xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองนักยุทธศาสตร์อิสราเอลว่าด้วย ‘ข้อตกลงกับอิหร่าน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Israeli strategist: There is no better deal with Iran
Author: David P. Goldman
09/04/2015

ศาสตราจารย์ เอฟราอิม อินบาร์ ผู้เป็นนักวิเคราะห์เหตุการณ์โลกได้อย่างเฉียบคมที่สุดคนหนึ่งของอิสราเอล แสดงความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ข้อตกลงที่ดีกว่านี้” ระหว่างกลุ่ม P5+1 กับอิหร่าน นั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้หรอก กระนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงนี้ มีประโยชน์อันสำคัญตรงที่จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่การที่อิสราเอลจะทำการโจมตีทางทหารต่ออิหร่านในท้ายที่สุด

ศาสตราจารย์ เอฟราอิม อินบาร์ (Ephraim Inbar) ผู้อำนวยการของศูนย์เบกิน-ซาดัต เพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (Begin-Sadat Center for Strategic Studies ใช้อักษรย่อว่า BESA Center) ณ มหาวิทยาลัยบาร์-อิลลัน (Bar-Illan University) เป็นนักวิเคราะห์เหตุการณ์โลกได้อย่างเฉียบคมที่สุดคนหนึ่งของอิสราเอล ในข้อเขียนเมื่อเร็วๆ นี้ ของเขาซึ่งนำมาตีพิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์ BESA Center อินบาร์ชี้ว่า “ข้อตกลงที่ดีกว่านี้” กับอิหร่าน นั้นไม่มีหรอก เขาเสนอด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลง (ระหว่างอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจของโลก ซึ่งเรียกขานกันว่า “กลุ่ม P5+1” --ผู้แปล) ฉบับที่มีอยู่ในขณะนี้ (หรือจะเรียกว่า มันยังเป็นแค่ร่างข้อตกลง, กรอบโครงข้อตกลง, หรืออะไรก็ตามที) ประโยชน์สำคัญที่สุดที่จะเกิดขึ้นก็คือ มันจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมสมเหตุสมผลให้แก่การที่อิสราเอลจะทำการโจมตีทางทหารต่ออิหร่านในท้ายที่สุดนั่นเอง สาระสำคัญๆ ของข้อเขียนของเขา มีดังต่อไปนี้:

ข้อตกลงฉบับนี้อนุญาตให้อิหร่าน สามารถรักษาคลังเก็บยูเรเนียมที่ผ่านการเพิ่มสมรรถนะแล้ว, สามารถที่จะดำเนินการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมต่อไปได้, และสามารถที่จะเก็บสิ่งปลูกสร้างทางนิวเคลียร์ซึ่งสร้างขึ้นมาอย่างผิดกฎหมายทั้งที่ ฟอร์ดาว (Fordow) และที่ อารัค (Arak) เอาไว้ได้ ถึงแม้ยังไม่ได้มีการลงนามในข้อตกลงฉบับสมบูรณ์กันเลย แต่สหรัฐฯและเหล่าหุ้นส่วนที่เข้าร่วมในการเจรจาของสหรัฐฯคราวนี้ ก็ได้มอบรางวัลแก่อิหร่าน ด้วยการให้ฐานะ “ประเทศที่อยู่ตรงธรณีประตูทางนิวเคลียร์” (nuclear threshold status นั่นคือ ยังไม่ทันก้าวข้ามธรณีประตูไป แต่ถ้าขยับอีกนิดเดียวก็จะก้าวข้ามเข้าสู่การเป็นรัฐซึ่งสามารถที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครอง -ผู้แปล) แก่อิหร่านเสียแล้ว เมื่อพิจารณาจากอาการดิ้นพล่านต้องการให้ได้ข้อตกลงออกมาเสียเหลือเกินของสหรัฐฯเช่นนี้ มีความเป็นไปได้เต็มๆ ที่สหรัฐฯจะยินยอมอ่อนข้อเพิ่มเติมกว่านี้อีก เพื่อให้ได้ข้อตกลงฉบับที่ลงนามกันอย่างเป็นทางการ –ซึ่งจะเป็นข้อตกลงที่มีราคาค่างวดน้อยเสียยิ่งกว่ากระดาษที่นำมาใช้ในการเขียนมันขึ้นมาเสียอีก

อันที่จริง ผลลัพธ์เช่นนี้เป็นบทสรุปซึ่งทราบกันล่วงหน้าอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2013 ตอนที่สหรัฐฯตกลงเห็นชอบกับ “แผนปฏิบัติการร่วม” (“Joint Plan of Action”) ว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว สหรัฐฯก็ได้ตัดสินใจที่จะเลิกยืนกรานผลักดันให้อิหร่านต้องยินยอมเพิกถอนถอยหลังโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งมีการล่วงละเมิดมติจำนวนมากของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อกำหนดเรียกร้องว่าอิหร่านจะต้องไม่มีการเพิ่มสมรรถนะวัสดุนิวเคลียร์ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้นวอชิงตันยังไม่ได้คำนึงถึงความวิตกกังวลด้านความมั่นคงของบรรดาชาติพันธมิตรของตนในตะวันออกกลาง (โดยที่สำคัญที่สุด ได้แก่ อิสราเอล, ซาอุดีอาระเบีย, และอียิปต์ –ซึ่งเป็นชาติที่เข้าอกเข้าใจสภาพความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ได้ดีกว่าชาติอื่นๆ) ...

