xs
xsm
sm
md
lg

‘อิสราเอล’เตรียมยอมกลืนยาขม “ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน”

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Israel prepares to swallow the bitter Iran pill
By M K Bhadrakumar
16/05/2015

เนื้อหาสาระอันสำคัญสำหรับเตหะราน ซึ่งออกจากการประชุมระหว่าง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับพวกหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ณ แคมป์เดวิด เมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ย่อมได้แก่การที่โอบามาสามารถปิดปากพวกรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียเหล่านี้ และบีบคั้นให้พวกเขาแสดง “ความสนับสนุน” ต่อข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านซึ่งกำลังจะออกมาในไม่ช้าไม่นานนี้ สำหรับอิสราเอลนั้น ถึงแม้โอบามาย่อมไม่สามารถใช้วิธีอย่างเดียวกันนี้มาจัดการ แต่ด้วยความเป็นประเทศที่คำนึงถึงผลในทางปฏิบัติและมองโลกตามสภาพความเป็นจริง อิสราเอลจึงน่าจะหันมายอมกลืนกิน “ยาขมข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน” นี้ เช่นกัน

อิหร่านมีท่าทียอมรับโดยสงบ ในผลการประชุมระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กับบรรดาหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศสมาชิก “คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวเปอร์เซีย” (Gulf Cooperation Council ใช้อักษรย่อว่า GCC) ซึ่งปิดฉากลงที่แคมป์เดวิด ในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ที่ผ่านมา อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน (Supreme Leader) แสดงอาการเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ ในระหว่างที่เขาพูดในกรุงเตหะรานเมื่อวันศุกร์ (15 พ.ค.) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.irna.ir/en/News/81610085/)

เนื้อหาสาระอันสำคัญสำหรับเตหะราน ซึ่งออกจากการประชุม ณ แคมป์เดวิด ย่อมได้แก่การที่โอบามาสามารถปิดปากพวกรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียเหล่านี้ และบีบคั้นให้พวกเขาแสดง “ความสนับสนุน” ต่อข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านซึ่งกำลังจะออกมาในไม่ช้าไม่นานนี้ ฝูงชนซึ่งชุมนุมส่งเสียงโหวกเหวกโวยวายในย่านเพื่อนบ้านใกล้เคียงของอิหร่าน โดยถึงขั้นมีการข่มขู่คุกคามว่าจะก่อกบฎ ไม่ยินยอมต่อการที่โอบามาปรับนโยบายกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับเตหะราน เวลานี้กลับสงบปากสงบคำและแยกย้ายกันจากไปแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ต้องชมเชยว่าฉลาดหลักแหลมจริงๆ และเราสามารถคาดหมายได้อย่างเต็มที่ว่า สักวันหนึ่งข้างหน้าบรรดาผู้ปกครองรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียเหล่านี้จะต้องผงกเศียรและพูดพึมพำออกมาว่า การทำข้อตกลงกับอิหร่าน เป็นสิ่งที่สอดคล้องสนับสนุน “ผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคง” ของพวกเขา

เหล่าผู้ปกครองรัฐริมอ่าวเปอร์เซียนั้น เข้าอกเข้าใจดีว่า สหรัฐฯมองการทำข้อตกลงกับอิหร่านให้สำเร็จเป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด ดังนั้นทางเดินสำหรับพวกเขาจึงมีเพียงต้องเลือกเอา ระหว่างการแยกห่างออกจากสหรัฐฯและสับสวิตซ์เข้าสู่โหมดแสดงการท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ต่อวอชิงตัน หรือไม่ก็ต้องยอมรับสิ่งที่สามารถทำนายคาดเดาได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วและออกมารับมือกับมันโดยรักษาความสง่างามเอาไว้เท่าที่จะกระทำได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากข้อเขียนของผู้เขียน ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือเรื่อง Obama extracts GCC support for Iran deal http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2015/05/15/obama-extracts-gcc-support-for-iran-deal/ หรือดูฉบับเก็บความเป็นภาษาได้ที่ ‘โอบามา’บีบคั้นให้ ‘รัฐอาหรับ’ หนุน ‘ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน’ http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000055870) ในทางเป็นจริงแล้วสำหรับผู้ปกครองเผด็จการเหล่านี้ซึ่งความสนับสนุนที่ได้รับจากสหรัฐฯมีความหมายเท่ากับเส้นชีวิตถึงขั้นเป็นขั้นตายของพวกเขาทีเดียวนั้น ในเรื่องนี้พวกเขาไม่ได้มีทางเลือกอื่นใดอย่างแท้จริงหรอก

