จริงอยู่ที่เคยมีหลายต่อหลายท่านกล่าวเอาไว้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยเฉพาะภัยที่เกิดจากแผ่นดินไหวนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน และไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า แต่ถึงกระนั้นข่าวการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่ถอดด้ามล่าสุดที่ประเทศเนปาล ซึ่งสามารถวัดความรุนแรงได้ถึงระดับ 7.3 ตามมาตราแมกนิจูด ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดและช็อกความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วโลกอย่างยิ่งยวด และไม่แปลกหากดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้จะถูกมองไม่ต่างจากการต้องเผชิญกับ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด”
การเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงถึงระดับ 7.3 ถล่มเนปาลซ้ำสองในวันอังคาร (12 พ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งติดตามมาด้วยการเกิดแรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหวหรือ “อาฟเตอร์ช็อก” ที่มีความรุนแรงตามมาอีกหลายระลอก ยังไม่นับรวมถึงการเกิดดินถล่มในหลายพื้นที่ ถือเป็น “ข่าวร้าย” ที่เข้ามาซ้ำเติมหัวจิตหัวใจอันบอบช้ำของชาวเนปาลให้ยิ่งต้องยิ่งช้ำชอกระทมทุกข์มากยิ่งขึ้นไปอีก
ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 3 สัปดาห์ชาวเนปาลเพิ่งเผชิญบาดแผลจากเหตุธรณีพิโรธระดับ 7.8 ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน และถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 81 ปีที่ส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 8,150 คน
รายงานข่าวระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งใหม่ซึ่งวัดแรงสั่นสะเทือนได้ที่ระดับ 7.3 ตามมาตราแมกนิจูดนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 12.35 น.วันอังคาร (12) ตามเวลาท้องถิ่นของเนปาล ตรงกับเวลาประมาณ 13.50 น.ตามเวลาในไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนัมเช บาซาร์ ไม่ไกลจากเทือกเขาเอเวอเรสต์ซึ่งสูงที่สุดในโลก รวมถึงพรมแดนทิเบต และอยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุไปราว 76 กิโลเมตร ในระดับความลึกลงไปใต้ดินราว 18.5 กิโลเมตร ตามการรายงานของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ (ยูเอสจีเอส)
ท้องที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงอย่างกรุงกาฐมาณฑุ ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความเกรี้ยวกราดของแผ่นดินไหวครั้งใหม่นี้รุนแรงที่สุด อีกทั้งสร้างความหวาดผวาให้แก่ประเทศที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ ที่ยังไม่ทันฟื้นตัวจากแผ่นดินไหวใหญ่คราวก่อนหน้าที่ทำให้หมู่บ้านหลายแห่งพังราบในชั่วพริบตา เช่นเดียวกับผู้คนอีกเรือนแสนในเนปาล ที่มีอันต้องกลายสภาพเป็น “คนไร้บ้าน” เพียงชั่วข้ามคืน
จนถึงตอนนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหม่ในเนปาลอยู่ที่อย่างน้อย 83 ราย แต่ตัวเลขเหยื่อยังมีแนวโน้มพุ่งไม่หยุด ขณะที่ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บได้ขยับทะลุ 2,000 คนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ท่ามกลางรายงานข่าวที่ระบุว่าภัยพิบัติธรณีพิโรธครั้งใหม่ในเนปาลนี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือน ซึ่งสามารถรับรู้ได้ไกลถึงอีก 4 ประเทศ คือ อินเดีย บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน รวมถึงเขตปกครองทิเบตของสาธารณรัฐประชาชนจีน
บรรดาทีมกู้ภัยต่างใช้ความพยายามอย่างเร่งรีบเมื่อวันพุธ (13 พ.ค.) เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งใหม่ในเนปาลที่ทำให้เกิดดินถล่มรุนแรงในหลายบริเวณ รวมทั้งส่งผลให้อาคารขนาดใหญ่ๆ พังทลายลงมา
แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเมื่อนำไปรวมยอดกับเหยื่อจากแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งก่อนแล้วมีจำนวนมากกว่า 8,200 ราย ขณะที่ทั่วทั้งเนปาลยังคงต้องการที่พักพิง อาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค และสิ่งของบรรเทาทุกข์อื่นๆที่จำเป็น
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกคำแถลงที่มีเนื้อหาระบุว่า หน่วยงานของตนกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายอันมโหฬาร” ในการนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปให้ถึงมือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกและเข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้าหรือใช้เฮลิคอปเตอร์เท่านั้น นอกจากนั้น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้ยังต้องเร่งดำเนินการแข่งกับเวลา คือจะต้องลุล่วงก่อนที่ “ฤดูมรสุม” ในเนปาลจะมาเยี่ยมเยือน
เจมี แม็กโกลดริค ผู้ประสานงานของยูเอ็นประจำเนปาลระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งใหม่ ส่งผลทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่เลวร้ายอยู่แล้วในเนปาลยิ่งทรุดหนักลงไปอีก พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติเร่งให้การสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในการจัดหาความช่วยเหลือจำเป็นเร่งด่วน
ดังนั้น คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดในเนปาลไม่ต่างจากการถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามช่วยเหลือกันต่อไปอย่างขนานใหญ่ด้วยความเอาใจใส่ ถึงแม้จะมีนักวิชาการอย่างเช่น คาร์เมน โซลานา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธในอังกฤษ ที่ออกมาให้คำอธิบายในทำนองที่ว่า แผ่นดินไหวระดับ 7.3 เมื่อวันอังคารที่เนปาล เป็นเพียงแค่ “ปฏิกิริยาลูกโซ่” ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่เกิดตามมาหลังจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระดับ 7.8 เมื่อปลายเดือนเมษายนเท่านั้นเอง