เอเอฟพี – ตำรวจมาเลเซียจับกุมนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและส.ส.ฝ่ายค้านร่วม 30 คนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมเดินขบวนประท้วงในกรุงกัวลาลัมเปอร์เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกเก็บภาษีสินค้าและบริการ 6% (จีเอสที)
ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมวันนี้( 2 พ.ค.) ได้แก่ อัมพิกา ศรีเนวาสัน นักสิทธิมนุษยชนชื่อดังของมาเลเซีย และอดีตประธานสภาทนายความ (Bar Council) ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบเลือกตั้งเพื่อความเป็นประชาธิปไตย
เอ็น. สุเรนทรัน ทนายความประจำตัวของ ศรีเนวาสัน ก็ถูกจับในข้อหาปลุกปั่นยุงยง และจัดการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาล
“เป็นเรื่องน่าตลกที่สุด... การจับกุมครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ของพวกตำรวจที่จะสร้างความหวาดกลัว เพื่อไม่ให้คนกล้าออกมาต่อต้านรัฐบาล” สุเรนทรัน ให้สัมภาษณ์
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ประณามการจับกุม อัมพิกา ศรีเนวาสัน ว่าเป็นเรื่อง “รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิง” พร้อมชี้ว่า “การแสดงความคิดเห็นและร่วมชุมนุมไม่ถือเป็นอาชญากรรม ตำรวจควรปล่อยเธอไปเดี๋ยวนี้โดยไม่มีเงื่อนไข”
บุคคลสำคัญรายอื่นๆ ที่ถูกจับกุม ได้แก่ หัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งมาเลเซีย และ ส.ส. อาวุโสคนหนึ่งจากพรรคฝ่ายค้านกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party)
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ราฟิซี รามลี เลขาธิการพรรคประชาธรรม (People’s Justice Party) ของนายอันวาร์ อิบรอฮิม ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกตำรวจจับในวันนี้ (2)
“การจับกุมนักเคลื่อนไหวและ ส.ส.ฝ่ายค้านนับเป็นสัญญาณเตือนให้มิตรประเทศของมาเลเซียได้ตระหนักว่า รัฐบาลซึ่งกุมอำนาจบริหารอยู่ในเมืองปุตราจายากำลังดึงมาเลเซียออกจากแนวทางประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาลที่เน้นการเคารพสิทธิพลเมือง” โรเบิร์ตสัน กล่าว
กิจกรรมเดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากลปีนี้มีชาวมาเลเซียออกมาร่วมแสดงพลังหลายพันคน แม้สภาพอากาศในเมืองหลวงจะร้อนจัด โดยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าและบริการ 6% (จีเอสที) ที่เพิ่งจะประกาศใช้หมาดๆ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา
รัฐบาลนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ได้ใช้กฎหมายห้ามปลุกระดม (Sedition Act) เป็นเครื่องมือจับกุมนักวิจารณ์หลายราย ทว่ายังไม่มีใครที่ถูกตัดสินจำคุกจริงๆ
รัฐสภามาเลเซียได้ผ่านกฎหมายห้ามปลุกระดม โดยเพิ่มระวางโทษจำคุกสูงสุดจาก 3 ปี เป็น 20 ปี รวมถึงประกาศใช้กฎหมายต่อต้านก่อการร้ายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐนำตัวบุคคลต้องสงสัยมาคุมขังก่อนโดยไม่ต้องแจ้งข้อหา ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นอีกหนึ่งความพยายามของกลุ่ม บาริซาน เนชันแนล (บีเอ็น) ที่ต้องการกดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มีปากเสียง หลังถูกพรรคฝ่ายค้านที่ชูนโยบายปฏิรูปช่วงชิงคะแนนนิยมไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ
องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ชี้ว่า นโยบายของ นาจิบ กำลังทำให้มาเลเซียกลายเป็น “หลุมดำ” แห่งสิทธิมนุษยชน