เอเอฟพี - ทางการเนปาลระบุในวันพฤหัสบดี (7 พ.ค.) ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ขยับขึ้นไปใกล้ๆ 8,000 คน บ้านเรือนกว่า 500,000 หลังได้รับความเสียหาย ขณะที่องค์กรด้านเด็กของสหประชาชาติชี้ว่า มีเด็กเกือบๆ 1 ล้านคนซึ่งไม่มีโรงเรียนให้ไปเรียนหนังสือ ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็เตือนว่าเศรษฐกิจของเนปาลในระยะสั้นนี้จะชะลอตัวลง
ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งชาติ (NEOC) ของเนปาล แจ้งตัวเลขที่รวบรวมได้ล่าสุดว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7,760 คน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บมี 16,432 คน นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้เสียชีวิตอีกกว่า 100 คนในประเทศเพื่อนบ้านคืออินเดียและจีน
ผู้ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ที่สุดมีอาการกระดูกหัก หรือไม่ก็ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากอาคารบ้านเรือนที่มักสร้างขึ้นมาอย่างไม่มั่นคงแข็งแรง พังลงมาทับพวกเขา ในเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.8 เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ตลอดจนอาฟเตอร์ช็อกซึ่งเกิดตามมาต่อจากนั้น
คาชี ชาร์มา เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของศูนย์ NEOCบอกด้วยว่า ธรณีพิโรธซึ่งมีความรุนแรงที่สุดเท่าที่เนปาลเคยเผชิญมาในรอบกว่า 80 ปีครั้งนี้ ยังทำให้บ้านเรือนที่อยู่อาศัยพังพินาศไปอย่างสิ้นเชิง 288,798 หลัง ขณะที่อีก 254,112 หลังได้รับความเสียหายเป็นบางส่วน
ทางด้านองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) แถลงในวันเดียวกันว่า แผ่นดินไหวคราวนี้ทำให้เด็กๆ เกือบ 1 ล้านคนไร้สถานที่เรียนหนังสือ ทั้งนี้มีห้องเรียนเกือบๆ 24,000 ห้องได้รับความเสียหายหรือถูกทำลายไป
“เด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากแผ่นดินไหว จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อช่วยชีวิตให้อยู่รอดต่อไปอย่างเร่งด่วน เป็นต้นว่า น้ำสะอาด และที่พักอาศัย แต่เรื่องโรงเรียนก็ถือเป็นเรื่องฉุกเฉินอย่างหนึ่งเช่นกัน --แม้กระทั่งการตั้งโรงเรียนชั่วคราวขึ้นมา ก็สามารถที่จะแสดงบทบาทอย่างสำคัญยิ่งได้” ยูนิเซฟระบุในคำแถลง
มีการประมาณการกันเบื้องต้นจากหลายๆ สำนักระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบูรณะเพื่อให้เนปาล ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติยากจนที่สุดของเอเชีย กลับคืนสู่ภาวะปกตินั้น อาจจะต้องใช้เงินราวๆ 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของเนปาลถอยหลังกลับไปหลายๆ ปี หลังจากเพิ่งผงกศีรษะขึ้นได้บ้างภายหลังเผชิญสงครามกลางเมืองอยู่นานสิบกว่าปี
ไอเอ็มเอฟระบุเตือนในเอกสารซึ่งแจกจ่ายสื่อมวลชนระหว่างการแถลงข่าวที่สิงคโปร์วันพฤหัสบดีว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวคราวนี้ เศรษฐกิจของเนปาลจะ “ชะลอตัวลงในระยะสั้น การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและยอดการนำเข้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น จะสร้างความตึงเครียดให้แก่ฐานะด้านภายนอก” ของประเทศนี้
ก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหวคราวนี้ ไอเอ็มเอฟระบุในรายงาน “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (เวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุก) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในวันที่ 14 เม.ย. โดยทำนายว่า เศรษฐกิจของเนปาลจะเติบโตด้วยอัตรา 5.0% ทั้งในปีนี้และปีหน้า
ไอเอ็มเอฟยังไม่ได้มีการปรับปรุงตัวเลขการคาดการณ์ภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้ว โดยที่ ชางยอง รี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวเปิดตัวรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก ที่สิงคโปร์วันพฤหัสบดีว่า ทีมงานของไอเอ็มเอฟจะเดินทางไปกรุงกาฐมาณฑุสัปดาห์หน้าเพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุด และประสานงานกับผู้บริจาคช่วยเหลือรายอื่นๆ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ
สำหรับสภาพภายในเมืองหลวงเนปาล ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีรายงานว่า ในวันพฤหัสบดี (7) มีสัญญาณแสดงให้เห็นว่ากาฐมาณฑุกำลังค่อยๆ กลับมามีชีวีตอีกครั้ง โดยที่มีจำนวนร้านค้าและภัตตาคารร้านอาหารต่างๆ เปิดกิจการกันเพิ่มมากขึ้น และถนนสายต่างๆ ก็ค่อยๆ มีรถราออกมาแล่นกันอีกครั้ง
หลายๆ วันภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหว มีประชาชนหลายแสนคนพากันเดินทางออกไปจากกาฐมาณฑุ ทั้งเนื่องจากหวาดผวาอาฟเตอร์ช็อกที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องการที่จะกลับไปดูแลครอบครัวของพวกตนซึ่งพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดั้งเดิมตามเขตชนบทห่างออกไปจากเมืองหลวง