับอียูว่าอังกฤษต้องการแยกตัวออกไป

อย่างไรก็ตาม นายคาเมรอนขัดขืนแรงกดดันที่ต้องการให้เริ่มใช้กลไกตามมาตรา 50 เพื่อออกจากอียูในทันที โดยบอกว่าจะมอบหน้าที่นี้แก่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งกว่าจะมีการเสนอชื่อคงต้องรออย่างน้อยๆ จนถึงวันที่ 9 กันยายน

เหล่าผู้นำอียูบอกว่า จนกว่าจะได้รับแจ้ง การเจรจาใดๆ ก็ไม่สามารถเริ่มต้นได้ ไม่ว่าจะแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ต่อการกำหนดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างอียูกับอังกฤษ ซึ่งกระบวนการนี้คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ 2 ปี

ในความพยายามปกป้องการถอนตัวเพิ่มเติม เหล่าผู้นำอียูเห็นพ้องในวันพุธ (29 มิ.ย.) ว่าพวกเขาจำเป็นต้องดำเนินการมากขึ้นในการต่อสู้สยบความไม่พอใจต่อเรื่องวุ่นวายต่างๆ ในปัจจุบัน “ยุโรปคาดหมายให้เราทำให้ดีกว่าเดิม ทั้งด้านมอบความปลอดภัย การงานและการเติบโต เช่นเดียวกับความหวังสำหรับอนาคตที่ดีขึ้น” ถ้อยแถลงร่วมระบุ “เสียงสะท้อนทางการเมืองมอบแรงกระตุ้นสำหรับปฏิรูปเพิ่มเติม”

ขณะเดียวกัน นิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่ 1 ของสกอตแลนด์ เผยว่า เธอรู้สึกมีกำลังใจหลังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อียู ในการปกป้องสถานะของสกอตแลนด์ในอียูตามหลังเบร็กซิต

ในขณะที่สหราชอาณาจักรทั้งหมดโหวตออกจากอียู 52-48 เปอร์เซ็นต์ แต่หากนับเฉพาะชาวสกอตแลนด์แล้ว พบว่ามีการโหวตต้องการอยู่ต่อถึง 62 ต่อ 38 เปอร์เซ็นต์

ชาวสกอตแลนด์ปฏิเสธแยกตัวเป็นเอกราชในปี 2014 ทว่านับตั้งแต่การโหวตเบร็กซิตเมื่อวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ที่แล้ว ได้กระพือเสียงเรียกร้องให้จัดลงประชามติอีกครั้ง เพื่อเปิดทางให้สกอตแลนด์มีทางเลือกอยู่ในอียูต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้รับประกันว่าจะมีการจัดลงประชามติอีกรอบและผลลัพธ์น่าจะโอนเอียงไปทางการแยกตัวจากสหราชอาณาจักร แต่การได้สถานะสมาชิกอียูของสกอตแลนด์ก็ยังมิอาจการันตีได้

มาเรียโน ราฮอย รักษาการนายกรัฐมนตรีสเปนในวันพุธ (29 มิ.ย.) เผยว่า มาดริดจะคัดค้านการแยกเจรจากับสกอตแลนด์ต่ออนาคตของพวกเขาในสหภาพยุโรป ด้วยความกังวลว่ามันอาจกลายเป็นแบบอย่างของพวกแบ่งแยกดินแดนในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะคาตาลัน แคว้นร่ำรวยที่สุดของแดนกระทิงดุ


กำลังโหลดความคิดเห็น