โอบามาพูดเอาไว้ถูกต้องแล้ว หากไม่เอาข้อตกลงนี้ ทางเลือกอื่นที่มีอยู่ย่อมได้แก่ การต้องยอมรับว่าเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านได้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเข้าทิ้งระเบิดถล่มโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน ด้วยความที่โอบามาเป็นผู้ชื่นชอบโปรดปรานวิธีแก้ปัญหาด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กัน บวกกับการที่เขาลังเลใจที่จะใช้กำลัง รวมทั้งการที่เขามีทัศนะมุมมองต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแบบเสรีนิยม (ซึ่งทำให้มีสายตามองการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ด้วยสีสันสดสวยเพิ่มขึ้นกว่าปกติ) เหล่านี้เองได้นำไปสู่ผลลัพธ์อันน่าสังเวชเช่นนี้

(เบนจามิน) เนทันยาฮู (นายกรัฐมนตรีอิสราเอล) นั้นผิดแล้ว ที่ออกมาเรียกร้องต้องการได้ข้อตกลงฉบับที่ดีขึ้นกว่านี้ เพราะ “ข้อตกลงที่ดีกว่า” ดังกล่าวนั้นไม่ได้มีอยู่จริง ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้จริง กระนั้นก็ตามที การที่โอบามาปฏิเสธไม่ยอมส่งข้อตกลงนี้ให้รัฐสภาสหรัฐฯพิจารณารับรองให้สัตยาบัน (ในตอนแรก โอบามามีท่าทีเช่นนี้ โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงนี้มิได้เป็นสนธิสัญญา จึงย่อมเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ตอนต้นสัปดาห์นี้ โอบามาได้เปลี่ยนใจ โดยบอกว่าจะยินยอมลงนามรับรองร่างกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งเกิดจากการประนีประนอมของสมาชิกรัฐสภาพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ร่างกฎหมายใหม่นี้ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์แห่งวุฒิสภาด้วยเสียงเอกฉันท์ในวันอังคารที่ 14 เมษายน จะให้อำนาจรัฐสภาในการลงมติเห็นชอบร่างข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านฉบับสมบูรณ์ ทว่าหากรัฐสภามีมติไม่รับรอง โอบามาก็ยังคงมีอำนาจวีโต้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bbc.com/news/uk-england-32311789 –ผู้แปล) ก็เป็นการสร้างสภาวการณ์ระหว่างประเทศอันดียิ่งขึ้นสำหรับการที่อิสราเอลจะหันมาใช้วิธีเข้าถล่มโจมตีทางการทหาร ในทางเป็นจริงแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงที่โอบามาทำกับอิหร่าน มีแต่จะกลายเป็นการปฏิบัติภาระหน้าที่อันสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เท่านั้น ภาระหน้าที่ดังกล่าวได้แก่ การสร้างความชอบธรรมความสมเหตุสมผลให้แก่การปฏิบัติการทางทหารในอนาคต จริงทีเดียว เนทันยาฮูเป็นผู้นำเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งมีความห่วงกังวลอย่างจริงจังต่อผลสืบเนื่องของข้อตกลงฉบับเลวร้าย ขณะเดียวกันเขาก็มีทั้งกึ๋นและทั้งสมรรถนะทางทหารที่จะสั่งการให้เปิดการถล่มโจมตีสถานที่ทางนิวเคลียร์สำคัญๆ ของอิหร่าน

ถ้าหากมาตรการประเภทการตรวจสอบ, การลงโทษคว่ำบาตร, การก่อวินาศกรรม, และการโดดเดี่ยวทางการเมือง ได้เคยมีช่องทางความเป็นไปได้ ที่จะสามารถหยุดยั้งอิหร่านมิให้มีระเบิดนิวเคลียร์มาไว้ในครอบครองแล้ว ช่องทางความเป็นไปได้ดังกล่าวก็ได้หลุดลอยไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน ก็มีหลักฐานยืนยันมากขึ้นทุกทีว่า มีเพียงการปฏิบัติการทางทหารเท่านั้นจึงจะสามาระหยุดยั้งรัฐที่มีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว เฉกเช่นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ให้ยอมยุติการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้ ทั้งนี้ เรายังคงต้องเฝ้าติตตามกันต่อไปว่า อิสราเอลได้เลือกผู้นำ (ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถล่มทลาย –ผู้แปล) ที่สามารถกระทำการดังที่ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้เรียกร้องต้องการหรือไม่


ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากซึ่งได้แสดงทัศนะความคิดเห็นทำนองเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็น นอร์แมน พ็อดโฮเรตซ์ (Norman Podhoretz) อดีตบรรณาธิการของนิตยสารคอมเมนแทรี แมกกาซีน (Commentary Magazine) (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.commentarymagazine.com/2015/04/07/obamas-right/), จอห์น โบลตัน (John Bolton) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/2015/03/26/opinion/to-stop-irans-bomb-bomb-iran.html?_r=2), ตลอดจนผู้เขียน (เดวิด พี. โกลด์แมน) เอง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://atimes.com/2015/04/haaretz-denounces-my-book-how-civilizations-die-without-mentioning-my-core-argument/)

ทำไมผู้คัดค้านข้อตกลงกับอิหร่านจำนวนมากเช่นนี้ (รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ด้วย) ต่างรู้สึกว่าต้องเผชิญกับขีดจำกัด ต้องคอยบันยะบันยัง ในเวลาทำการโต้แย้งว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้ข้อตกลงกับอิหร่านฉบับซึ่งดีกว่านี้ ? คำตอบง่ายๆ ก็คือ สาธารณชนคนอเมริกันไม่มีความไว้วางใจพวกผู้นำของตนที่จะพาประเทศเข้าสู่สงคราม ภายหลังจากประสบความล้มเหลวในความพยายามทั้งที่อิรักและอัฟกานิสถานแล้ว มันไม่สำคัญหรอกว่าการตัดแขนตัดขาศักยภาพทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นเป็นเรื่องของการใช้กำลังทางอากาศเข้าโจมตี ไม่ใช่เป็นการรุกรานบุกตะลุย นั่นคือ เป็นงานที่ใช้เวลาครึ่งคืนเท่านั้น อย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรี เอฮุด บารัค (Ehud Barak) ของอิสราเอลเคยกล่าวเอาไว้ สาธารณชนอเมริกันเมื่อต้องเจ็บมา 2 ครั้งก็รู้สึกเข็ดหลาบไม่รู้หาย นี่เองทำให้โอบามาอยู่ในฐานะได้เปรียบในทางการเมือง อย่างที่ มารี ฮาร์ฟ (Marie Harf) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน แถลงตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงของ คิสซิงเจอร์-ชุลซ์ ในเรื่องข้อตกลงอิหร่าน โดยเธอบอกว่า “ดิฉันยังไม่ได้ยินอะไรนักในเรื่องทางเลือกอื่นๆ ดิฉันได้ยินมาเยอะแยะ ประเภทคำพูดโตๆ และความคิดโตๆ ในเรื่องนี้ และแน่นอนทีเดียวว่าคำพูดและความคิดอย่างนั้นย่อมมีทีทางอันเหมาะควรของมัน แต่ดิฉันยังไม่ค่อยได้ยินอะไรเลยในเรื่องที่ว่า พวกเขาจะทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากนี้” ทั้งนี้ ท่าทีของฮาร์ฟก็เหมือนกับการตะโกนท้าทายอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสอง ให้พูดออกมาตรงๆ ถึงสิ่งซึ่งพวกเขาคิดอยู่อย่างไม่ต้องสงสัยแต่ลังเลที่จะเอ่ยปาก นั่นคือ ทางเลือกอื่นที่สามารถนำมาใช้นั้น ได้แก่ การทำสงคราม

อเมริกาอาจจะอยู่ในจุดยืนอย่างเดียวกับพวกชาติสัมพันธมิตรในยุคปลายทศวรรษ 1930 เมื่อความทรงจำเกี่ยวกับความทุกข์ยากเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลชาติต่างๆ จะเรียกระดมพลเพื่อทำสงครามต่อต้านฮิตเลอร์ จวบกระทั่งเวลาได้ล่วงเลยไปจนเกือบจะสายเกินการณ์แล้ว

เดวิด พี. โกลด์แมน เขียนเรื่องให้เอเชียไทมส์โดยใช้นามปากกาว่า “สเปงเกลอร์” (Spengle) มาตั้งแต่ปี 2000 เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ London Center for Policy Research และเป็น Wax Family Fellow อยู่ที่ Middle East Forum  หนังสือเรื่อง How Civilizations Die (and why Islam is Dying, Too) ของเขา ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Regnery Press ในเดือนกันยายน 2011 หนังสือรวมข้อเขียนทางด้านวัฒนธรรม, ศาสนา, และเศรษฐศาสตร์ของเขา ที่ใช้ชื่อว่า It’s Not the End of the World – It’s Just the End of You  ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Van Praag Press ในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน  เขายังเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ทั่วโลก ให้กับ Bank of America และเคยดำรงตำแหน่งอาวุโสในบริษัทการเงินอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งที่ Reorient Group (Hong Kong) ซึ่งเขาเป็นกรรมการจัดการผู้หนึ่งอยู่ในปัจจุบัน

(เอ็ม เค ภัทรกุมาร ได้แสดงความคิดเห็นตอบโต้ข้อเขียนชิ้นนี้อย่างเผ็ดร้อน ดูรายละเอียดได้ที่เรื่อง "ยังไงก็ดีกว่า'อิหร่าน'ที่มี'นุก' อยู่เคียงคู่'อิสราเอล'ที่มีอาวุธนิวเคลียร์" โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000044251)
กำลังโหลดความคิดเห็น