สภาวการณ์อย่างเดียวกันนี้ เราสามารถนำมาใช้พูดถึงอิสราเอลได้ด้วยหรือไม่? ต้องยอมรับว่าอิสราเอลนั้นไม่เหมือนกับพวกชนชั้นปกครองกลุ่มน้อยชาวอาหรับที่โบราณล้าหลัง อิสราเอลนั้นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ประเทศนี้มีรัฐบาลซึ่งต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างถึงที่สุดต่อประเทศชาติและไม่มีใครอื่นอีกแล้ว ขณะที่อิสราเอลอาจจะเป็นผู้ที่รับความช่วยเหลืออันสำคัญมากๆ จากสหรัฐฯ แต่ประเทศนี้ก็เป็นเจ้าของระบบเศรษฐกิจที่คึกคัก และเป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวยรายหนึ่งเมื่อวัดจากมาตรฐานต่างๆ ของโลก โดยหลักการแล้ว อิสราเอลจึงเป็นสถานที่อันเหมาะสมที่จะเดินหน้าลุยไปตามแต่ใจปรารถนา ตามแบบฉบับหนังคาวบอยที่มี จอห์น เวย์น เป็นพระเอก

แต่อิสราเอลจะวางตัวเช่นนั้นจริงๆ หรือ? จากการที่มติระหว่างประเทศอันมากมายล้นพ้น ต่างแสดงการยอมรับเหตุผลความชอบธรรมของการที่พวกมหาอำนาจของโลกจะทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน อีกทั้งลู่ทางโอกาสที่รัฐสภาสหรัฐฯจะกำจัดข้อตกลงนี้ให้ด่าวดิ้นไปก็กำลังมืดมัวลงเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผันผ่านไป อิสราเอลจึงจำเป็นต้องทำการขบคิดพิจารณาให้รวดเร็ว ความหวังสุดท้ายของประเทศนี้เคยอยู่ที่การพยายามจัดตั้งแนวร่วมกับพวกชนชั้นปกครองส่วนน้อยในรัฐริมอ่าวเปอร์เซีย เพื่อคัดค้านข้อตกลงกับอิหร่าน ทว่าเรื่องนี้ก็ได้แหลกสลายจ่อมจมหายไปในทรายดูดของการเมืองย่านอ่าวเปอร์เซียเสียแล้ว (หมายเหตุกอง บ.ก.เอเชียไทมส์ - การประชุมซัมมิตแคมป์เดวิดคราวนี้ ยังถึงขั้นเห็นพ้องรับรองจุดยืนในประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ อันไม่เป็นมิตรต่ออิสราเอลด้วยซ้ำ นั่นคือ การเน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ด้วยการให้มีทั้งรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ตั้งขึ้นมาเคียงคู่กัน)

ในความเห็นของผมแล้ว ในช่วงเวลาตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนอันเป็นกำหนดเส้นตายของการจัดทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ โอบามาไม่น่าจะลงแรงใช้ความพยายามอีกรอบหนึ่งกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ของอิสราเอล เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ ทว่าอิสราเอลก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเจรจาเช่นนั้นมาโน้มน้าวจูงใจตนเองหรอก อิสราเอลเป็นประเทศที่ยึดมั่นอยู่กับผลในทางปฏิบัติ และเนทันยาฮู ก็เป็นผู้ที่ยึดมั่นอยู่กับสภาพความเป็นจริงอย่างแรงกล้า เขาทราบดีว่า การเรียกร้องให้ทำการถล่มทิ้งระเบิดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แบบที่ (วุฒิสมาชิกอเมริกัน) จอห์น แมคเคน (John McCain) ฮัมเพลงโดยดัดแปลงเนื้อร้องของ เดอะ บีช บอยส์ (the Beach Boys) ว่า “Bomb, bomb, bomb, bomb, bomb Iran” นั้น (ดูการฮัมเพลงของ จอห์น แมคเคน ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=o-zoPgv_nYg) เป็นเพียงเสียงเรียกร้องอันชวนครึ้มอกครึ้มใจ ทว่าแปลกเพี้ยนไปจากแนวความคิดกระแสหลักเสมอมา

กระนั้นก็ตาม มันก็ยังน่าสนุกที่จะคอยเฝ้าติดตามว่าอิสราเอลจะกลืมยาขมข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนี้ด้วยลักษณะอย่างไร เนทันยาฮูจะเจ๋งมากทีเดียว หากเขาพยายามฉวยคว้าอะไรบางอย่างติดไม้ติดมือออกมาจากสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ เป็นต้นว่า ด้วยการบีบคั้นให้โอบามายินยอมอ่อนข้อสิ่งที่จับต้องได้อย่างแท้จริงบางอย่างบางประการ --แน่นอนทีเดียว ต้องไม่อยู่ในลักษณะแค่คำพูดซ้ำซากจำเจที่พวกรัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซียได้รับจากสหรัฐฯ ในการประชุม ณ แคมป์เดวิด คราวนี้

อันที่จริงแล้ว สหรัฐฯไม่เคยต่อต้านแนวความคิดที่ว่าควรจะต้องให้ความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นแก่อิสราเอล แถมการกระทำเช่นนั้นยังมักจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ได้รับความนิยมสูงทั้งจากรัฐสภา , สื่อมวลชน, และสำนักคลังสมองต่างๆ ของสหรัฐฯ ถ้าหากโอบามาเสนอเรื่องเช่นนี้ออกมา ย่อมจะสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากทั้งสองพรรคใหญ่ อันเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินจากชนชั้นการเมืองของอเมริกาในช่วงหลังๆ นี้ ด้วยเหตุนี้ มันจึงขึ้นอยู่กับความหลักแหลมคล่องแคล่วของเนทันยาฮูเอง ที่จะรวบรวมผูกเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้าด้วยกัน และนำเสนอ “บัญชีรายการที่พึงปรารถนา” อันน่าพออกพอใจออกมา –ทั้งนี้ ถ้าหากเขายังไม่ได้ทำบัญชีอย่างที่ว่าเสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ

หนังสือพิมพ์เยรูซาเลมโพสต์ (Jerusalem Post) ฉบับวันนี้ (วันเสาร์ที่ 16 พ.ค. http://www.jpost.com/Middle-East/The-issue-that-could-bring-Iran-and-Saudi-Arabia-to-the-negotiating-table-403237) แสดงความเห็นในลักษณะมองอย่างกลางๆ ต่อการจัดแนวจับกลุ่มต่างๆ กันใหม่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นบนกระดานหมากตะวันออกกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ภายหลังที่มีการทำข้อตกลงด้านนิวเคลียร์แล้ว และต่อจากนั้นอิหร่านก็สามารถพุ่งผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งในภูมิภาค เยรูซาเลมโพสต์คาดการณ์ว่าจะมีการปรองดองรอมชอมกันระหว่างอิหร่านกับบรรดารัฐอาหรับริมอ่าวเปอร์เซีย โดยอิงอาศัยการที่นโยบายในภูมิภาคทั้งของอิหร่านและของซาอุดีอาระเบียต่างก็ลดความดุเดือดรุนแรงต่อกันลงและหันมาสู่ทางสายกลางมากขึ้น การประเมินเช่นนี้ทั้งสอดคล้องกับความจริงมากและมีโอกาสเกิดขึ้นได้อย่างมาก

เมื่อพิจารณากันถึงทางเดินข้างหน้า ความท้าทายที่อิสราเอลกำลังเผชิญอยู่ เอาเข้าจริงแล้วก็คือความท้าทายที่จะต้องเอาชนะใจตนเอง ไม่ยอมจำนนเดินไปตามอารมณ์ล่อใจของการวางตนเป็นนักเลงโตในท้องถิ่น ตรงกันข้ามกลับต้องพยายามมุ่งหันมาเรียนรู้บทเรียนในการควบคุมตนเอง มันเป็นเวลาที่จะต้องก้มศีรษะลงมาให้ต่ำกว่าเชิงเทินสักพักหนึ่ง รอคอยไปจนกว่าจะถึงช่วงของการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

โดยพื้นฐานแล้ว โอบามากล่าวถูกต้องแล้วที่ยืนยันว่า ข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน จะเป็นผลประโยชน์ของอิสราเอลด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้โดยต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจว่า ข้อตกลงของโอบามานี้จะไม่ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับโดยทายาทของเขา ไม่ว่าพวกฝ่ายขวาในสหรัฐฯจะระบุกล่าวอ้างอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้เพราะการบอกปัดสัญญาที่คณะบริหารชุดก่อนของประเทศตนได้กระทำไว้ มีแต่ทำให้สหรัฐฯถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ และทำให้การดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯไปถึงทางตัน ก็ใครกันล่ะจะยินยอมเชื่อถือรับฟังคำพูดของอเมริกาต่อไปหลังจากนี้?

ในเวลาเดียวกัน อิสราเอลสามารถที่จะเชื่อถือได้ว่า ฝ่ายอิหร่านนั้นมีความหลักแหลมคล่องแคล่วอย่างเพียงพอ และจะไม่เป็นตัวการทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์นี้ต้องพังครืนลงไปเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ทั้งหมดที่จะต้องขบคิดพิจารณากันก็คือ ในเวลานี้อิสราเอลได้กระทำทุกสิ่งทุกอย่างจนสุดกำลังของตนแล้วเพื่อฆ่าข้อตกลงนิวเคลียร์ให้ด่าวดิ้น และก็ประสบความล้มเหลวไปอย่างน่าประทับใจ มันจึงถึงเวลาแล้วที่อิสราเอลจะหันมาเข้าร่วมกับฝ่ายที่กำลังเป็นผู้ชนะของบารัค โอบามา

(สำนักข่าววายเนตนิวส์ Ynetnews เพิ่งเสนอรายงานข่าวแบบมุ่งมองโลกในความเป็นจริง โดยอ้างอิงแหล่งข่าวชาวอิสราเอลระดับสูง นับว่าเป็นบทความที่น่าสนใจ เชิญดูรายละเอียดได้ที่http://www.ynetnews.com/articles/0,7340,L-4657389,00.html)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น